กรุงเทพฯ--29 ม.ค.--กทม.
ที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง เมื่อวานนี้ (28 ม.ค.46) เวลา 13.30 น. ดร.สหัส บัณฑิตกุล รองผู้ว่า ราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีมอบวุฒิบัตรสำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารในกรุงเทพฯ จำนวน 1,811 ราย ที่สำเร็จ การอบรมหลักสูตรการสุขาภิบาลอาหารของสำนักอนามัยกทม. โดยมี นพ.อุดมศักดิ์ สังฆ์คุ้ม รองปลัดกรุงเทพมหานคร นพ.เอี่ยม วิมุติสุนทร ผู้อำนวยการสำนักอนามัย น.ส.อัญชลี ปัทมาสวรรค์ และ นายวัชรา พรหมเจริญ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย ร่วมพิธี
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครตระหนักถึงความสำคัญของร้านอาหารเนื่องจากมีบทบาทอย่างมากต่อการดำรงชีวิตของคนกรุงเทพฯ เพราะวิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ ต้องเร่งรีบ และแข่งกับเวลา คนส่วนใหญ่ต้อง พึ่งพาร้านอาหาร บางคนต้องรับประทานอาหารนอกบ้านทั้ง 3 มื้อ ทั้งนี้หากร้านอาหารขาดจิตสำนึกที่ดี หวังแต่กำไรเป็นสำคัญโดย มิได้คำนึงถึงความสะอาด ปลอดภัยของอาหารอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคได้รับปัญหาความเจ็บป่วย เป็นปัญหาสาธารณสุขตามมาอย่างกว้างขวาง ประกอบกับกทม.ได้จัดเทศกาลอาหารรองรับการท่องเที่ยวต่อเนื่องติดกันมาหลายครั้ง ทำให้มีเงินไหลเข้าประเทศปีละหลายพันล้านบาท โดยเฉพาะในปี 2542 นักท่องเที่ยวได้ใช้จ่ายเป็นค่าอาหารเฉลี่ย 587 บาท/คน/วัน ในการนี้กรุงเทพมหานครจึงเข้ามาดูแลตรวจสอบสุขลักษณะ และส่งเสริมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการและผู้สัมผัสอาหาร โดยมีนโยบายส่งเสริมให้ร้านอาหารในกรุงเทพฯ เป็นร้านอาหารที่สะอาดถูกสุขลักษณะ ไม่มีการร้องเรียนที่อาจส่งผลกระทบต่อการภาพพจน์การท่องเที่ยวไทยและธุรกิจร้านอาหารได้
ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กล่าวว่า สำนักอนามัยได้จัดทำโครงการพัฒนาร้านอาหารสะอาดเพื่อให้ผู้ประกอบการร้านอาหารในกรุงเทพฯได้พัฒนายกระดับการสุขาภิบาลด้านสถานที่ กระบวนการเตรียมการประกอบ ปรุง และการจำหน่ายอาหาร ให้สะอาด ถูกสุขลักษณะ และปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยการอบรมให้ความรู้ความเข้าใจด้านการสุขาภิบาลอาหารต่อผู้ประกอบการและผู้สัมผัสอาหาร ซึ่งหากสามารถพัฒนามาตรฐานการสุขาภิบาลอาหารให้เป็นที่ยอมรับของผู้ใช้บริการได้ก็จะส่งเสริมธุรกิจให้มี ผลกำไร และจะนำไปสู่การยกระดับการประกอบอาชีพร้านอาหารให้ทัดเทียมมาตรฐานสากลต่อไปด้วย
สำหรับการจัดโครงการอบรมสุขาภิบาลให้แก่ผู้ประกอบการร้านอาหารครั้งนี้ เป็นไปตามเจตนารมย์ของข้อบัญญัติกทม. เรื่องสถานที่จำหน่ายอาหารและสถานที่สะสมอาหาร พ.ศ. 2545 กำหนดให้ผู้จำหน่ายอาหาร ผู้ปรุง และผู้ให้บริการทุกรายต้องผ่านการอบรมหลักสูตรการสุขาภิบาลอาหาร อย่างไรก็ดี หลังจากนี้ทางสำนักอนามัยจะมีการออกติดตามตรวจสอบ แนะนำ และประเมินผลการพัฒนายกระดับของร้านอาหารที่ผ่านการอบรม เพื่อให้การพัฒนามีความต่อเนื่องและยั่งยืนตลอดไป--จบ--
-นห-