กรุงเทพฯ--12 พ.ย.--ศูนย์ ปชส. กระทรวงคมนาคม
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ร่วมกับ นายพิเชษฐ สถิรชวาล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายอดิศักดิ์ ภู่วราวุฒิพานิช รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงคมนาคม โดยมี นายเผชิญ ไพโรจน์ศักดิ์ รองผู้ว่าการฝ่ายวิชาการ รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และผู้บริหารระดับสูงให้การต้อนรับ และบรรยายสรุปภารกิจการดำเนินงาน เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2545 ณ อาคารสำนักงานฯ ถนนพหลโยธิน กรุงเทพมหานคร
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังรับฟังบรรยายสรุปว่า การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งแต่เดิมสังกัดกระทรวงมหาดไทย และโอนมาอยู่ในสังกัดกระทรวงคมนาคม หลังจากมีการปฏิรูประบบการบริหารราชการแผ่นดิน จึงได้ถือโอกาสมาตรวจเยี่ยม และจากการรับฟังการบรรยายสรุปได้รับทราบข้อมูลพอสมควรจากผู้บริหารของ กทพ. จึงมอบหมายให้ กทพ.ดำเนินการ ดังนี้
1.ศึกษาหาแนวทางเพื่อให้มีผู้มาใช้ทางด่วนที่เปิดบริการแล้วอย่างเต็มประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพราะในปัจจุบัน มีปริมาณผู้มาใช้ทางด่วนในอัตราที่แตกต่างกันมาก ได้แก่
- ทางด่วนขั้นที่ 1 หรือเรียกว่าทางพิเศษเฉลิมมหานคร มีผู้ใช้ทาง 90% (รถใช้บริการประมาณ 360,000 คัน/วัน ในขณะที่ ทางด่วนรองรับได้ 400,000 คัน/วัน)
- ทางด่วนขั้นที่ 2 หรือเรียกว่าทางพิเศษรีรัช มีผู้ใช้ทาง 56%
- ทางพิเศษฉลองรัช (รามอินทรา-พระราม 9-อาจณรงค์) มีผู้ใช้ทาง 29%
- ทางพิเศษอุดรรัถยา (บางปะอิน-เชียงราก-ปากเกร็ด) มีผู้ใช้ทาง 17%
- ทางพิเศษบูรพาวิถี (บางนา-บางพลี-บางปะกง-ชลบุรี) มีผู้ใช้ทางเพียง 11%
เนื่องจากรัฐบาลได้ลงทุนไปเป็นจำนวนพอสมควร เพื่อจะสร้างทางให้ประชาชนใช้บริการในการเดินทาง และในการขนส่งสินค้า โดยได้รับความสะดวกและรวดเร็ว แต่ปรากฏว่าการใช้ทางด่วนมีอัตราการใช้ที่แตกต่างกัน บางเส้นทางมีอัตราการใช้ที่ต่ำมาก ๆ บางเส้นทางมีอัตราการใช้มากจนเกิดการติดขัด เนื่องจากบางจุดของเส้นทางมีลักษณะเป็นคอขวด จึงได้มอบหมายให้ กทพ. เร่งศึกษาหาแนวทาง และวิธีการแก้ไขทั้งปัญหาความแออัดในระหว่างทางเชื่อม หรือจุดตัดต่างๆ ของทางด่วนขั้นที่ 1 ที่มีอัตราการใช้มากถึง 90% แต่ทางด่วนเส้นทางอื่นๆ ยังมีอัตราการใช้ที่ต่ำมาก เช่น 17% และ 11% และเมื่อ กทพ. ศึกษาแล้วเสร็จให้รีบรายงานให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมทราบและพิจารณาต่อไป
2. เร่งรัดให้มีการก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 สายใต้ ตอน S1 (อาจณรงค์-บางนา) เป็นทางด่วนที่จะเชื่อมทางด่วน สายบางนา-บางพลี-บางปะกง กับทางด่วน อาจณรงค์-รามอินทรา เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในระยะเร่งด่วน
แต่เดิมโครกการนี้มีปัญหาเนื่องจากได้มีการตั้งราคาค่าก่อสร้างต่อ Unit ไว้ค่อนข้างสูง คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) จึงได้มีมติให้ปรับลดลง รวมทั้งปรับลดรายละเอียดรูปแบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีมติให้ความเห็นชอบให้ก่อสร้างเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2545 โดย กทพ. สามารถปรับลดค่าก่อสร้างในทางเรขาคณิตของทางยกระดับ บริเวณทางโค้งที่จุดปลายของทางพิเศษฉลองรัช ซึ่งเดิมออกแบบเผื่อไว้เพื่อข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปบางกระเจ้า แต่ได้ยกเลิกไปแล้ว ลดจำนวนอาคารด่านเก็บค่าผ่านทาง ปรับพื้นที่ใช้สอย ปรับลดค่างานและค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ทำให้ปรับลดงบประมาณค่าก่อสร้างจากเดิมที่ตั้งไว้ 3,595 ล้านบาท ให้ลดลงเหลือ 2,840 ล้านบาท เท่ากับปรับลดลงได้ 753 ล้านบาท และให้ก่อสร้างได้โดยใช้เงินงบประมาณการก่อสร้างจากเงินกู้ปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2546 และเมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถบรรเทาการจราจร โดยรถบรรทุกที่วิ่งมาจาก Eastern Seaboard จะสามารถใช้ทางด่วนเส้นนี้ได้
3. เร่งดำเนินการจัดทำแผนงาน 5 ปี เพื่อแก้ไขปัญหาและเสริมสภาพคล่องของ กทพ. เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรี ต่อไป
4. ศึกษาหาแนวทางหรือวิธีการเพิ่มรายได้จากอสังหาริมทรัพย์ ที่ กทพ. มีอยู่ ได้แก่พื้นที่เขตทางพิเศษ
5. กรณีข้อพิพาทและคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ตามสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนสายบางนา-บางพลี-บางปะกง โดย กทพ. ต้องชดเชยค่าเสียหาย (เป็นจำนวน 6,200 ล้านบาท) ให้แก่กิจการร่วมค้าบีบีซีดี ขณะนี้มีความคืบหน้า แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ
- เรื่องอยู่ในการะบวนการยุติธรรม โดยได้มีการยื่นเรื่องอยู่ในทั้งศาลแพ่งและศาลปกครองคือ กทพ. ไม่เห็นด้วยกับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการและเห็นว่าเป็นเรื่องคดีปกครอง จึงได้ยื่นให้ศาลปกครองพิจารณา ส่วนเอกชนคู่กรณีไม่เห็นด้วยกับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ และเห็นว่าเป็นเรื่องของทางแพ่ง จึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง
- ในเรื่องการสืบสวนสอบสวนวินัยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้กระทรวงคมนาคมได้ แต่งตั้ง นายบรรเจิด อภินิเวศ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้คำปรึกษากฎหมาย เป็นประธานการสอบสวนฯ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวย้ำว่า การดำเนินการแก้ไขปัญหาต่างๆ กระทรวงคมนาคมและ กทพ. จะไม่ผลักภาระให้กับประชาชนผู้ใช้ทางด่วนอย่างแน่นอน แต่จะอำนวยความสะดวกและเพิ่มทางเลือกในการใช้เส้นทางเลี่ยงเพื่อลดเวลาในการเดินทาง และแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด โดยเฉพาะบริเวณท่าเรือคลองเตย โดย ตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2545 -21 ธันวาคม 2545 กทพ. จะทดลอดจัดเก็บค่าผ่านทางพิเศษ สำหรับผู้ที่เลือกใช้ทางเลี่ยงจากดินแดง- บางนา และจากบางนา-ดินแดง (เฉพาะรถยนต์ 4 ล้อ เท่านั้น) ในอัตราคันละ 40 บาท ทั้งเที่ยวไปและเที่ยวกลับ จากเดิมที่ทดลองจัดเก็บในอัตรา 65 บาท และ 55 บาท ตามลำดับ ระหว่างวันที่ 23 กันยายน 2545-6 พฤศจิกายน 2545--จบ--
-ปส-
การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) รวมพลังมวลชนสร้างประวัติศาสตร์! กว่า 12,000 คนในกิจกรรมเดิน-วิ่งลอยฟ้า มหกรรมสุขเต็มสิบ บนสะพานทศมราชัน แสดงความสามัคคีและเฉลิมฉลองการเปิด "สะพานทศมราชัน" ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โอกาสครั้งเดียวในการสัมผัส และบันทึกความทรงจำบนสะพานแห่งความภาคภูมิใจของคนไทย ก่อนเปิดใช้งานจริงในวันที่ 29 มกราคม 2568 นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวในนามการทางพิเศษฯ "ขอขอบคุณประชาชนคนไทยทั่วประเทศ และชาวต่างชาติทุกท่าน ที่มาร่วมบันทึกความทรงจำในกิจกรรม
กรุงเทพฯ--14 มี.ค.--ศูนย์ ปชส.กระทรวงคมนาคม พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะ ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ร่วมกับ นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังโดยมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ...
กรุงเทพฯ--25 ธ.ค.--ศูนย์ ปชส. กระทรวงคมนาคม นายอดิศักดิ์ ภู่วราวุฒิพานิช รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมชุดเฉพาะกิจประสานแผนการจัดการถนน สายทาง เพื่ออำนวยความสะดวกปลอดภัยแก่ประชาชน...
กรุงเทพฯ--12 พ.ย.--ศูนย์ ปชส. กระทรวงคมนาคม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ร่วมกับ นายพิเชษฐ สถิรชวาล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายอดิศักดิ์ ภู่วราวุฒิพานิช...