กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานให้ทุน 166 ล้านบาท รุกติดตั้งระบบก๊าซชีวภาพในโรงงานแป้งมัน 12 แห่ง

19 Dec 2003

กรุงเทพฯ--19 ธ.ค.--สนพ.

กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สนับสนุนทุน 166 ล้านบาท แก่ 4 หน่วยงาน ติดตั้งระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียในโรงงานแป้งมันสำปะหลังนำร่อง 12 แห่ง เพื่อเป็นพลังงานทดแทนเชื้อเพลิงในโรงงาน

นายชวลิต พิชาลัย ผู้อำนวยการสำนักวิเคราะห์แผนพลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังรวม 65 แห่งทั่วประเทศ แบ่งเป็นภาคเหนือ 4 แห่ง ภาคกลาง 6 แห่ง ภาคตะวันออก 15 แห่ง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 40 แห่ง รวมกำลังการผลิตมากกว่า 2 ล้านตันต่อปี ซึ่งการผลิตแป้งมันสำปะหลังแต่ละครั้ง จะมีการปล่อยน้ำทิ้งที่มีความเข้มข้นของสารอินทรีย์สูง รวมประมาณ 25 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งน้ำเสียเหล่านี้หากถูกระบายลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงได้ อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาพบว่าสารอินทรีย์ในน้ำเสีย เมื่อนำไปบำบัดโดยระบบชีวภาพ จะมีผลพลอยได้เป็นก๊าซชีวภาพ ที่นำมาใช้เป็นพลังงานทดแทนได้

กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จึงได้สนับสนุนให้ 4 หน่วยงาน ได้แก่ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กรมโรงงานอุตสาหกรรม มูลนิธิสถาบันก๊าซชีวภาพ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ทำการติดตั้งระบบผลิตก๊าซชีวภาพในโรงงานแป้งมันสำปะหลังจำนวน 12 แห่ง เพื่อเป็นโรงงานนำร่องในการนำน้ำเสียที่เกิดในกระบวนการผลิตแป้งมันสำปะหลังผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ ใช้เป็นพลังงานทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิงในโรงงาน ในวงเงิน 166 ล้านบาท หรือ 30% ของเงินลงทุนก่อสร้างระบบก๊าซชีวภาพในโรงงานทั้ง 12 แห่ง จำนวน 558 ล้านบาท

โดย พพ. รับผิดชอบโรงงาน 4 แห่งได้แก่ บจก.เยเนรัล สตาร์ช จ.นครราชสีมา บจก.ไทยเปเปอร์มิลล์ จ.ระยอง บจก.เจ้าคุณเกษตรพืชผล จ.สระบุรี และ บจก.สีมาอินเตอร์โปรดักส์ จ.นครราชสีมา โดยใช้เทคโนโลยี UASB ด้านกรมโรงงานอุตสาหกรรม รับผิดชอบ โรงงาน 3 แห่งได้แก่ บจก.อุตสาหกรรมแป้งมันบ้านโป่ง จ.ราชบุรี บจก.พีบีอาร์ สตาร์ช จ.ปราจีนบุรี และ บจก.แป้งมันแสงเพชร จ.ชัยภูมิ โดยใช้เทคโนโลยี UASB มูลนิธิสถาบันก๊าซชีวภาพ รับผิดชอบ โรงงาน 2 แห่งได้แก่ บจก. พี.เอส.ซี สตาร์ช โปรดักส์ จ.สมุทรปราการ หจก.สหมิตรแป้งมันชลบุรี จ.ชลบุรี โดยใช้เทคโนโลยี H-UASB และ มจธ.รับผิดชอบ 3 โรงงาน ได้แก่ บจก.ชลเจริญ จ.ชลบุรี บจก.ชัยภูมิพืชผล จ.นครราชสีมา และบจก.แป้งตะวันออก (1987) จ.นครราชสีมา โดยใช้เทคโนโลยีการตรึงฟิล์มจุลินทรีย์

"โรงงานทั้ง 12 แห่งมีศักยภาพในการนำน้ำเสียมาผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อนำมาเป็นพลังงานทดแทนเป็นอย่างดี โดยจะสามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้รวมกันไม่ต่ำกว่าปีละ 36 ล้าน ลบ.ม. สามารถนำไปทดแทนน้ำมันเตาได้ 22 ล้านลิตรต่อปี คิดเป็นมูลค่าถึง 174 ล้านบาท (ที่ราคาน้ำมันเตาลิตรละ 8 บาท) หรือหากนำไปผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าจะได้พลังงานไฟฟ้า 44 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี นอกจากนี้ ยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยการลดการปล่อยก๊าซมีเทนสู่ชั้นบรรยากาศได้ปีละประมาณ 9 ล้านกิโลกรัม ลดความสกปรกในน้ำเสียได้ปีละ 90 ล้านกิโลกรัม และลดการใช้น้ำจากแหล่งธรรมชาติจากการนำน้ำที่ผ่านการจัดการของระบบกลับมาใช้ใหม่ได้ประมาณ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร” ผ.อ.ชวลิตกล่าว--จบ--

-รก-