กรุงเทพฯ--22 พ.ค.--กทม.
นายธวัชชัย กำลังงาม รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงโครงการรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ในการประชุมผู้บริหารสำนักเทศกิจและฝ่ายเทศกิจเขต เมื่อวันที่ 20 พ.ค.46 ณ ห้องประชุมสำนักเทศกิจ ว่า ปัจจุบันประชาชนในกรุงเทพมหานครต้องประสบกับปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อันเนื่องมาจากมิจฉาชีพและอาชญากรในเกณฑ์ที่สูง สาเหตุประการหนึ่งคือ พื้นที่กรุงเทพมหานครมีจุดเสี่ยงอันตรายอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น สถานที่เปลี่ยวบริเวณใต้สะพาน สะพานลอย ซอยเปลี่ยวหรือสถานที่ที่ขาดแสงสว่าง อาคารร้าง เป็นต้น สำนักเทศกิจจึงได้จัดทำโครงการรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินของประชาชน เพื่อให้ประชาชนชาวกรุงเทพมหานครมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมากขึ้น ตระหนักถึงภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นแก่ตนเองและผู้อื่น โดยจะทำการสำรวจจุดอันตราย จุดเสี่ยงภัย สถานที่เปลี่ยว หรือบริเวณที่มีการก่ออาชญากรรมบ่อยครั้งภายใน 1 สัปดาห์ต่อจากนี้ เพื่อกำหนดเป็นจุดตรวจถาวรติดตั้งตู้เขียวให้เจ้าหน้าที่ลงเวลาการตรวจ โดยจะวางระบบการดำเนินการตลอด 24 ชั่วโมงเป็นประจำทุกวัน และเป็นตู้รับเรื่องราวร้องทุกข์จากประชาชนด้วย พร้อมทั้งจัดรถยนต์สายตรวจ สายตรวจจักรยานยนต์ สายตรวจจักรยาน และสายตรวจเดินเท้าออกตรวจตราดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทั่วพื้นที่ จัดตั้ง "หน่วยอาสาสมัครระวังภัย"ในแต่ละชุมชน เพื่อตรวจตราดูแลความปลอดภัยของคนในชุมชนกันเองและแจ้งเบาะแสข้อมูลอาชญากรรมและบุคคลที่ต้องสงสัยให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่ตำรวจทราบ จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจร่วมกับทางตำรวจและผู้นำชุมชน ตามโครงการ 3 ประสาน ออกตรวจตรา ดูแลตามบริเวณป้ายรถประจำทาง ห้างสรรพสินค้า ย่านธุรกิจการค้า ร้านค้าทอง และธนาคาร ทั้งนี้ทุกสำนักงานเขตจะต้องรายงานผลการดำเนินการให้สำนักเทศกิจทราบภายในวันที่ 5 ของทุกเดือน เพื่อทางสำนักเทศกิจจะ รวบรวมข้อมูลผลการดำเนินการรวมทั้งประเมินผลการดำเนินการรายงานกรุงเทพมหานครทราบเป็นประจำทุกเดือนต่อไป โครงการดังกล่าวคาดว่าจะลดโอกาสการก่ออาชญากรรมร้ายแรงในที่สาธารณะอย่างน้อยร้อยละ 80 และลดคดีอาชญากรรมทั่วไปได้ร้อยละ 90 ในทุกพื้นที่เขตทั่วกรุงเทพมหานคร
นอกจากนี้รองปลัดกรุงเทพมหานคร ยังได้แจ้งในที่ประชุมเรื่องการแก้ไขปัญหาช้างเรร่อนในพื้นที่กรุงเทพมหานครว่าสืบเนื่องจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง ห้ามมิให้นำช้างเร่ร่อนเข้ามาเลี้ยงหรือปล่อยในเขตกรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 11 เม.ย.46 โดยมีใจความว่า "โดยที่ปรากฏว่ามีผู้นำช้างเข้ามาเร่ร่อนในเขตกรุงเทพมหานคร ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ หลายประการและไม่เหมาะสมต่อสภาพความเป็นอยู่ของช้าง จึงอาศัยอำนาจตามความในข้อ 7 แห่งข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องการควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ.2545 จึงห้ามมิให้นำช้างเข้ามาเลี้ยงหรือปล่อยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ยกเว้นช้างที่เลี้ยงไว้ในสวนสัตว์ดุสิต หรือนำเข้ามาเพื่อรักษาโรคเจ็บป่วย หรือสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค หรือเพื่อกิจกรรมใด ๆ ตามเงื่อนไขที่กรุงเทพมหานครกำหนด" ดังนั้น จึงขอให้ทุกสำนักงานเขตตรวจตราและรายงานผลการดำเนินการกับผู้ฝ่าฝืน รวมถึงสถานที่ที่ควาญช้างอาศัยอยู่ให้สำนักเทศกิจทราบ ภายในวันที่ 20 ของทุกเดือน เพื่อรวบรวมและรายงานผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต่อไป--จบ--
-นห-