กรุงเทพฯ--3 ก.ย.--กฟน.
นายชูศักดิ์ ชมจินดา ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ การไฟฟ้านครหลวง เปิดเผยถึงข้อสงสัยที่ประชาชนหลายราย ได้สอบถามถึงเรื่องการเก็บค่าบริการของการไฟฟ้านครหลวง ว่า ค่าบริการที่เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยจำนวน 40 บาท นั้น เป็นค่าใช้จ่ายด้านใด และทำไมถึงต้องเรียกเก็บ
" ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชน เดิมนั้น เป็นเหมือนกับสินค้าชนิดอื่น ๆ คือระบุชัดเจนว่าราคาหน่วยละกี่บาท ต่อมาเมื่อประเทศไทยเปลี่ยนระบบการจัดเก็บภาษีเป็นระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ราคาสินค้า จึงแยกออกเป็น 2 ส่วน คือราคาสินค้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งค่าไฟฟ้าก็เช่นเดียวกัน มีการจัดเก็บโดยแยกออกเป็นค่าไฟฟ้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม "
แต่ค่าไฟฟ้ามีลักษณะพิเศษ คือต้นทุนในการผลิตไม่คงที่เนื่องจากเปลี่ยนแปลงได้ตามราคาเชื้อพลิงที่นำมาผลิต ซึ่งหลังจากที่ประเทศไทยมีการลอยตัวราคาน้ำมันทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา รัฐบาลในยุคนั้น จึงแบ่งค่าไฟฟ้าออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก เราเรียกว่า ค่าไฟฟ้าฐาน เป็นค่าไฟฟ้าที่กำหนดไว้ตายตัว หากจะเปลี่ยนแปลงต้องผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ค่าไฟฟ้าฐานนี้ กำหนดจากค่าลงทุนของการไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ระบบสายส่ง ระบบจำหน่าย และค่าเชื้อเพลิง ซึ่งค่าเชื้อเพลิงนี้ กำหนดไว้แน่นอน ณ ระดับราคาหนึ่ง ส่วนที่สอง เรียกว่าค่าไฟฟ้าผันแปร หรือเรียกกันว่าค่าเอฟที ค่าเอฟที เป็นต้นทุนค่าไฟฟ้า ที่ปรับเปลี่ยนไปตามต้นทุนที่ควบคุมไม่ได้ เช่น อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา หรือค่าเชื้อเพลิง ในกรณีเชื้อเพลิงที่นำมาผลิตไฟฟ้านั้นมีราคาสูงขึ้น หรือลดต่ำกว่าราคาที่กำหนดจากค่าไฟฟ้าฐาน ก็จะนำมา ปรับลดลงหรือเพิ่มขึ้นในส่วนของค่าเอฟที ยกตัวอย่าง สมมติว่ากำหนดราคาค่าน้ำมันเตาไว้ที่ลิตรละ 8 บาท ต้นทุนราคาน้ำมันเตาลิตรละ 8 บาทนี้จะนำไปใช้คำนวณราคาต้นทุนค่าไฟฟ้าในส่วนค่าไฟฟ้าฐาน แต่ถ้าหากราคาน้ำมันเตาสูงขึ้นกว่าลิตรละ 8 บาท ค่าเอฟทีจะสูงขึ้นตามไปด้วย ในทางกลับกัน หากราคาน้ำมันเตาสูงลดลงต่ำกว่าลิตรละ 8 บาท ค่าเอฟทีจะลดตามลงไปด้วย ซึ่งค่าเอฟทีนี้ ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 จะเปลี่ยนแปลงทุก ๆ 4 เดือน ปัจจุบัน ค่าเอฟที กำหนดอยู่ที่ 26.12 สตางค์ต่อหน่วย
นายชูศักดิ์กล่าวว่า ครั้งหลังสุด รัฐบาล ต้องการแยกให้เห็นชัดเจนว่า ระบบจำหน่าย นั้น คิดเป็นต้นทุนเท่าใด จึงได้มีการคำนวณและแยกค่าใช้จ่ายของระบบจำหน่าย โดยเฉพาะ ค่าบริการ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการจดมิเตอร์ การจัดพิมพ์บิล การจัดส่งและการเก็บเงิน ฯลฯ ออกมาให้ชัดเจน ซึ่งค่าบริการนี้ไม่ใช่เงินที่เก็บเพิ่มขึ้นใหม่ แต่เป็นค่าใช้จ่ายที่เดิมรวมอยู่ในอัตราค่าไฟฟ้า
การแยก ค่าบริการออกมา ทำให้สะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริง ชัดเจนและโปร่งใส คล้าย ๆ กับสมัยที่มีการแยกภาษีมูลค่าเพิ่มออกจากราคาสินค้าสมัยก่อน ซึ่งหลังจากแยกค่าบริการออกมาแล้ว ค่าไฟฟ้าฐานก็ ลดลงตามส่วน
สรุปแล้ว ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บและปรากฏในใบแจ้งหนี้/ใบเสร็จรับเงินค่าไฟฟ้าในปัจจุบัน ประกอบด้วยค่าไฟฟ้าฐาน + ค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) + ค่าบริการ + ภาษีมูลค่าเพิ่ม
นายชูศักดิ์ กล่าวในตอนท้ายว่า ค่าไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นค่าไฟฟ้าฐาน ค่าไฟฟ้าผันแปร ค่าบริการ หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม จะถูกกำกับ ดูแลโดยคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการหลายชุด ทั้งตัวแทนภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมสูงสุดไม่ใช่ว่าหน่วยงานด้านไฟฟ้า จะเรียกเก็บได้ตามใจชอบ จึงขอให้ทุกท่านวางใจได้ หากยังมีข้อสงสัยอื่นๆ อีก สามารถสอบถามได้ที่ ศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้า การไฟฟ้านครหลวง โทรศัพท์ 1130 ตลอด 24 ชั่วโมง.--จบ--
-รก-