กฟน. เร่งปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้า รับมือฝนกระหน่ำ-พายุฤดูร้อน

19 Jun 2003

กรุงเทพฯ--19 มิ.ย.--กฟน.

นายชูศักดิ์ ชมจินดา ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ การไฟฟ้านครหลวง ( กฟน.) เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูร้อนของทุกปีจะมีพายุ ลมแรงที่เรียกว่าพายุฤดูร้อนปรากฏขึ้น ซึ่งมักจะสร้างความเสียหายอย่างฉับพลันให้กับบ้านเรือนประชาชนรวมถึงระบบสาธารณูปโภค ซึ่งช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พายุฤดูร้อนได้สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนประชาชน และระบบสาธารณูปโภคเป็นอย่างมาก ถือเป็น ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สามารถลดผลกระทบได้ถ้าหาทางป้องกัน จากผลของพายุที่ผ่านมา ได้สร้างความ เสียหายให้กับระบบไฟฟ้าในหลายพื้นที่ ทั้งในเขตชานเมืองย่านสมุทรปราการและมีนบุรี โดยเฉพาะป้ายโฆษณาทั้งขนาดใหญ่และ ขนาดเล็ก ที่พังทับเสา สายไฟฟ้าหรือแผ่นวัสดุปลิวมากระทบสายไฟฟ้า ซึ่งการแก้ไขใช้เวลานานมาก อย่างกรณีเสาไฟฟ้าล้ม 30 ต้น ที่ ถนนหลวงแพ่งเมื่อคืนวานนี้ ใช้เวลาแก้ไขพอสมควร เนื่องจากต้องทำการรื้อถอนและปักเสาใหม่ และเหตุการณ์ดังกล่าวมักจะเกิดขึ้น หลาย ๆ จุดพร้อม ๆ กัน “ก่อนหน้าที่จะเกิดพายุฤดูร้อน กฟน.เองได้ทำการเปลี่ยนสายไฟฟ้าในเขตรับผิดชอบทั้งหมด จากสายเปลือย มาเป็นสายหุ้มฉนวน ใช้งบประมาณไปกว่า 2,000 ล้านบาท เพื่อป้องกันและลดปัญหาไฟฟ้าดับในพื้นที่ให้เกิดน้อยที่สุด รวมถึงให้เจ้า หน้าที่ออกทำการสำรวจแนวเสา-สายไฟฟ้า ที่อยู่ใกล้กับป้ายโฆษณา เพื่อเตรียมการป้องกันแต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้มาก นอกจากขอ ขอความร่วมมือจากเจ้าของป้ายโฆษณา รวมถึงเจ้าของอาคารที่ให้ติดตั้งป้ายโฆษณา ทำการสำรวจความ แน่นหนา มั่นคงของป้าย หากเห็นว่ามีสภาพชำรุด ขอให้ทำการแก้ไขหรืองดเว้นการติดตั้งแผ่นโฆษณาในช่วงนี้ เพราะเมื่อเจอกับลมพายุฤดูร้อน จะทำให้เกิด การต้านลมและหักโค่นลงมาได้ ” นายชูศักดิ์ กล่าวว่า

สำหรับข้อควรระวังในการใช้ไฟฟ้าช่วงฝนตกนั้น คือ การหลีกเลี่ยงการใช้กริ่งประตูหรือโคมไฟสนาม เนื่องจากอุปกรณ์เหล่านี้ จะเสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ หากอยู่ภายนอกและถูกแดด ถูกฝนตลอดเวลา ไฟฟ้ารั่วเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นจึงมีอัน ตรายมาก เพราะฉะนั้น จึงควรให้ความสำคัญและระมัดระวังเป็นพิเศษ รวมถึงการดูแลบุตรหลานของตน อย่าเข้าไปเที่ยวเล่นในที่ที่ ติดตั้งเครื่องใช้ ไฟฟ้าที่อยู่กลางแจ้ง เช่น เครื่องสูบน้ำ เนื่องจากมีกรณีน่าเศร้าที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว เด็กไปเที่ยวเล่นแถวเครื่องสูบน้ำ สูบน้ำและถูกไฟฟ้าดูดจนเสียชีวิต สาเหตุเนื่องมาจากสายไฟฟ้าบริเวณเครื่องสูบน้ำชำรุด นายชูศักดิ์กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับต้นไม้ที่ปลูกอยู่ใต้แนวสายไฟฟ้า หากเป็นไปได้ ควรหลีกเลี่ยงการปลูกไม้ยืนต้น เนื่องจาก ในช่วงฤดูฝน มักจะมีลมพัดแรง ซึ่งอาจพัดกิ่งไม้ไปพาดสายไฟฟ้าทำให้เกิดการลัดวงจร เป็นอันตรายต่อผู้สัญจรไปมาและเป็นสาเหตุ ให้ไฟฟ้าดับ หรือหากพบว่า ต้นไม้มี แนวโน้มเติบโตใกล้แนวสายไฟฟ้า ให้รีบตัดแต่งกิ่งทันที

หากประชาชนท่านใดมีข้อสงสัยเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้ไฟฟ้า สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ ศูนย์บริการข้อมูล ผู้ใช้ไฟฟ้า การไฟฟ้านครหลวง หมายเลขโทรศัพท์ 1130 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง--จบ--

-ปส-