กรุงเทพฯ--9 ต.ค.--กทม.
คณะกรรมการโยธาฯสภากทม.ตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคาร 16 ชั้นบริเวณถนนสุขุมวิท ทำเศษวัสดุตกใส่ทรัพย์สินของประชาชนเสียหาย เบื้องต้นเขตวัฒนาสั่งระงับการก่อสร้างแล้ว เพื่อให้แก้ไขให้ดีขึ้น
เมื่อวานนี้ ( 8 ต.ค.45 ) เวลา 10.00 น. คณะกรรมการการโยธาและสาธารณูปโภค สภากทม. นำโดยนายชัยวุฒิ จริยวิโรจน์สกุล ส.ก.เขตบางกะปิ ลงพื้นที่ตรวจสอบอาคารสูง 16 ชั้น ในซอยสุขุมวิท 55 (แยกซอยทองหล่อ 21) เนื่องจากได้มีการร้องเรียนว่า ระหว่างการก่อสร้างอาคารดังกล่าวมีเศษวัสดุตกหล่นใส่ทรัพย์สินของประชาชนเสียหาย โดยมี นายสุรเกียรติ ลิ้มเจริญ ผู้อำนวยการเขตวัฒนา นายอรุณ ตันฑ์กุลรัตน์ หัวหน้าฝ่ายโยธา และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องร่วมในการตรวจสอบ
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า อาคารสูง 16 ชั้นดังกล่าว เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ใช้สำหรับเป็นที่พักอาศัยและจอดรถยนต์ อย่างไรก็ตาม การเดินทางไปตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารดังกล่าวในวันนี้ เพื่อต้องการทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องราวที่ได้รับการร้องเรียน ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า สาเหตุที่มีเศษวัสดุตกหล่นใส่ทรัพย์สินของประชาชนเสียหายนั้น เนื่องจากไม่มีการป้องกันและไม่มีสิ่งปกคลุมอาคารที่ก่อสร้าง ในเบื้องต้นสำนักงานเขตวัฒนาได้มีประกาศคำสั่งให้ผู้ดำเนินการก่อสร้างระงับการก่อสร้าง ไปแล้ว ทั้งนี้บริษัทผู้ดำเนินการก่อสร้างจะต้องปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นก่อนจึงจะสามารถดำเนินการต่อไปได้ และหากยังไม่มีการดำเนินการตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ในวันพุธนี้ ( 9 ต.ค. 45 ) คณะกรรมการฯ อาจจะยื่นญัตติด้วยวาจา เรื่องความปลอดภัยและผลกระทบจากการก่อสร้างอาคารอาคาร เพื่อให้เป็นกรณีตัวอย่างสำหรับเขตอื่นๆ ด้วย เพราะไม่ต้องการให้เกิดเหตุเหมือนอย่าง ห้างเวลโก้ ถ.รามคำแหง เขตบางกะปิ ฯลฯ
ด้านนายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ โฆษกคณะกรรมการการโยธาและสาธารณูปโภค กล่าวด้วยว่า ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดจากการก่อสร้างเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานานแล้ว และเห็นควรให้มีการแก้ไขกฎหมายบางประการ ซึ่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 39 ทวิ นั้นเปิดช่องให้เจ้าของโครงการดำเนินการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายได้โดยไม่ต้องยื่นคำขออนุญาตจาก เจ้าพนักงานท้องถิ่น แต่ต้องเป็นไปตามแบบที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนด และถูกต้องตาม พ.ร.บ.ฯ, กฎกระทรวง และข้อบัญญัติฯท้องถิ่น นอกจากนี้มาตรา 39 ทวิ ยังติดขัดด้วยระยะเวลาของแบบที่ยื่นขออนุญาต และแบบที่อนุมัติ ทั้งนี้ สภากทม.เคยประชุมกันหลายครั้งแล้วว่าน่าจะมีการแก้ไข มาตราดังกล่าว ซึ่งมีทั้งข้อดี และข้อเสีย ข้อดีคือ อำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ข้อเสีย คือหากขั้นตอน หรือระยะเวลาดำเนินการของเจ้าหน้าที่ล่าช้าอาจทำให้เจ้าของโครงการได้รับความเสียหาย จึงควรเร่งรัดขั้นตอนการอนุมัติและอนุญาตของเจ้าหน้าที่ให้รวดเร็วขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายด้วยกันทั้งสองฝ่าย--จบ--
-นห-