กรุงเทพฯ--11 ก.ค.--กทม.
นางสาวอรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์ โฆษกสภากรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (10 ก.ค.45) เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานครได้มีการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 1 ครั้งที่ 2 ประจำปีพุทธศักราช 2545 โดยที่ประชุมได้มีการพิจารณาญัตติของนางผุสดี วงศ์กำแหง สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตราชเทวีและนายชัยวุฒิ จริยวิโรจน์สกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตบางกะปิ เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครเร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนโดยเร่งด่วน
นางผุสดี กล่าวว่า กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีประชาชนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น โดยเฉพาะบริเวณถนน ตรอก ซอย ซึ่งยังไม่ได้ยกให้เป็นที่สาธารณะ ประชาชนได้ร้องเรียนเรื่องปัญหาน้ำท่วมขัง สาเหตุมาจากท่อระบายน้ำมีสภาพเก่าและอุดตัน บางแห่งไม่มีท่อระบายน้ำ นอกจากนี้ประชาชนในหมู่บ้านจัดสรรบางแห่งยังได้รับความเดือดร้อนเรื่อง ไฟฟ้าแสงสว่าง ถนนชำรุด ฯลฯ สำหรับปัญหาดังกล่าวข้างต้นยังไม่ได้รับการแก้ไข จึงขอให้กรุงเทพมหานครแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน โดยยึดถือตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการพัฒนาทรัพย์สินที่ประชาชนทั่วไปใช้สอยร่วมกัน พ.ศ.2536 โดยเร่งด่วน
นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ตนจะนำเรื่องดังกล่าวไปสัมมนากับคณะผู้บริหาร ผู้อำนวยการเขตของกรุงเทพมหานครและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย เพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อไป และหลังจากได้ข้อสรุปแล้วจะนำเข้าหารือกับสมาชิกสภากรุงเทพมหานครอีกครั้ง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มีการพิจารณาญัตติของนายอภิชาติ หาลำเจียก สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตจตุจักร เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขหามาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก โดยประสานความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขในด้านงบประมาณ เครื่องมือ และบุคลากร ตลอดจนการมีส่วนร่วมของประชาชนจัดทำแผนการรณรงค์และลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยหวังผลให้อัตราการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกลดน้อยลง สำหรับญัตติดังกล่าวได้มีสมาชิกสภากทม.อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งส่วนใหญ่ต้องการที่จะให้กทม.สนับสนุนในเรื่องของน้ำยาฉีดยุง และเครื่องมือฉีดยุง
ดร.สหัส บัณฑิตกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาโรคไข้เลือดออกในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นั้น กทม.ได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชน นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก ซึ่งมี ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน และมีผู้อำนวยการสำนักอนามัย ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม.ร่วมเป็นกรรมการ โดยได้มีการประชุมกันทุกเดือน ตั้งแต่ พ.ศ.2542 เป็นต้นมา และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็ได้มีการประชุมพิเศษนอกรอบ จำนวน 3 ครั้ง รวมทั้งจัดกิจกรรมรณรงค์ร่วมกับชุมชน แจกสารเคมีฯ ทั่วพื้นที่ 50 เขต และจัดเวทีชาวบ้านเพื่อแสดงความคิดเห็น อีกด้วย แต่อย่างไรก็ดีอาจมีบางสิ่งที่ขาดหายไป ฝ่ายบริหารกทม.พร้อมจะรับไปแก้ไข ดูแลเป็นอย่างดี
ทั้งนี้ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบกับ 2 ญัตติดังกล่าว และจะนำเสนอฝ่ายบริหารพิจารณาดำเนินการต่อไป--จบ--
-นห-