กรุงเทพฯ--27 เม.ย.--สถาบันครอบครัวรักลูก
การที่หนุ่มสาวในยุคนี้ หันมาให้ความสนใจที่จะทำงานเพื่อชุมชนบ้านเกิดนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เช่นเดียวกับทีมงานโครงการครอบครัวเข้มแข็ง ที่เป็นหนุ่มสาวที่ทุ่มกายทุ่มใจทำงานพัฒนาครอบครัวในชุมชนต่างๆ เพียงเพราะอยากเห็นชุมชนมีครอบครัวที่เข้มแข็ง อบอุ่น ดังนั้นทางสถาบันครอบครัวรักลูก จึงจัดเสวนาในหัวข้อ “คนหนุ่มสาวกับงานพัฒนาครอบครัวในชุมชน” โดย อาจารย์สุรินทร์ กิจนิตย์ชีว์ ปราชญ์ชาวบ้าน จ.อยุธยา
อ.สุรินทร์ กล่าวว่า การจะลงไปทำงานกับชุมชนนั้น โดยเฉพาะคนวัยหนุ่มสาวจะต้องเรียนรู้หลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องวัฒนธรรมของชุมชน ซึ่งวัฒนธรรมดังกล่าวเป็นความเชื่อของคนในชุมชนที่เชื่อสืบต่อกันมา การลงไปทำงานในชนบท จึงเป็นการทำงานบทมิติทางวัฒนธรรม และเข้าไปต่อยอดจากฐานวัฒนธรรมเดิมที่มีอยู่ในชุมชนนั้นๆ
คำว่า วัฒนธรรม มีหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต คติความเชื่อ ขนบธรรมเนียม พิธีกรรม ศิลปะดนตรี แต่สิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้ “วัฒนธรรม” ก็คือ วิถีชีวิตร่วมกันของคนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการกินการอยู่ ในด้านปัจจัย 4 การแต่งตัว คติความเชื่อ เช่น ความเชื่อในเรื่องของศาลพ่อปู่
นอกจากการเรียนรู้เรื่องวัฒนธรรมเพื่อให้เข้าใจวิถีชีวิตร่วมกันของคนในชุมชนแล้ว เราจะต้องเข้าใจด้วยว่าสถาบันครอบครัวในบริบทใหม่ สถานการณ์ใหม่ ต้องทำอย่างไรจึงจะอบอุ่น มีความผูกพัน ไม่มีความรุนแรง สำหรับการทำงานเรื่องครอบครัว เป็นการลงไปขจัดต้นเหตุแห่งพฤติกรรมก่อทุกข์ แต่ทุกวันนี้ที่มีการรณรงค์เรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นยาเสพติด การลดละสิ่งเสพติด เลิกดื่มสุรา เป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น
สาเหตุที่วิถีครอบครัวไทยในชนบทอ่อนแอลง เนื่องจากครอบครัวถูกกำหนด ถูกกระทำ จากปัจจัยภายนอก ได้แก่ สื่อ เศรษฐกิจ ทุนสภาพสังคมใหม่ๆ ให้เงินเข้าไปจัดการกับชุมชน ทำให้สถาบันในชุมชนเริ่มอ่อนแอ ครอบครัวก็อ่อนแอ ในอดีตครอบครัวไทยเป็นครอบครัวขยาย แต่ปัจจุบันก็กลายเป็นครอบครัวเดี่ยว ความเป็นปึกแผ่นมั่นคงคลายตัวลง รักษาความเป็นสถาบันได้น้อยลง ครอบครัวมีหนี้สิน ยากจน เกิดปัญหารอบด้านตามมา
ในขณะเดียวกัน ครอบครัวยังขาดความรู้ความเข้าใจในการจัดการปัญหาเชิงซ้อน เนื่องจากปัญหาครอบครัวที่เกิดขึ้น ส่วนมากจะเป็นปัญหาเชิงซ้อน เช่น ปัญหาเรื่องความยากจน สาเหตุไม่ได้เกิดจากเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่เกี่ยวเนื่องกับปัญหาทรัพยากร ปัญหาของสื่อที่เข้ามา ปัญหาวัยรุ่น ถ้ามัวแต่แสวงหาเงินก็ไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนได้ เพราะปัญหานี้เป็นปัญหาเชิงซ้อน
การทำงานในชุมชนเราจึงต้องทำหน้าที่เป็นคุณอำนวย จะไม่ใช่คุณอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นการจัดเวที หรือจัดกิจกรรมอะไรก็ตาม แม้กระทั่งการถอดองค์ความรู้จากงานวิจัย ไม่ใช่เราไปวิจัยเอง ต้องให้คุณอำนวยร่วมกับเครือข่ายครอบครัวเข้าไปวิจัยร่วมกันว่า ภายใต้บริบทใหม่ว่าทางออกที่จะแก้ปัญหาครอบครัวคืออะไร การทำงานวิจัยจะต้องช่วยให้ชุมชนรู้จักถอดองค์ความรู้ และเกิดเป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน
จากประสบการณ์ คุณลุงบอกว่า คนไทยไม่ได้จนเงินแต่จนใจจนปัญญา มองไม่เห็นช่องทางทำกิน เพราะปัจจุบันค่านิยมเปลี่ยนไป จึงทำให้การกระทำเปลี่ยนไปจากเดิม ความยากจนเรามักจะดูกันที่ตัวเงินอย่างเดียว ซึ่งอาจจะไม่จริงเสมอไป แต่เราจะต้องดูทรัพยากร ดูเรื่องภูมิปัญญาด้วย และจะต้องเป็นภูมิปัญญาที่สามารถจัดการการพึ่งตนเอง เป็นการหารากเหง้าของคนในชุมชนนั้นๆ
คำว่า ภูมิปัญญา คือ ปัญญาที่ติดอยู่กับผืนแผ่นดิน เช่น ภาคใต้มีภูมิปัญญาในการหาทรัพยากรในทะเล แต่ถ้าให้คนอยุธยาไปหาก็มีทางเป็นไปได้ ภูมิปัญญาเกิดจากทรัพยากรที่รองรับ ณ ตรงนั้น ซึ่งจะมีความแตกต่างกันทางภูมิประเทศ ภูมิปัญญาคือองค์ความรู้ที่เราสามารถนำปลามากินได้ เพื่อรองรับพื้นฐานทางปัจจัย 4 ภูมิปัญญาที่น่าสนใจที่เราต้องหารากเหง้าให้พบนั้น คือ การจัดการทรัพยากรสนองตอบความต้องการขั้นพื้นฐานของชีวิตครอบครัว ชุมชน ภูมิปัญญาเรื่องการกินการอยู่ร่วมกัน เช่น เมื่อถึงหน้าหนาว ลมหนาวเริ่มมา แม่บ้านจะแกงส้มดอกแคให้คนในครอบครัวกิน เพื่อแก้ไข้หัวลม
ภายใต้สถานการณ์คน 3 รุ่น สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ เช่น กรณีที่พ่อจะตีลูก หาว่าหนีเรียน ปู่กับย่าเข้ามาเห็นก็ห้ามไว้ แล้วใช้ความรักถามหลานว่า ลูกไปไหนมา ทำไมจึงไม่ไปเรียน แล้วโอบกอด ทำให้หลานยอมบอกเหตุผล เป็นการใช้มิติแห่งความรักในการแก้ไขปัญหา แต่ภายใต้สถานการณ์คน 2 รุ่น ในครอบครัวเดี่ยว แม่ศรีเรือนจะทำอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้จะต้องสร้างองค์ความรู้ขึ้นมาให้ได้ ในเมื่อแม่ศรีเรือนขณะนี้ไม่สามารถอยู่บ้านได้ตลอดเวลา เราจะทำอย่างไรภายใต้บริบทที่เปลี่ยนแปลงไป
ภูมิปัญญาเรื่องการอยู่ร่วมกัน ทุกภาคจะมีการละเล่นให้เด็กเล่นรวมกัน เช่นที่ อยุธยา เขาจะมีการเล่นหม้อข้าวหม้อแกงเล็ก ให้ไปหุงกันจริงๆ จะมีเด็กทั้งหญิง-ชาย เวลาเล่น เขาก็จะมีการแบ่งงานกัน ว่าใครจะเป็นคนปรุงอาหาร ใครจะหุงข้าว ใครจะไปหาเครื่องปรุง การตกลงกันแบบนี้ถือเป็นการเรียนรู้เรื่องการจัดการ มีมิติทางด้านสังคม เขาจะได้รับขัดเกลากันเอง เพื่อให้เด็กอยู่ร่วมกันในสังคมได้ ซึ่งถือว่าเป็นภูมิปัญญาอีกชิ้นหนึ่ง แล้วในบริบทใหม่จะทำอย่างไร นี้คืองานของคนหนุ่มสาวที่จะเข้าไปทำงานกับชุมชน
ระบบความสัมพันธ์ มี 2 แนว คือแนวตั้งกับแนวราบ แนวตั้งคืออำนาจ แนวราบก็คือความเสมอกัน ทำอย่างไรเราจะเปลี่ยนแนวตั้งที่เป็นอำนาจ ให้เป็นแนวราบ ซึ่งหมายถึง ความมีศักดิ์ศรีที่เสมอกันในความเป็นมนุษย์ ที่ควรจะได้รับการเคารพ การอบรมเลี้ยงดูเด็กๆ ของพ่อและแม่ก็เป็นเรื่องสำคัญ สถาบันครอบครัวจะเป็นเบ้าหลอมให้กับเด็กและเยาวชน
ครอบครัวเข้มแข็งหรือไม่นั้น สังเกตได้ตอนเวลาที่เกิดปัญหาแล้วเขาจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นอย่างไร ซึ่งเกิดขึ้นจากการตระหนักรู้ และการให้ความสำคัญ ครอบครัวจะต้องตื่นตระหนักคือตื่นจากการหลับไหล จากการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพจึงจะสามารถสร้างองค์ความรู้ได้ว่า ในสถานการณ์ใหม่ บริบทใหม่ จะจัดการกับสถานการณ์นั้นอย่างไรในทุกเรื่องที่เป็นองค์ประกอบของครอบครัว เช่น เวลาพ่อบ้านไม่อยู่ จะยึดหลักไว้ได้อย่างไรเวลาแม่บ้านอาละวาดในครัวเรือนพ่อบ้านมีวิธีการลดความรุนแรงลงมาได้อย่างไร ลูกไม่เอาไหนจะทำอย่างไร
ครอบครัวจะต้องมี ปรโตโฆษะ และกัลยาณมิตร ปรโตโฆษะ หมายถึง การได้รู้ ได้เห็น ได้ยิน ได้สัมผัสจากปัจจัยข้างนอก เช่น จากคำโฆษณาชวนเชื่อ สื่อประชาสัมพันธ์ เกิดเป็นอารมณ์ต่างๆ เช่น หลงใหล โมโห หลงเชื่อ บางคนคิดผิดวิธี ถ้าคิดถูกวิธีจะต้องรู้ว่าสิ่งที่เราได้เห็น ได้ยิน ได้รู้มา เราจะรับหรือไม่รับ เลือกหรือไม่เลือก โดยใช้การตัดสินใจจากข้อมูลความรู้ ครอบครัวไทยส่วนใหญ่มักจะตัดสินใจโดยใช้ฐานอารมณ์ความรู้สึก หรือตามกระแส แต่ทำอย่างไรจึงจะให้คนไทยตัดสินใจ โดยใช้ข้อมูลความจริง หรือความรู้ที่ผ่านการวิเคราะห์เจาะลึก
การที่จะทำให้ครอบครัวรู้จักการวิเคราะห์ และรู้จักประเมินคุณค่า นั้น จะต้องเริ่มที่ตัวเราก่อน จึงจะสามารถไปถ่ายทอดให้กับบุคคลอื่นที่ ดังนั้น คำว่า ปรโตโฆษะ โดยสรุปคือ การรับรู้สิ่งที่อยู่ภายนอก ผ่านกระบวนการตัดสินใจ เกิดสัมมาทัศนะต่อสิ่งที่รู้ที่เห็นมา และรู้จักเลือกว่าอะไรเหมาะสมหรือไม่ แล้วสามารถนำไปใช้ในการแก้ปัญหาชีวิต ส่วนกัลยาณมิตรคือความปรารถนาดี โดยใช้ท่าทีที่เป็นมิตร
ดังนั้น หนุ่มสาวที่ลงไปทำงานจะต้องมีทัศนคติที่ดีต่อชุมชน ต่อคนในชุมชน และมีความเป็นกลางทางด้านมุมมอง ไม่หลงใหลไปกับภาพลวงตา เพราะชนบทไม่ได้ดีทั้งหมด และก็ไม่ได้เลวร้ายทั้งหมด เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้และปรับตัวได้ สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับชุมชน สื่อสารกับชาวบ้านเข้าใจ ใช้ภาษาชาวบ้าน อย่าใช้ภาษาเชิงวิเคราะห์ รู้จักการตั้งคำถามในเชิงสร้างสรรค์ จับประเด็นเป็น และรู้จักการจดบันทึก ทำตัวให้เป็นที่ศรัทธาของชุมชน ให้ชาวบ้านจัดการความรู้ในเรื่องที่เขาจะแก้ไข
การเรียนรู้ของชุมชนไม่ได้หมายถึงการได้องค์ความรู้เพียงอย่างเดียว แต่จะต้องเปลี่ยนวิธีคิดของคนในชุมชนนั้นๆ ได้ ชาวบ้านเกิดมุมมองใหม่ที่มีต่อโลก ต่อชีวิต และต่อสังคม เดิมเคยให้ความสำคัญกับตัวเงิน ก็เปลี่ยนเป็นการให้ความสำคัญกับความสุข ความสมบูรณ์ต่อชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากเพราะเป็นเรื่องที่ต้องใช้ศิลปะ เราทำงานไม่ได้ทำเพียงเพื่อความสำเร็จเท่านั้น แต่เราทำงานเพื่อการเรียนรู้ แสวงหาประสบการณ์ชีวิต ว่าภายใต้บริบทของสถานการณ์ใหม่ มีคำตอบในเรื่องนี้บ้างหรือไม่ และนี่คือบทบาทของนักพัฒนาครอบครัวในชนบท
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
ประชาสัมพันธ์ โครงการครอบครัวเข้มแข็ง
โสภิดา ธนสุนทรกูร(แบม)
โทรศัพท์ 0 2913 7555 ต่อ 4640 โทรสาร 0 2831 8499
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net--จบ--
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit