กรุงเทพฯ--24 มี.ค.--สนพ.
ก.พลังงาน เผยฟาร์มหมูติดตั้งระบบก๊าซชีวภาพ เฟส 3 ไปแล้ว 100,700 ลูกบาศก์เมตร ระบุประหยัดค่าก๊าซหุงต้มกว่า 7 แสนบาท/วัน ประหยัดค่าไฟฟ้ากว่า 3 แสนบาท/วัน และสร้างรายได้จากการผลิตปุ๋ยอินทรีย์กว่า 7 หมื่นบาท/วัน แถมลดปัญหามลพิษทางน้ำ และกลิ่นเหม็นในชุมชน
นายเมตตา บันเทิงสุข ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการ “ส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ขนาดกลางและขนาดใหญ่ ระยะที่ 3” ว่า ตามที่ กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้สนับสนุนให้สถานเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ดำเนินโครงการจัดสร้างระบบก๊าซชีวภาพขนาดกลางและขนาดใหญ่ ระยะที่ 3 โดยกำหนดระยะเวลาการดำเนินงานระหว่างปี 2545-2552 ขณะนี้มีฟาร์มเลี้ยงสัตว์ขนาดกลางและขนาดใหญ่ เข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 32 ฟาร์ม และ 21 ฟาร์ม ตามลำดับ โดยติดตั้งระบบก๊าซชีวภาพแล้วรวม 100,700 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งรองรับของเสียจากสุกรได้รวม 805,600 ตัวโดยสามารถนำก๊าซชีวภาพมาใช้เป็นพลังงานทดแทนได้เทียบเท่าก๊าซหุงต้ม มูลค่า 736,000 บาท/วัน* และทดแทนไฟฟ้า มูลค่า 326,268 บาท/วัน* ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ มูลค่า 72,750 บาท/วัน* นอกจากนี้ ยังสามารถนำเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพมาจัดการน้ำเสียในฟาร์มได้ด้วย ส่งผลให้ลดปัญหามลพิษทางน้ำ ลดปัญหากลิ่นเหม็นและแมลง รวมไปถึงลดการปล่อยก๊าซมีเทนสู่บรรยากาศ ซึ่งทำให้ช่วยลดภาวะเรือนกระจกที่เป็นต้นเหตุให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นด้วย
ดังนั้น การส่งเสริมให้สร้างระบบก๊าซชีวภาพในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ มาผลิตเป็นพลังงานทดแทน อาทิ เป็นเชื้อเพลิงแทนก๊าซหุงต้ม และไฟฟ้า เพื่อใช้สำหรับหม้อต้มไอน้ำ เครื่องอบแห้งในโรงงาน ผลิตอาหารสัตว์ ใช้กกลูกสุกร ใช้ในครัวเรือนภายในฟาร์ม นอกจากนี้ประยุกต์ใช้กับเครื่องยนต์ เช่น เครื่องสูบน้ำ พัดลมโรงเรือน จึงได้ประโยชน์ทั้งด้านลดภาระการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ โดยเฉพาะน้ำมันซึ่งมีราคาแพงขึ้น และลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ที่ผ่านมากองทุนฯได้สนับสนุนการก่อสร้างระบบก๊าซชีวภาพระยะที่ 1-2 ไปแล้ว 20 ฟาร์ม โดยสามารถติดตั้งระบบก๊าซชีวภาพรวม 56,000 ลูกบาศก์เมตร รองรับของเสียจากสุกรได้ 420,000 ตัว ซึ่งถือเป็นการสาธิตและสร้างความเชื่อมั่นในเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพแก่เจ้าของฟาร์มอื่นๆ ได้เห็นความจำเป็นและประโยชน์จากการติดตั้งระบบก๊าซชีวภาพด้านนายอนุสรณ์ อินทรังษี ผู้อำนวยการสถานเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กล่าวว่า สำหรับเทคโนโลยีที่ใช้กับระบบบำบัดน้ำเสียและผลิตก๊าซชีวภาพสำหรับฟาร์ม ขนาดกลาง เป็นเทคโนโลยีบ่อหมักแบบราง หรือ Channel Digester (CD) ใช้ร่วมกับบ่อหมักแบบ Upflow Anaerobic Sludge Blanket (UASB) โดยได้ปรับปรุงพัฒนาและออกแบบระบบ ให้เหมาะสมกับฟาร์มขนาดกลางยิ่งขึ้น ส่วนฟาร์มขนาดใหญ่ใช้เทคโนโลยี High Suspersion Solid UASB (H-UASB) ทั้งนี้ เทคโนโลยีทั้ง 2 แบบ มีระบบบำบัดน้ำเสียอย่างสมบูรณ์ ทำให้ลดการปนเปื้อนของเชื้อโรคในน้ำใต้ดินและน้ำผิวดิน ดังนั้น จึงสามารถนำน้ำที่บำบัดแล้วมาหมุนเวียนใช้ประโยชน์ใหม่ได้อีก
ทั้งนี้ เพื่อให้มีการขยายระบบก๊าซชีวภาพคลอบคลุมฟาร์มทั่วประเทศ ตามเป้าหมายของการสนับสนุนการก่อสร้างระบบเพื่อรองรับน้ำเสียจากสุกรประมาณ 4 ล้านตัว หรือประมาณ 75% ของปริมาณสุกรในประเทศไทย จึงเป็นโอกาสดีสำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์ขนาดกลางและขนาดใหญ่ ที่ยัง ไม่ได้ติดตั้งระบบ ก๊าซชีวภาพจะเข้าร่วมโครงการฯ โดยสามารถติดต่อขอคำปรึกษาด้านเทคโนโลยี และการสนับสนุนงบประมาณได้ที่สถานเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพ มหาวิทยาลัยใหม่ โทร 0 5394 8195-8 ตู้ ปณ 289 ปณฝ. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เชียงใหม่ 50202 หรือหาข้อมูลได้ที่ www.biogastech-cmu.com
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit