กรุงเทพฯ--26 ก.ย.--กทม.
กองอนามัยสิ่งแวดล้อม สำนักอนามัย กทม. มอบรถเข็นแก่ผู้ค้าอาหารริมบาทวิถี 666 ราย ตามเส้นทางประชุมเอเปก หวังให้เป็นหน้าตาของเมือง สร้างความประทับใจผู้พบเห็น และนักท่องเที่ยวยอมรับมาตรฐานอาหารแผงลอยที่พัฒนาแล้ว คาดส่งผลระยะยาวด้านการท่องเที่ยวกรุงเทพฯ นายวัชรา พรหมเจริญ ผู้อำนวยการกองอนามัยสิ่งแวดล้อม สำนักอนามัย กทม. เปิดเผยว่า กองอนามัยสิ่งแวดล้อมได้รับมอบหมายจากกรุงเทพมหานครให้เป็นผู้ดำเนินการจัดหารถเข็นขายอาหารริมบาทวิถี จำนวน 666 คัน เพื่อมอบให้แก่ผู้ค้าใช้ในช่วงการประชุมเอเปก 2003 โดยรับการสนับสนุนงบประมาณจัดซื้อจากรัฐบาล จำนวน 9.9 ล้านบาท ขณะนี้ได้เริ่มทยอยมอบรถเข็นให้แก่ผู้ค้าแล้วในบางพื้นที่ อาทิ เขตธนบุรี เขตบางกอกใหญ่(บริเวณราชนาวิกสโมสร) และจะมอบได้ครบทั้ง 666 ราย ในพื้นที่ 9 เขต หลังจากบริษัทผู้ผลิตส่งมอบครบภายในวันที่ 30 ต.ค. นี้
สำหรับรถเข็นดังกล่าวมีลักษณะพิเศษเป็นเอกลักษณ์ของเมือง หลังคาเป็นทรงไทยงดงาม ตรงตามมติคณะรัฐมนตรีที่ให้การปลูกสร้างทุกชนิดของราชการส่งเสริมความเป็นไทย ตัวรถเข็นทำด้วยสเตนเลสหนา 5 มม. เหมาะสมที่จะเป็นครัวเตรียมอาหารขาย ทำความสะอาดง่าย ไม่ขึ้นสนิม ทนทานใช้งานได้นาน และมีที่วางภาชนะจานชามถูกสุขลักษณะ สามารถเปิด-ปิดได้ในมุมสูง ทั้งด้านหน้าและด้านข้าง สะดวกแก่ผู้ซื้อและผู้ขาย เหมาะกับสภาพพื้นที่ริมทางเท้า และมีความเป็นระเบียบสวยงาม
ผู้อำนวยการกองอนามัยสิ่งแวดล้อม กล่าวอีกว่า กทม.จะมอบรถเข็นดังกล่าวให้แก่ผู้ค้าอาหารริมบาทวิถี จำนวน 666 ราย ที่อยู่ในเส้นทางผ่านการประชุมเอเปก โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ค้าที่จะได้รับแจกรถเข็นจะต้องขายอาหารและจะต้องไม่ค้างชำระค่าทำความสะอาดทางเท้า มีการผ่อนจ่ายค่าล้างทางเท้าอย่างสม่ำเสมอ ส่วนผู้ค้าอื่นๆ ที่ขายผัก ปลา เสื้อผ้า ไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับรถเข็น ดังนั้นการแจกรถเข็นในแต่ละพื้นที่อาจจะไม่ได้รับรถเข็นทุกราย ทั้งนี้ ผู้บริหารกทม. ต้องการให้รถเข็นดังกล่าวเป็นแบบอย่างของรถเข็นขายอาหารริมบาทวิถีทั่วพื้นที่ 50 เขตในกทม.ต่อไป โดยกำลังพิจารณาว่า หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมเอเปกแล้วจะดำเนินโครงการรถเข็นเอื้ออาทรราคาพิเศษสำหรับผู้ค้าที่สนใจรถเข็นรูปแบบดังกล่าวด้วย
“ ผู้ค้าทั้ง 666 รายที่ได้รับรถเข็นไป จะเป็นตัวแทนและหน้าตาของกรุงเทพมหานคร ที่จะทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้ผู้มา ร่วมประชุม และนักท่องเที่ยวจากนานาประเทศที่ได้พบเห็น เกิดความประทับใจ และยอมรับร้านอาหารริมบาทวิถีที่มีมาตรฐาน ถูกสุขอนามัย ซึ่งจะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวในอนาคต โดยทางกองอามัยสิ่งแวดล้อมได้จัดอบรมด้านสุขาภิบาลอาหารให้แก่ผู้ค้าแล้ว” ผู้อำนวยการกองอนามัยสิ่งแวดล้อม กล่าว
นายวัชรากล่าวด้วยว่า การใช้รถเข็นขายอาหารริมบาทวิถีที่ได้มาตรฐาน เป็นไปตามแนวคิดเดิมในการตกแต่งเมืองของ ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะการจัดระเบียบและตกแต่งถนนหนทางในกรุงเทพฯให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงามอย่างเมืองใหญ่ๆ ในต่างประเทศที่ได้รับการยกย่องจากนานาประเทศ อย่างไรก็ดี กิจการหาบเร่แผงลอยขายอาหารถือเป็นหัวใจของเมืองที่อยู่คู่กับกรุงเทพฯมานาน ปัจจุบันมีประชาชนกว่า 12,000 ราย ยึดเป็นอาชีพเลี้ยงครอบครัว ซึ่งเป็นที่ฝากท้องของผู้มีฐานะตั้งแต่ปานกลางลงมาจำนวนมาก กทม.เล็งเห็นความจำเป็นต่อการพัฒนาอาหารริมบาทวิถีให้มีคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง แต่ที่ผ่านมายังติดขัดในเรื่องงบประมาณดำเนินการ จึงเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปก 2003 และกทม.ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในครั้งนี้ ซึ่งรถเข็นที่เป็นมาตรฐานและเป็นเอกลักษณ์จะอยู่คู่กับเมืองตลอดไป แม้การประชุมเอเปกจะเสร็จสิ้นแล้วก็ตาม--จบ--
-นห-