กรุงเทพฯ--8 ส.ค.--พีอาร์ แอนด์ แอสโซซิเอส
อายุรแพทย์โรคเบาหวาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันคนไทยร้อยละ 4 หรือประมาณสองล้านกว่าคนป่วยเป็นโรคเบาหวาน พร้อมเตือนผู้ป่วยโดยเฉพาะผู้ชายหากไม่ควบคุมโรคนี้ให้ดี อาจนำไปสู่อาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ และโรคแทรกซ้อนอันตรายอื่นๆ ได้
นพ. ชัยชาญ ดีโรจนวงศ์ อายุรแพทย์โรคเบาหวาน โรงพยาบาลราชวิถี และกรรมการของศูนย์ข้อมูลสุขภาพเพศชาย กล่าวว่า "ปัจจุบันคนไทยร้อยละ 4 หรือประมาณสองล้านสี่แสนคนป่วยเป็นโรคเบาหวาน โดยเพิ่มขึ้นจาก 10 ปีที่แล้วที่มีจำนวนอยู่ ร้อยละ 2.5 เพราะวิถีชีวิตของคนไทยเปลี่ยนแปลงไป มีการออกกำลังกายน้อยลง รับประทานอาหารที่มีไขมันและพลังงานมากขึ้น เป็นผลให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น"
เบาหวานเกิดจากการที่ผู้ป่วยมีปริมาณน้ำตาลในเลือดสูงเกินไป เนื่องจากตับอ่อนสร้างฮอร์โมนอินซูลินได้น้อยลง หรืออินซูลินที่สร้างออกฤทธิ์ได้น้อยลง ทั้งนี้ ฮอร์โมนอินซูลินมีหน้าที่นำน้ำตาลในเลือดไปใช้ เมื่อมีปริมาณน้อยลงหรืออกฤทธิ์ได้น้อยลง จึงส่งผลให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น
"ผู้ป่วยโรคเบาหวานระยะแรกๆ จะไม่แสดงอาการใดๆ ดังนั้น ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน คือ อ้วนมากๆ หรืออายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป หรืออายุไม่ถึง 40 ปีแต่มีญาติเป็นเบาหวานหลายคน ควรไปตรวจเช็คระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อจะได้ควบคุมและป้องกันก่อนที่จะก่อผลเสียให้กับร่างกาย"
ในคนปกติระดับน้ำตาลในเลือดจะไม่เกิน 110 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ส่วนคนเป็นเบาหวานจะมีระดับน้ำตาลในเลือดเกิน 126 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ สำหรับคนที่มีระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในระหว่างกลาง คือ 110-125 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์นั้น อาจเรียกว่าเป็นเบาหวานแฝงและมีแนวโน้มที่จะเป็นเบาหวานสูงมาก
การควบคุมรักษาเบาหวาน ทำได้โดยการควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วน ควบคุมอาหารไม่ให้มีน้ำตาลและไขมันมาก ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ หยุดสูบบุหรี่ และรับประทานยา ลดน้ำตาล หรือฉีดฮอร์โมนอินซูลินตามที่แพทย์สั่ง
นพ. ชัยชาญกล่าวว่า "หากไม่ควบคุมเบาหวานให้ดี อาจเกิดอาการแทรกซ้อนได้ โดยถ้าน้ำตาลในเลือดสูงมากๆ อาจเกิดอาการแทรกซ้อนชนิดเฉียบพลัน อาจหมดสติ ช็อก โคมา และบางคนถึงกับเสียชีวิตได้ แต่หากน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรังเป็นเวลานานโดยไม่มีการควบคุม จะส่งผลทำให้หลอดเลือดและเส้นประสาทในร่างกายเสีย ซึ่งอาจรวมไปถึงเส้นเลือดและเส้นประสาทที่อวัยวะเพศชาย ทำให้เป็นโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้ ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่ากว่าร้อยละ 50 ของผู้ชายไทยอายุ 50-70 ปีที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน มีอาการของโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศร่วมด้วย
"โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ คือการที่อวัยวะเพศไม่สามารถคงความแข็งตัวพอเพียงที่จะมีเพศสัมพันธ์อย่างพึงพอใจได้ ซึ่งถ้าหากควบคุมรักษาเบาหวานดีๆ ตั้งแต่เริ่มตรวจพบ เส้นเลือดและเส้นประสาทยังไม่มีปัญหามากนัก ก็จะไม่เป็นโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หรือหากมีอาการ ก็สามารถรักษาได้ง่ายๆ โดยการรับประทานยารักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ แต่ถ้าปล่อยไว้นานๆ โดยไม่มีการควบคุมแล้ว ก็จะรักษาได้ยากขึ้น โอกาสที่จะหายก็จะน้อยลง"
"นอกจากโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศแล้ว ยังมีโรคแทรกซ้อนอันตรายที่อาจมากับเบาหวานด้วยหากควบคุมไม่ดี เช่น โรคหัวใจ อัมพาตไตวาย และอาการแทรกซ้อนที่ตาทำให้ตาบอด เป็นต้น ดังนั้น ผู้ป่วยเบาหวานจึงควรทำตามคำแนะนำของแพทย์โดยเคร่งครัด ซึ่งส่วนมากผู้ป่วยมักจะชะล่าใจไม่ค่อยทำตามคำแนะนำของแพทย์" นพ. ชัยชาญกล่าวเตือน
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ :
คุณปองปรัชญ์ สุโรจนะเมธากุล
คุณกุนธิรา ณัฐวัฒนานนทน์
บริษัท พีอาร์ แอนด์ แอสโซซิเอส จำกัด
โทร. 0-2651-8989 ต่อ 330, 223
แฟกซ์ 0-2651-9649--จบ--
-รก-