สถาบันเพิ่มผลผลิตฯ ชี้มาตรฐาน SA8000 ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานไทย

กรุงเทพฯ--19 ส.ค.--สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ หวังให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจส่งออก ให้ความสำคัญกับมาตรฐานความรับผิดชอบทางสังคม (SA8000) เพราะจะเป็นปัจจัยสำคัญที่เสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ผู้ประกอบการในการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ และการปฏิบัติตามแนวทางของมาตรฐานจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของพนักงานให้ดีขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อการเติบโตขององค์กรอย่างยั่งยืนในระยะยาว นายธวัชชัย ตั้งสง่า ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กล่าวว่าขณะนี้ทั่วโลกกำลังให้ความใส่ใจอย่างมากกับประเด็นเรื่อง "ความรับผิดชอบทางสังคม" (Social Accountability 8000 : SA8000) ของบรรดาองค์กรธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจส่งออกที่มีภาวะการแข่งขันสูง และทุกวันนี้ต้องตอบคำถามลูกค้าอยู่เสมอๆ เรื่องของการจ้างแรงงานเด็ก แรงงานสตรี หรือผู้สูงอายุ รวมถึงเรื่องการจัดการด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของพนักงาน ดังนั้นจึงจำเป็นที่ผู้ประกอบธุรกิจในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานประกอบการที่มีคนงานจำนวนมาก จะต้องเตรียมความพร้อมในการรองรับมาตรฐานแรงงานสากลที่ว่านี้อย่างจริงจัง เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้าในการสั่งซื้อสินค้าและบริการ ทั้งยังเป็นการเพิ่มโอกาสการแข่งขันในตลาดต่างประเทศด้วย "มาตรฐานความรับผิดชอบทางสังคมหรือ SA8000 เป็นมาตรฐานสากลที่เน้นเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมและการยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงาน มาตรฐานที่ว่านี้เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1997 ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว จึงนับว่าเป็นเรื่องใหม่พอสมควรสำหรับประเทศไทย และยังไม่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายเหมือน ISO9000 หรือ ISO14000 แต่แนวโน้มในอนาคตจะต้องเร่งสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นในทุกสถานประกอบการ เพื่อให้สถานประกอบการของไทยมีการปฏิบัติที่ดี เป็นที่ยอมรับและได้รับการรับรองมาตรฐานสากลดังกล่าว" นายธวัชชัยกล่าว ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตฯ กล่าวว่า สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ร่วมกับองค์การเพิ่มผลผลิตแห่งเอเชีย (Asian Productivity Institute: APO) กำลังจะจัดสัมมนาในหัวข้อ "Social Accountability SA8000" ระหว่างวันที่ 25-29 สิงหาคมนี้ ที่โรงแรมโนโวเทล สยามสแควร์ กรุงเทพฯ ตั้งแต่เวลา 9.00-17.00 น. โดยงานนี้เป็นการสัมมนาร่วมกันของตัวแทนจากกลุ่มประเทศสมาชิก APO จำนวน 19 ประเทศ ผู้สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ภายในงานได้ โดยติดต่อไปยังสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 0-2619-5500 ต่อ 156, 157 ข้อกำหนด (requirements) ที่สำคัญโดยสังเขปในมาตรฐานความรับผิดชอบทางสังคม SA8000 ได้แก่ 1. การใช้แรงงานเด็ก คือ ห้ามมิให้ผู้ประกอบการหรือนายจ้าง จ้างเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี เป็นพนักงานหรือลูกจ้าง หรือจ้างผู้ซึ่งมีอายุต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องได้รับการศึกษาภาคบังคับก่อน 2. การบังคับใช้แรงงาน คือ ห้ามการบังคับใช้แรงงาน ไม่ว่าจะเป็นนักโทษในเรือนจำ ผู้ที่ถูกจับเป็นตัวประกัน หรือถูกบังคับให้ทำงานโดยไม่สมัครใจ นอกจากนี้บุคลากรในบริษัทต้องไม่ถูกเรียกร้องให้วาง "เงินประกัน" หรือเอกสารแสดงตนใดๆ ประกอบการจ้างงาน 3. สุขอนามัยและความปลอดภัย บริษัทต้องจัดสภาพแวดล้อมสำหรับการทำงานอย่างปลอดภัยและไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ต้องมีขั้นตอนในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและการบาดเจ็บ พนักงานทุกคนต้องได้รับการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยและสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ และบริษัทต้องจัดให้มีห้องน้ำที่สะอาด มีน้ำดื่ม และสิ่งอำนวยความสะดวกตามความเหมาะสม 4. เสรีภาพในการสมาคมและสิทธิในการรวมกลุ่มเจรจาต่อรอง กล่าวคือ บริษัทต้องเคารพต่อสิทธิของบุคลากรทุกคนในการก่อตั้ง และเข้าร่วมกับสหภาพตามที่ตนเลือก และการรวมกลุ่มเจรจาต่อรอง 5. การเลือกปฏิบัติ บริษัทต้องไม่เลือกปฏิบัติในการจ้างงาน อันเนื่องมาจากเชื้อชาติ ชั้นวรรณะ สัญชาติ ศาสนา ความพิการ เพศ ความเบี่ยงเบนทางเพศ การเป็นสมาชิกสหภาพ การมีส่วนร่วมทางการเมือง หรือเรื่องอายุ รวมทั้งการเอารัดเอาเปรียบทางเพศ แต่อย่างใด 6. การลงโทษทางวินัย นายจ้างจะต้องปฏิบัติต่อพนักงานลูกจ้างทุกคน ด้วยความเคารพในศักดิ์ศรีของมนุษย์ ห้ามไม่ให้มีการบังคับขู่เข็ญ หรือกระทำทารุณต่อลูกจ้าง ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย จิตใจ หรือโดยวาจา การลงโทษทางวินัยจะต้องโปร่งใสและเป็นธรรมด้วย 7. จำนวนชั่วโมงทำงาน ผู้ประกอบการต้องไม่ให้พนักงานลูกจ้างทำงานเกินกว่า 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และบริษัทต้องจัดให้มีวันหยุดอย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์ หากมีการทำงานล่วงเวลา (เกินกว่า 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) พนักงานลูกจ้างจะต้องได้รับเงินค่าล่วงเวลาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย อย่างไรก็ดีการทำงานล่วงเวลาจะต้องไม่เกิน 12 ชั่วโมงต่อคนต่อสัปดาห์ และจะต้องไม่มีการสั่งให้ทำงานล่วงเวลา เว้นแต่ในกรณีพิเศษที่ได้ตกลงกันไว้ 8. เงินเดือน ค่าจ้าง และสวัสดิการ นายจ้างจะต้องจ่ายค่าตอบแทนแก่ลูกจ้างของตน ในอัตราที่ไม่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด และต้องคำนึงถึงความเหมาะสมในการดำรงชีพของพนักงานหรือคนงานด้วย การจ่ายเงินชดเชยและจัดสวัสดิการต่างๆ ต้องเป็นไปตามกฎหมายด้วย 9. ระบบการบริหาร ผู้บริหารสูงสุดต้องกำหนดและคงไว้ซึ่งนโยบายด้านความรับผิดชอบทางสังคม โดยต้องมีการทบทวนและปรับปรุงและแก้ไขระบบตามความเหมาะสม--จบ-- -รก-

ข่าวสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ+สถาบันเพิ่มผลผลิตฯวันนี้

SME D Bank รับรางวัล Silver Award ประจำปี 2566 'นวัตกรรมตอบโจทย์การบริหารจัดการและพัฒนาบุคลากร' ต้นแบบภาครัฐ-เอกชน

นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank พร้อมคณะผู้บริหาร เข้ารับรางวัล Silver Award โครงการประกวดนวัตกรรมการบริหารและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ประจำปี 2566 (Thailand HR Innovation Award 2023) จัดโดย สถาบันพัฒนาวิชาชีพทรัพยากรบุคคล สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ คณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระท... เคนยากุคว้ารางวัล SME แห่งชาติ — นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้เกียรติมอบรางวัล SME ดีเด่น กลุ่มธุรกิจยาและอาหารเสริมแก่...

เป้าหมายสู่มหาวิทยาลัยระดับโลกจะต้องมีการ... ม.มหิดลเผยกลยุทธ์ใช้เกณฑ์ TQA เพื่อการเรียนรู้-พัฒนาสู่World Class University — เป้าหมายสู่มหาวิทยาลัยระดับโลกจะต้องมีการบริหารจัดการที่ดี โดยให้ความสำคัญ...