กรุงเทพฯ--1 ก.ค.--พีอาร์ แอนด์ แอสโซซิเอส
พบคนไทยมีไขมันในเลือดสูงเพิ่มมากขึ้น แพทย์แนะตรวจเลือดทุก 6 เดือน โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวานมีโอกาสเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป เตือนอย่าละเลย เพราะไขมันในเลือดสูงเป็นเสมือนเพชฌฆาตเงียบ สะสมให้เกิดภาวะไขมันอุดตันในเส้นเลือด และเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดสูงถึง 3 เท่าเมื่อเทียบกับคนปกติ แต่ในคนปกติบางรายแม้ไม่แสดงอาการใดๆ เลยก็ยังเป็นโรคหัวใจขาดเลือดได้ โครงการ "รักหัวใจ ใส่ใจโคเลสเตอรอล" จัดกิจกรรรมรณรงค์ให้ประชาชนหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ให้บริการตรวจวัดระดับไขมันในเลือดแก่ประชาชนทั่วไป มีผู้สนใจร่วมงานกว่า 700 คน ในงานสัมมนาสมาชิก "หยุดยั้งโคเลสเตอรอล หัวใจไม่พัง"
นพ.บรรหาร กออนันตกูล ผู้อำนวยการกองอายุรกรรม โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช และประธานโครงการ "รักหัวใจ ใส่ใจโคเลสเตอรอล" กล่าวระหว่างงานสัมมนา "หยุดยั้งโคเลสเตอรอล หัวใจไม่พัง" ซึ่งจัดรายการให้โครงการ "รักหัวใจ ใส่ใจโคเลสเตอรอล" เพื่อร่วมรณรงค์และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเกี่ยวกับโคเลสเตอรอล และแนวทางการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องเพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ให้แก่สมาชิกและประชาชนทั่วไป ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมงานมากกว่า 700 คน ที่โรงพยาบาลราชวิถี เมื่อเร็วๆ นี้ว่า การควบคุมระดับไขมันในเลือด เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ โดยเฉพาะคนส่วนใหญ่จะไม่สนใจเนื่องจาก
1.) ไม่มีอาการสำแดง
2.) ต้องฝืนใจตัวเองในการปฏิบัติตนเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรม
3.) บางครั้งอาจจะต้องสิ้นเปลืองเวลาและอาจจะต้องมีค่าใช้จ่าย เป็นต้น ภาวะไขมันสูงในเลือดจะค่อยๆ สะสมจนทำให้หลอดเลือดแดงตีบ เป็นบ่อเกิดของโรคร้ายต่างๆ และเป็นสาเหตุที่สำคัญของการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดที่อาจถึงขั้นหัวใจวายและเสียชีวิตได้
จากการสำรวจระดับไขมันในเลือดในประชากรไทยระยะหลังนี้พบว่า คนไทยมีแนวโน้มค่าโคเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น โดยที่ค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับสูงปานกลางประมาณ 220-240 มก./ดล. ซึ่งนับว่ามีอันตรายต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด เพราะฉะนั้นสิ่งเดียวที่จะระงับภยันตรายอันนี้ได้ ก็ด้วยการป้องกันหรือลดสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะไขมันในเลือดสูงที่มาจากพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม ขาดการออกกำลังกายที่พอเหมาะ มีความเครียด ความดันโลหิตสูง หรือโรคเบาหวาน ที่ไม่ได้รักษา ซึ่งผู้ป่วยโรคเหล่านี้ต้องระมัดระวังเรื่องระดับไขมันในเลือดสูงเป็นพิเศษ เนื่องจากโรคเบาหวาน เป็นโรคที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ซึ่งเป็นผลจากการที่ร่างกายสร้างฮอร์โมน อินสุลินลดลง หรือร่างกายตอบสนองต่อฤทธิ์ของฮอร์โมนอินสุลินลดลง เพราะฮอร์โมนอินสุลิน นอกจากจะมีผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงแล้ว ยังมีผลต่อการเผาผลาญไขมันในร่างกายด้วย
นพ.ระพีพล กุญชร ณ อยุธยา อายุรแพทย์โรคหัวใจ และ กรรมการโครงการ "รักหัวใจ ใส่ใจโคเลสเตอรอล" กล่าวว่า เบาหวานกับไขมันในเลือดสูง ไม่จำเป็นต้องมีอาการแสดงออก โดยผู้ป่วยจะไม่ทราบว่าตัวเองเป็นถ้าไม่ได้รับการตรวจเลือด แต่อาการจะเริ่มแสดงออกก็ต่อเมื่อนำไปสู่โรคร้ายแรงแล้ว เช่น โรคหัวใจขาดเลือด ซึ่งอาการเริ่มแรกที่สังเกตได้คือ เจ็บแน่นหน้าอก อึดอัด ขณะออกกำลังกาย บางกรณีมีอาการปวดร้าวมาถึงแขน ไหล่ทั้งสองข้าง คอ และ กราม ซึ่งถ้าผู้ป่วยมีอาการเหล่านี้ให้สันนิษฐานเบื้องต้นว่า ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ผู้ป่วยควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้องต่อไป
ด้านคุณเตชะพิทย์ แสงสิงแก้ว รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นวิทยากรรับเชิญที่มาร่วมอภิปรายและเล่าประสบการณ์จริงให้ฟังว่า เริ่มมีอาการโรคหัวใจขาดเลือดตั้งแต่อายุ 30 ปี ซึ่งตนไม่เคยคิดว่าตัวเองจะป่วยเป็นโรคนี้ เนื่องจากจะเป็นคนที่ชอบออกกำลังกายและเล่นกีฬามาก (ติดอันดับนักกีฬาเทนนิสเยาวชนทีมชาติ) อย่างไรก็ตาม แพทย์อธิบายว่า ตนมีพฤติกรรมเสี่ยงอย่างอื่น คือ สูบบุหรี่ตั้งแต่อายุยังน้อยราว 15-16 ปี และสูบจัดมากขึ้นเรื่อยๆ ตกวันละ 1-2 ซอง อีกทั้งมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม ทำให้มีภาวะไขมันในเลือดสูง และต่อมามีเบาหวานร่วมด้วย
คุณเตชะพิทย์ เล่าว่า เริ่มมีอาการครั้งแรกขณะที่กำลังตีเทนนิส รู้สึกปวดไหล่ทั้งสองข้างมากและร้าวมาถึงคอ จนตีเทนนิสต่อไม่ได้ แพทย์จึงให้ทดสอบการทำงานของหัวใจโดยให้เดิน-วิ่งบนสายพาน (Exercise Stress Test) พบว่ามีอาการของหลอดเลือดหัวใจตีบ แพทย์แนะนำให้ฉีดสีเพื่อตรวจเช็คว่าหลอดเลือดตีบมากน้อยแค่ไหน แต่ตนไม่ทำตามเพราะกลัวการฉีดสี จึงใช้วิธีกินยาทุกขนานที่มีคนแนะนำ ทั้งยาจีน ยาไทย ยาฝรั่ง เพื่อบรรเทาอาการไปวันๆ และปล่อยเวลาให้ผ่านไปจากที่เริ่มแสดงอาการเมื่ออายุ 30 ปี จนถึงอายุ 53 ปี ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านไป 23 ปีนั้น อาการไม่ดีขึ้นแต่กลับรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จากที่ปวดแค่ไหล่หรือแขนเป็นระยะๆ เมื่อเวลาที่ออกกำลังกายและเวลาตื่นเต้นเท่านั้น กลายเป็น ระยะหลังมีอาการปวดบ่อยขึ้น ปวดขณะนั่งหรือนอนอยู่เฉยๆ และมีอาการเจ็บหน้าอก เหงื่อแตกร่วมด้วย จนถึงขั้นหัวใจล้มเหลวอย่างรุนแรง ต้องรับรักษาด้วยการผ่าตัดเลือดหัวใจ (บายพาส)
"ตอนที่ฉีดสีสบายดี เสียแรงที่กลัวมาตั้ง 20 กว่าปี กว่าจะรู้ก็เกือบสาย เพราะผมปล่อยให้อาการรุนแรง ซึ่งอันตรายมาก ทางที่ดีคือต้องเชื่อแพทย์ เพราะการฉีดสีเป็นวิธีเดียวที่จะรู้ว่าหลอดเลือดหัวใจนั้นตีบมากน้อยแค่ไหน เพื่อที่แพทย์จะได้วางแผนการรักษาได้ถูก" คุณเตชะพิทย์ กล่าวสรุป
ขณะที่ พลอากาศเอก ปราโมทย์ วีรุตมเสน วิทยากรรับเชิญอีกท่านหนึ่งที่มาเล่าประสบการณ์การป่วยด้วยโรคหัวใจขาดเลือด โดยเล่าว่าตนเองเป็นผู้ที่ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจขาดเลือดคือ ไม่ว่าจะเป็นด้านพันธุกรรม ความดันโลหิตสูง ระดับไขมันในเลือดสูง หรือความเครียดใดๆ แต่กลายเป็นผู้ที่ต้องประสบกับภาวะโรคหัวใจขาดเลือดอย่างรุนแรง และได้ผ่าตัดทำบายพาสรักษาโรคหัวใจขาดเลือดมาแล้ว 11 ปี สำหรับกรณีของตนเองซึ่งเป็นผู้ที่ชอบออกกำลังกาย เล่นกีฬา(ตีกอล์ฟ) และไม่มีปัจจัยเสี่ยง
"แม้ไม่มีปัจจัยเสี่ยง แต่พอเริ่มแสดงอาการ ความรุนแรงของโรคก็ถึงขั้นต้องผ่าตัดบายพาสแล้ว เพราะฉะนั้นควรให้แพทย์ตรวจเลือดบ้างเพื่อป้องกันก่อนสายเกินแก้ แต่ผมโชคดีที่หลังผ่าตัดมาแล้ว 11 ปี ไม่เคยมีอาการเจ็บหน้าอกอีกเลย เพราะผมจะต้องพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง และกินยาลดไขมันในเลือดสม่ำเสมอตามที่แพทย์สั่ง ทำให้สามารถเล่นกีฬาและใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติสุขเหมือนคนทั่วไป" พล.อากาศเอก ปราโมทย์ กล่าว
นพ.บรรหาร ได้อธิบายว่า "การที่พลอากาศเอก ปราโมทย์ ได้บอกในตอนแรกก่อนผ่าตัดว่า ไขมันในเลือดไม่สูง แต่พอหลังผ่าตัดก็ต้องทานยาลดไขมันในเลือด ก็เพราะว่าระดับไขมันหรือโคเลสเตอรอล ในคนปกติกับคนที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดแล้ว จะอยู่ในเกณฑ์กำหนดที่ต่างกัน โดยในผู้ที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดแล้วจะต้องลดไขมันโคเลสเตอรอลลงไปให้ได้อีกระดับหนึ่ง จึงจะป้องกันโรคหลอดเลือดแดงตีบตันได้ตามผลงานวิจัยที่รองรับ ฉะนั้นในกรณีของพลอากาศเอก ปราโมทย์ จึงต้องทานยาลดไขมันมาตลอด และดูเหมือนว่าจะมีความสัมพันธ์กับการปลอดอาการเจ็บหน้าอกของท่านด้วย"
ในโอกาสนี้โครงการ "รักหัวใจ ใส่ใจโคเลสเตอรอล" ยังได้เริ่มดำเนินการที่จะสร้างกลุ่ม "หยุดยั้งโคเลสเตอรอล หัวใจไม่พัง" เพื่อรวบรวมผู้ที่มีระดับโคเลสเตอรอลสูงให้ทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น จะได้ รับความรู้และประสบการณ์ที่โครงการฯ จะแนะนำ เพื่อนำไปปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและเคร่งครัด จะได้บรรลุเป้าหมาย ให้ระดับโคเลสเตอรอลอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด ก็จะทำให้การป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจนี้ประสบความสำเร็จได้
ขอเชิญผู้สนใจสมัครเป็นสมาชิกของโครงการ "รักหัวใจ ใส่ใจโคเลสเตอรอล" หรือ สมัครเป็นสมาชิกกลุ่ม "หยุดยั้งโคเลสเตอรอล หัวใจไม่พัง" เฉพาะผู้ที่มีระดับโคเลสเตอรอลสูง ได้ที่ ตู้ ปณ. 1114 ปณฝ. นานา กรุงเทพฯ 10112 แฟกซ์ 0-2651-9649 หรือ ดูเว็บไซต์ www.HeartAndCholesterol.com
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม : ปองปรัชญ์ สุโรจนะเมธากุล
บุษบา สุขบัติ
กุนธิรา ณัฐวัฒนานนทน์
บริษัท พีอาร์ แอนด์ แอสโซซิเอส จำกัด
โทร. 0-2651-8989 แฟกซ์ 0-2651-9649
E-mail:
[email protected] จบ--
-อน-