กรุงเทพฯ--29 ต.ค.--กทม.
เมื่อวานนี้ (28 ต.ค. 45) ที่ศาลาว่าการกรงเทพมหานคร นพ.อุดมศักดิ์ สังฆ์คุ้ม รองปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นพ.เอี่ยม วิมุติสุนทร รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอนามัย และ นางสาวอัญชลี ปัทมาสวรรค์ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย ร่วมกันแถลงข่าว "พบกันจันทร์ละหน คนกับข่าว" เรื่อง โรคที่มีผลกระทบจากน้ำท่วม และการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรค ไข้เลือดออกในกรุงเทพมหานคร ปี 2545
นพ.เอี่ยม กล่าวว่า ในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมาโรคติดต่อซึ่งเป็นผลกระทบจากน้ำท่วมที่พบมากในประชาชนชาวกทม. คือ โรคตาแดง มีผู้ป่วยประมาณ 8,300 ราย อย่างไรก็ตามขณะนี้การระบาดของโรคตาแดงได้ลดลงมากและอยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมได้แล้ว , โรคอุจาจาระร่วงอย่างแรง 33 ราย และโรคเลปโตสไปโรซีส หรือโรคฉี่หนู 6 ราย สำหรับการปฏิบัติตนนั้น ควรเอาใจใส่ เรื่องความสะอาดของน้ำและอาหารเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันโรคอุจจาระร่วง รวมถึงควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนหยิบจับอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ นอกจากนี้บริเวณที่มีขยะมูลฝอยตกค้างอยู่ควรใช้ปูนขาวโรยเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวัน น้ำใช้ที่ไม่แน่ใจในความสะอาดควรใส่ผงปูนคลอรีน 1 ช้อนกาแฟต่อน้ำ 10ปี๊บ
นพ.เอี่ยม กล่าวต่อไปว่า โรคตาแดงเป็นโรคที่ติดต่อได้ง่ายโดยการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย และแมลงวันหรือแมลงหวี่ก็เป็นพาหะที่ทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นได้ ดังนั้นควรป้องกันโรคตาแดงโดยการล้างมือล้างหน้าด้วยสบู่ให้สะอาดอยู่เสมอ ส่วนโรค ไข้ฉี่หนู เป็นอีกโรคหนึ่งที่อาจแพร่ระบาดในช่วงหลังน้ำท่วม เชื้อโรคจะอยู่บนพื้นที่ชื้นแฉะจะเข้าสู่ร่างกายทางแผล ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสพื้นที่ชื้นแฉะหรือน้ำที่ขังอยู่บนพื้น ถ้ามีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ปวดกล้ามเนื้อรุนแรง โดยเฉพาะที่โคนขาและน่อง ควรรีบปรึกษาแพทย์
นพ.เอี่ยม กล่าวด้วยว่า สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2544 มีผู้ป่วยจำนวน 16,734 ราย เสียชีวิต 25 ราย ส่วนในปี 2545 (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 21 ตุลาคม 2545) มีผู้ป่วยจำนวน 6,810 ราย และเสียชีวิต 4 ราย แต่ระยะหลังน้ำลด คาดว่าอาจมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นถ้าขาดการดูแลกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย จึงขอความร่วมมือประชาชนเก็บกวาดขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูลที่มากับน้ำให้เรียบร้อย ไม่ให้เป็นแหล่งหลบซ่อนและเพาะพันธุ์ของยุง แมลงวัน แมลงสาบ และหนู ซึ่งเป็นพาหะนำโรคต่างๆ นอกจากการทำความสะอาดบริเวณบ้านแล้ว กทม. จะจัดเป็นสัปดาห์รณรงค์ปลอดลูกน้ำยุงลาย ขึ้นในช่วงวันที่ 25 - 29 พ.ย. 45 รวมทั้งขอความร่วมมือประชาชนทุกครอบครัว ชุมชน โรงเรียน หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ในการกำจัดลูกน้ำยุงลายอย่างต่อเนื่องทุกๆ 7 วัน เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ลูกน้ำโตเป็นตัวยุง รวมถึงเปลี่ยนถ่ายน้ำในภาชนะ เช่น อ่างซีเมนต์ในห้องน้ำ แจกันดอกไม้ จานรองขาตู้กับข้าว ฯลฯ ส่วนอ่างปลูกบัวให้เลี้ยงปลาหางนกยูงเพื่อช่วยกินลูกน้ำยุงลาย เศษวัสดุเหลือใช้ ยางรถยนต์เก่า ควรเก็บทิ้งหรือทำลาย สำหรับภาชนะขังน้ำที่ไม่มีฝาปิดควรใส่ทรายเคลือบสารเคมีกำจัดยุงลายทุก 2 เดือน โดยสามารถขอรับได้จากศูนย์บริการสาธารสุขทั้ง 61 แห่ง--จบ--
-นห-