กรุงเทพฯ--17 ก.ย.--คาร์ล บายร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์
มร. ไมค์ ฟิสเตอร์ รองประธานอาวุโส บริษัท อินเทล คอร์เปอเรชั่น ได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้าวิศวกรและนักพัฒนาในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีจำนวนหลายพันคนในงาน อินเทล ดิเวลล็อปเปอร์ ฟอรั่ม (Intel Developer Forum) ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองซานโฮเซ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ว่า อินเทลมุ่งมั่นที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ต้องการใช้โซลูชั่นระดับเอ็นเตอร์ไพรซ์ที่ดีขึ้น เร็วขึ้น และมีความคุ้มค่ามากขึ้นกว่าเดิม
มร.ฟิสเตอร์ ได้พูดถึงนวัตกรรมใหม่ในเรื่องของระบบประมวลผลประสิทธิภาพสูง (High Performance Computing - HPC) ระบบที่บริหารได้ง่ายขึ้น ระบบที่ทำงานเป็นโมดูล แพลตฟอร์มของอินเทล รวมทั้งเทคโนโลยีต่างๆในอนาคต ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า อินเทลได้ร่วมมือกับบริษัทฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ต่างๆ อย่างจริงจัง เพื่อหาทางแก้ไขอุปสรรคต่างๆ ของลูกค้าให้ได้
ในโอกาสนี้ ผู้บริหารของเดลล์และและไอบีเอ็มได้มาร่วมบรรยายกับมร.ฟิสเตอร์ด้วย โดยได้พูดถึงแพลตฟอร์มและทิศทางทั้งในปัจจุบันและอนาคต นอกจากนี้ยังเน้นถึงความสำคัญของโปรเซสเซอร์ในตระกูลไอเทเนียม ทู ของอินเทล รวมทั้งเทคโนโลยีมาตรฐานอุตสาหกรรมอย่าง PCI Express ด้วย
มร. ฟิสเตอร์กล่าวว่า "ผู้จัดการแผนกไอทีของบริษัทต่างๆ ต้องเผชิญกับปัญหาที่ยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น พวกเขาจึงต้องการให้อุตสาหกรรมไอทีนำเสนอโซลูชั่นที่โดดเด่นกว่าเดิมตามไปด้วย ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาเป็นต่อในการแข่งขันได้ อินเทลจึงทำงานร่วมกับผู้ค้ารายอื่นๆ โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือสนองตอบต่อความต้องการเหล่านี้ให้ได้ เนื่องจากความต้องการที่ว่านั้นเป็นตัวกระตุ้นการเติบโตและการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ภายในอุตสาหกรรมของเรา"
การที่จะสนองตอบต่อความต้องการในการประมวลผลด้านวิทยาศาสตร์ การวิจัย และงานด้านเทคนิคได้นั้นจำเป็นต้องอาศัยระบบคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูง ราคาเหมาะสมกับประสิทธิภาพ บวกกับการมีโซลูชั่นและเครื่องมือต่างๆ ให้เลือกใช้มากมาย ซึ่ง มร.ฟิสเตอร์ ชี้ให้เห็นว่าการที่คอมพิวเตอร์ซึ่งใช้สถาปัตยกรรมอินเทลประสบความสำเร็จในตลาด HPC เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ถือเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า โซลูชั่นที่พัฒนาขึ้นมาโดยอิงกับแพลตฟอร์มของอินเทลนั้นให้ประสิทธิภาพสูงสุดคุ้มค่า อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและมีตัวเลือกที่หลากหลายมากกว่าด้วย มร.ฟิสเตอร์ บอกว่าในตอนนี้ Lawrence Livermore National Laboratory และ Sandia National Labs ซึ่งห้องแล็ปทั้งสองแห่งนี้เป็นสถานที่ที่มีการใช้คอมพิวเตอร์แบบ HPC มากที่สุดในโลก
การที่ความสามารถในการบริหารระบบลูกผสมถือว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อแผนกไอทีของบริษัทต่างๆ ดังนั้น มร.ฟิสเตอร์ จึงออกมาประกาศว่าอินเทลได้ร่วมมือกับเดลล์ เอชพี และไอบีเอ็ม โดยตั้งเป้าไปที่การปรับปรุงขั้นตอนการบริหารระบบลูกผสมที่ใช้แพลตฟอร์มมาตรฐานให้ดีขึ้นกว่าเดิม ความร่วมมือครั้งนี้จะทำให้การบริหารระบบข้ามแพลตฟอร์มมีประสิทธิภาพดีขึ้น เสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลง อีกทั้งยังช่วยปรับปรุงให้คอมพิวเตอร์ที่ใช้สถาปัตยกรรมอินเทลทำงานร่วมกันในศูนย์ข้อมูลได้ดีขึ้นด้วย
ส่วนการประมวลผลแบบโมดูลในระดับองค์กรนั้น ถือเป็นโมเดลการประมวลผลแบบใหม่ซึ่งจะช่วยให้บริษัทต่างๆ สามารถนำเอาโซลูชั่นที่มีความคุ้มค่าสูงไปใช้ได้เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม อินเทลทำงานร่วมกับผู้ค้ารายอื่นๆ ในอุตสาหกรรมจนกระทั่งสามารถพัฒนาระบบที่มีความสามารถระดับนี้ออกมาได้ในรูปของคอมพิวเตอร์ในตระกูล Intel Enterprise Blade Server ซึ่งออกแบบขึ้นมาเพื่อนำเสนอความยืดหยุ่นและการบริหารที่เรียบง่ายกว่าเดิมให้แก่สภาพแวดล้อมในการใช้งานภายในองค์กรต่างๆ
ผลิตภัณฑ์รุ่นแรกมีชื่อว่า Intel Server Computer Blade SBXL52 โดยเบลดแต่ละชุดติดตั้ง อินเทล ซีออน โปรเซสเซอร์ (Intel Xeon Processor) เอาไว้ 2 ตัว ซึ่งแร็กเม้าท์แต่ละจุดติดตั้งเบลดได้ 14 ชุด เบลดรุ่นนี้สามารถเชื่อมต่อกันเป็นระบบเครือข่ายและมีระบบบริหารที่ใช้งานได้ง่ายขึ้นผ่านทาง Intel Management Module และ Intel Deployment Manager ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโปรแกรม VERITAS OpForce นอกจากนั้น Fister ยังเปิดเผยอีกว่าอินเทลเตรียมที่จะคลอดเบลดที่ใช้ อินเทล ซีออน เอ็มพี โปรเซสเซอร์ 4 ตัว ที่มีชื่อรหัสว่า McCarran ภายในปลายปีนี้ด้วย
มร.ฟิสเตอร์กล่าวว่าภายในปี 2546 อินเทลจะพัฒนาโปรเซสเซอร์ในตระกูลไอเทเนียม ทู ให้มีแคชที่ใหญ่ขึ้น รวมทั้งยังมีเวอร์ชันที่สามารถทำงานในคอมพิวเตอร์แบบโปรเซสเซอร์คู่ และกินไฟต่ำลงกว่าเดิมอีกด้วย โปรเซสเซอร์ในตระกูลซีออน เอ็มพี จะใช้กับเซิร์ฟเวอร์ที่ติดตั้งโปรเซสเซอร์ตั้งแต่ 4 ตัวขึ้นไป โดยจะเป็นโปรเซสเซอร์รุ่นที่มีแคชมากขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2547 เป็นต้นไป จากนั้นอินเทลจะเปิดตัว อินเทล ซีออน เอ็มพี โปรเซสเซอร์ รุ่นที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบ 0.09 ไมครอน ที่มีชื่อรหัสว่า Potomac เพื่อใช้กับเซิร์ฟเวอร์ที่มีโปรเซสเซอร์ตั้งแต่ 4 ตัวขึ้นไป โดยจะใช้งานร่วมกับชิปเซ็ตรุ่นใหม่ของอินเทลที่มีชื่อรหัสว่า Twin Castle ด้วย
นอกจากนั้นอินเทลยังได้มีการปรับปรุงโปรเซสเซอร์รุ่นยอดนิยมอย่างซีออนเพื่อใช้สำหรับเซิร์ฟเวอร์และเวิร์กสเตชันแบบโปรเซสเซอร์คู่ โดยจะเป็นโปรเซสเซอร์ที่มีความเร็วสูงขึ้น และนำออกสู่ตลาดภายในปีนี้ ส่วนโปรเซสเซอร์ระดับเอ็นเตอร์ไพรซ์ ที่มีชื่อรหัสว่า Nocona ซึ่งใช้กระบวนการผลิตแบบ 0.09 ไมครอนจะออกสู่ตลาดในช่วงครึ่งแรกของปี 2547 นอกจากนั้นอินเทลยังมีการเปิดตัวโปรเซสเซอร์ที่ใช้กระบวนการผลิตแบบ 0.09 ไมครอนอีกรุ่นหนึ่ง ชื่อรหัสว่า Jayhawk ที่จะมีการแนะนำต่อจาก Nocona ด้วย โดยที่ Nocona จะทำงานกับชิปเซ็ตเซิร์ฟเวอร์และเวิร์กสเตชันรุ่นใหม่ของอินเทลที่มีชื่อรหัสว่า Lindenhurst, Lindenhurst VS และ Tumwater
ในงานไอดีเอฟครั้งนี้ อินเทลมีโอกาสสาธิตเทคโนโลยีใหม่ที่แสดงให้เห็นว่าแพลตฟอร์มของอินเทลมีประสิทธิภาพดีขึ้นและสามารถขยายขนาดของระบบได้ดีขึ้น เช่น การสาธิตการทำงานแบบครบวงจรของPCI-Express ที่ใช้งานควบคู่กับชิปเซ็ตรุ่นใหม่ของอินเทล รวมทั้งยังมีการเปิดตัว Intel Platform Innovation Framework เพื่อใช้งานกับ Extensible Firmware Interface (EPI) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงชิ้นส่วนเก่าแก่ที่สุดของคอมพิวเตอร์ชิ้นสุดท้ายซึ่งก็คือไบออสนั่นเอง
ผู้ที่ร่วมบรรยายกับมร.ฟิสเตอร์ ได้แก่ ซานดร้า มอร์ริส ผู้อำนวยการฝ่ายข้อมูลของอินเทลซึ่งออกมายืนยันว่า อินเทลมองเห็นความจำเป็นของโซลูชั่นในระดับเอ็นเตอร์ไพรซ์ที่ดีกว่าเดิม เร็วกว่าเดิม และมีความคุ้มค่ายิ่งกว่าเดิม ซึ่งมอร์ริสได้อธิบายให้ฟังว่าองค์กรซึ่งนำเอาคอมพิวเตอร์ที่ใช้ อินเทล ไอเทเนียม โปรเซสเซอร์ ไปใช้งานจะช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการทำอี-บิซิเนสของตนเองได้อย่างไร อินเทลสามารถปรับปรุงโซลูชั่นอี-บิซิเนสของตนเองได้โดยการนำเอาคอมพิวเตอร์ที่ใช้ อินเทล ไอเทเนียม ทู โปรเซสเซอร์ ไปรองรับการทำงานของแอพพลิเคชั่นที่มีความสำคัญ เช่น แอพพลิเคชั่นช่องทางการจัดซื้อ โครงสร้างพื้นฐานของอินเทอร์เน็ต การบริการลูกค้า การตลาด ระบบโรงงานอัตโนมัติ และงานด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งโรงงานขนาดใหญ่หลายแห่งในโลกกำลังใช้โซลูชั่นแบบนี้อยู่ในตอนนี้
ข้อมูลเกี่ยวกับงานไอดีเอฟ
งานอินเทล ดิเวลล็อปเปอร์ ฟอรั่ม เป็นงานแสดงด้านเทคโนโลยีประจำปีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดงานหนึ่งในอุตสาหกรรมไอที ซึ่งจัดขึ้นสำหรับนักพัฒนาฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์โดยเฉพาะ งานไอดีเอฟ เป็นการรวมตัวกันของบริษัทชั้นนำในวงการเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ล่าสุดที่เกี่ยวข้องกับพีซี เซิร์ฟเวอร์ อุปกรณ์สื่อสาร และอุปกรณ์ที่เป็นเครื่องลูกข่ายแบบพกพา ผู้สนใจสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานไอดีเอฟ และเทคโนโลยีต่างๆ ของอินเทลได้ที่ http://developer.intel.com
อินเทลเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของโลก และเป็นผู้นำในการผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ระบบเครือข่าย และอุปกรณ์สื่อสาร ผู้สนใจสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริษัทอินเทล ได้ที่เว็บไซต์ http://www.intel.com/pressroom
ติดต่อ:
คุณเพชราภรณ์ เจริญนิพนธ์วานิช คุณอัปษร เพชรชาติ
บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท คาร์ล บายร์
โทรศัพท์: (66 2) 654-0654 โทรศัพท์: (66 2) 627-3501
e-Mail:
[email protected] e-Mail:
[email protected]จบ--
-รก-