กรุงเทพฯ--14 มี.ค.--ศูนย์ ปชส.กระทรวงคมนาคม
พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะ ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ร่วมกับ นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังโดยมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายศรีสุข จันทรางศุ ปลัดกระทรวงคมนาคม นายอดิศักดิ์ ภู่วราวุฒิพานิช รองปลัดกระทรวงคมนาคมในฐานะประธานกรรมการ กทพ. และคณะผู้บริหาร กทพ. ให้การต้อนรับ และบรรยายสรุปภารกิจ วิสัยทัศน์ แผนกกลยุทธ์ แผนเพิ่มประสิทธิภาพสถานะทางการเงินและผลการดำเนินงาน ตลอดจนปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน และแนวทางการแก้ไขปัญหาของ กทพ. ณ อาคารสำนักงานฯ ถนนพหลโยธิน กรุงเทพมหานคร
พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังรับฟังบรรยายสรุปว่า การทางพิเศษแห่งประเทศไทย เป็นรัฐวิสาหกิจแห่งที่ 3 ที่ได้ตรวจเยี่ยม ก่อนที่จะมาตรวจเยี่ยมมีความเป็นห่วงพอสมควร แต่เมื่อรับฟังบรรยายสรุปแล้วทราบว่ามีแนวทางที่สามารถจะแก้ไขปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินของ กทพ.ได้ เนื่องจากแต่เดิม กทพ. มีภาระหนี้สินกว่าแสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากภาระค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและก่อสร้าง จึงได้มอบแนวทางในการแก้ไขปัญหา และมอบหมายให้มีการดำเนินการในเรื่องต่างๆ ดังนี้
1. การแก้ไขปัญหาสถานะทางการเงินของ กทพ.
ให้สรุปยอดรวมหนี้สินที่ กทพ.เป็นหนี้รัฐบาล ซึ่งหนี้สินนั้นรัฐบาลไม่ได้เป็นหนี้ผู้อื่นต่อเพื่อรัฐบาลจะได้เตรียมจัดตั้งงบประมาณไว้ให้ และจากที่ กทพ. รายงานในวันนี้ทราบว่ามีหนี้สินประมาณ 13,000 ล้านบาท รัฐบาลมีแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาโดยการแปลงหนี้เป็นทุน คือ แปลงหนี้ของรัฐบาลเป็นทุนของรัฐบาลเอง นั้นก็คือรัฐบาลจะเพิ่มทุนใน กทพ. โดย กระทรวงการคลังจะเข้าถือหุ้นใน กทพ.เพิ่มมากขึ้นทำให้ กทพ. เป็นหนี้น้อยลง เป็นการลดภาระหนี้และดอกเบี้ยของ กทพ. ถ้าเศรษฐกิจดีขึ้น และ กทพ.มีการปรับปรุงเส้นทาง ทำให้มีความสะดวกในการขึ้น-ลง เพิ่มจุดขึ้น-ลง มากขึ้น โดยมีการลงทุนก่อสร้างเพิ่มอีกเล็กน้อย ในการแก้ไขปัญหาทำให้เกิดความคล่องตัวของการจราจรในหลายๆ พื้นที่ ก็จะทำให้รายได้ของ กทพ. เพิ่มมากขึ้น และจะมีผลทำให้กระแสเงินสดคล่องตัว สำหรับแนวทางการแก้ไขให้ดำเนินการโดยเร็วที่สุด โดยการนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติ ต่อไป
2. รับโอนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือ มอเตอร์เวย์ หมายเลข 7 (กรุงเทพฯ-ชลบุรี สายใหม่) และทางหลวงพิเศษ หมายเลข 9 (วงแหวนรอบนอกฯด้านตะวันออก) ของกรมทางหลวง รวมเข้าเป็นภารกิจของ กทพ. และอยู่ในการบริหารของ กทพ. เพื่อจะใช้ระบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางระบบเดียวกัน ทำให้สามารถเชื่อมโยงเส้นทางกันได้ ประชาชนได้รับความสะดวก และทำให้ กทพ. มีรายได้และมีกำไรมากขึ้น การรับโอนทางหลวงพิเศษฯ ทั้ง 2 สายนี้ จะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา แล้วออกเป็นพระราชกฤษฎีกาแก้ไขบทบัญญัติให้สอดคล้องการโอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งจะใช้เวลาดำเนินการไม่เกิน 3 เดือน และการรับโอนทางหลวงพิเศษฯ ดังกล่าว จะรับโอนพนักงานทั้งหมด ทั้งพนักงานเก็บเงินค่าผ่านทาง และพนักงานบำรุงทางด้วย
3. ให้ กทพ. รับแนวคิดในการพัฒนา หรือปรับปรุงกิจการต่างๆ โดยให้ กทพ. คำนึงถึงประชาชน หรือลูกค้าที่ใช้บริการทางด่วนเป็นศูนย์กลาง เป็นหลักสำคัญ ให้พิจารณาว่าลูกค้าจะได้รับบริการที่สะดวก คุ้มค่า และปลอดภัย หรือไม่/เพียงใด/อย่างไร เช่น แผนการแก้ไขปัญหาทางกายภาพของทางพิเศษซึ่งประกอบด้วย
3.1 เรื่องการจัดเก็บค่าผ่านทาง ถ้าเป็นไปได้ให้พิจารณาใช้เป็นระบบเดียวกัน
3.2 การแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบนทางพิเศษ ได้แก่
- เร่งรัดให้มีการก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 สายใต้ ตอน S1 (อาจณรงค์-บางนา) ซึ่งเป็น ทางด่วนที่จะเชื่อมทางด่วน สาย บางนา-บางพลี-บางปะกง กับทางด่วนอาจณรงค์-รามอินทรา เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในระยะเร่งด่วน โดยให้เริ่มและเร่งทำการก่อสร้าง (ครม.มีมติให้ก่อสร้างเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546) และให้ก่อสร้างแล้วเสร็จเร็วขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2547 (แต่เดิมมีกำหนดให้แล้วเสร็จในเดือนมกราคม 2548) เพื่อรองรับการจราจรในช่วงเทศกาลปีใหม่ และรองรับการเปิดบริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิด้วย
3.3 การแก้ไขปัญหาทางพิเศษที่ยังไม่เต็มประสิทธิภาพ ได้แก่
- ให้มีการศึกษาเพื่อขยายโครงข่ายทางด่วน เพื่อดึงดูดให้มีผู้ใช้เส้นทางเพิ่มขึ้น เช่น การขยายเส้นทางด่วนพิเศษตามแนวทางรถไฟจากบางซื่อผ่านสะพานพระราม 6 เชื่อมต่อกับทางยกระดับบรมราชชนนี ในเขตตลิ่งชัน ระยะทาง 14 กิโลเมตร ทำให้ทางยกระดับบรมราชชนนีใช้ประโยชน์ได้คุ้มค่ามากขึ้น
4. ให้ กทพ.ดำเนินการปรับปรุงคุณภาพในส่วนต่างๆ ดังนี้
4.1 ระบบบริหารการจัดการให้ทันสมัยตลอดเวลา และใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม
4.2 ทำการปรับปรุงคุณภาพการบริการ ได้แก่ การปรับปรุงทางขึ้น-ลง เชื่อมถนนให้เป็น loop ให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดความคล่องตัวของการจราจร ประชาชนได้ใช้เส้นทางมากขึ้น ระบบการจัดเก็บค่าผ่านทางอาจจะต้องใช้ระบบอัตโนมัติระบบเดียว มีระบบคิดที่ง่าย สะดวก และประหยัดสำหรับประชาชน
4.3 มีการพัฒนาสายทางซึ่งถือเป็นผลผลิต (product) ในความรับผิดชอบให้มีทัศนียภาพที่ สวยงาม มีสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยให้แต่งตั้งคณะทำงานชุดพิเศษ เพื่อทำหน้าที่พัฒนาปรับปรุงพื้นที่โดยรอบ และใต้ทางด่วนให้มีความสะอาด สวยงาม มีทัศนียภาพที่ดีมีการใช้สอยและใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า โดยรัฐบาลจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการให้ ทั้งนี้เพื่อเตรียมพร้อมที่จะรับการประชุม APEC ที่จะมีขึ้นในประเทศไทยในเดือนตุลาคม 2546 นี้
พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำว่า รัฐบาลต้องบริหารความต่อเนื่องและมีความพยายามที่จะแก้ไขปรับปรุง กทพ.ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชน ให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด และกทพ.เองก็สามารถอยู่ได้ ทั้งนี้เพราะ กทพ.เป็นองค์กรที่ดีที่สามารถให้บริการที่ดีแก่ประชาชน อีกทั้งยังสามารถขยายการบริการได้อย่างต่อเนื่องพอสมควร อาทิ การขยายเส้นทางไปในพื้นที่ที่ยังไม่มีทางด่วน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่นั้นๆ ได้มีโอกาสใช้ทางด่วน เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเดินทาง หรือจะต้องมีการปรับปรุง/เพิ่มการสร้างทาง ซึ่งจะต้องสร้างให้เป็น loop เชื่อมโยงให้มากที่สุด เพื่อให้ประชาชนมีอิสระในการเลือกใช้เส้นทาง เปลี่ยนเส้นทาง และการลงทุนในการก่อสร้างให้เป็น loop นี้จะใช้เงินลงทุนอีกไม่มากเกินไป--จบ--
-นท/พห-
การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) รวมพลังมวลชนสร้างประวัติศาสตร์! กว่า 12,000 คนในกิจกรรมเดิน-วิ่งลอยฟ้า มหกรรมสุขเต็มสิบ บนสะพานทศมราชัน แสดงความสามัคคีและเฉลิมฉลองการเปิด "สะพานทศมราชัน" ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โอกาสครั้งเดียวในการสัมผัส และบันทึกความทรงจำบนสะพานแห่งความภาคภูมิใจของคนไทย ก่อนเปิดใช้งานจริงในวันที่ 29 มกราคม 2568 นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวในนามการทางพิเศษฯ "ขอขอบคุณประชาชนคนไทยทั่วประเทศ และชาวต่างชาติทุกท่าน ที่มาร่วมบันทึกความทรงจำในกิจกรรม
กรุงเทพฯ--14 มี.ค.--ศูนย์ ปชส.กระทรวงคมนาคม พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะ ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ร่วมกับ นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังโดยมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ...
กรุงเทพฯ--25 ธ.ค.--ศูนย์ ปชส. กระทรวงคมนาคม นายอดิศักดิ์ ภู่วราวุฒิพานิช รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมชุดเฉพาะกิจประสานแผนการจัดการถนน สายทาง เพื่ออำนวยความสะดวกปลอดภัยแก่ประชาชน...
กรุงเทพฯ--12 พ.ย.--ศูนย์ ปชส. กระทรวงคมนาคม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ร่วมกับ นายพิเชษฐ สถิรชวาล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายอดิศักดิ์ ภู่วราวุฒิพานิช...