กรุงเทพฯ--11 ธ.ค.--ดีแทค
ดีแทค ให้ความเห็น...กรณีศาลปกครองจะพิจารณาคดีการสรรหา กทช. ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับธุรกิจโทรคมนาคม เพื่อกฎกติกาที่เป็นธรรมและมีความเสมอภาค
นายพิทยาพล จันทนะสาโร ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ได้ให้ความเห็นว่า คำแถลงการณ์ของศาลปกครอง ในวันที่ 12 ธันวาคม เกี่ยวกับคดีการสรรหาคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) นั้น เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับธุรกิจโทรคมนาคม เพื่อให้ได้ผู้ที่จะมาตั้งกฎกติกาที่เป็นธรรมและมีความเสมอภาค เพราะว่าการตั้ง กทช.นั้น กฎหมายกำหนดว่าให้แล้วเสร็จภายใน 120 วันนับแต่ออกกฎหมายตั้งแต่ปี 2543 จนถึงวันนี้ นับว่าล่าช้าไปมากแล้ว ทำให้เกิดปัญหาในการบังคับใช้ กฎหมาย เพราะไม่มีผู้กำกับดูแล จึงควรเร่งรัดให้การจัดตั้ง กทช.เสร็จสมบูรณ์โดยเร็ว ซึ่งหากต้องเลือกรายชื่อบัญชีใหม่ อาจจะใช้วิธีการและขั้นตอนการสรรหาโดยการลงคะแนนเลือกเลย ไม่ต้องมีการให้คะแนนเป็นรอบๆเช่นวิธีการเดิม ซึ่งทำให้เกิดการล่าช้ามาก และถ้าการสรรหา กทช. ล่าช้าออกไปอีกจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมในภาพรวม เพราะ
-ไม่มีผู้แก้ปัญหาด้านกฎ ระเบียบ เช่น การออกใบอนุญาตใหม่ การจัดสรรความถี่ใหม่ ทำให้ต้องใช้เคเบิลใยแก้ว ซึ่งมีต้นทุนที่แพงขึ้น -ไม่มีการออกใบอนุญาตใหม่ ทำให้บริการเสริมชนิดใหม่ๆเกิดขึ้นไม่ได้
-ไม่มีการแก้ปัญหาเรื่องค่าเชื่อมเครือข่าย ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่และเป็นกรณีที่สาธารณชนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เป็นการบิดเบือนและไม่เอื้อต่อกลไกการแข่งขันเสรีตามกฎหมายโทรคมนาคม ทำให้ต้นทุนแพงกว่าที่ควรซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรม ปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญที่กระทบต่อการแข่งขันที่เท่าเทียม และกระทบต่อผลประโยชน์ของผู้บริโภค หากแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ เชื่อว่า ค่าบริการจะลดลงอีก เพราะผลจากการแข่งขันที่เท่าเทียม
นอกจากนั้นนายพิทยาพล ยังกล่าวย้ำถึงผลการประชุมให้ความเห็นเกี่ยวกับหลักการ แนวคิด และกรอบการแปรสัญญาฯ ของบริษัทในธุรกิจโทรคมนาคมที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ เป็นประธานในที่ประชุม ทั้งนี้จากการประมวลความคิดเห็นของผู้ร่วมประชุมอันประกอบไปด้วยคู่สัญญาร่วมการงานด้านกิจการโทรคมนาคม ต่างมีแนวความคิดเห็นที่คล้ายกันซึ่งพอจะสรุปประเด็นต่าง ๆ ได้ดังนี้
การแปรสัญญาฯ เพื่อส่งเสริมการแข่งขันในธุรกิจโทรคมนาคม ควรอยู่บนพื้นฐานที่เป็นธรรมและเสมอภาคแก่ผู้ประกอบการทุกรายให้สามารถแข่งขันได้อย่างเท่าเทียมกัน กล่าวคือทุกรายควรมีโครงสร้างต้นทุนในส่วนที่เป็นภาระต้องจ่ายแก่รัฐโดยเสมอภาค เพื่อความเป็นธรรมและความเสมอภาคในการแข่งขัน
ในส่วนของการปรับปรุงวิธีการคิดค่าเชื่อมเครือข่าย (inter-connecting charge/access charge) ซึ่งทางดีแทคและผู้ร่วมกิจการงานภายใต้สัญญาของ กสท. ทุกรายมีภาระที่แตกต่างจากผู้รับสิทธิ์รายอื่น รัฐมนตรี ไอซีทีได้มอบหมายให้ปลัดฯ รวมทั้ง ทศท. และ กสท.ไปหารือกันเพื่อนำข้อมูลมาเสนอต่อไป เพื่อหาวิธีการทำให้ส่วนนี้มีความเสมอภาคต่อผู้ประกอบการทุกราย
นอกจากนี้เอกชนผู้ร่วมประชุมเห็นพ้องต้องกันว่าบทบาทของผู้กำกับดูแล และบทบาทของรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทที่รัฐเป็นเจ้าของ ซึ่งเดิมเป็นผู้ให้สิทธิ์ ได้แก่ ทศท. และ กสท. ควรมีการแบ่งบทบาทใหม่ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีในตลาด ทั้งนี้อาจจะต้องมีวิธีการสนับสนุนกิจการของภาครัฐดังกล่าวในรูปของค่าชดเชย ซึ่งอาจแบ่งมาจากรายได้ที่นำส่งให้แก่รัฐจากบริษัทประกอบกิจการโทรคมนาคมทั้งหมด เพื่อให้ ทศท. หรือ กสท. สามารถนำไปลงทุนในกิจการที่เป็นสาธารณประโยชน์ที่ไม่มีกำไร แต่เป็นการนำความเจริญไปสู่ท้องถิ่นต่าง ๆ
ที่ประชุมยังเห็นว่าบทสรุปของการแปรสัญญา ควรจะส่งผลให้ทุกฝ่ายอันได้แก่ประชาชนทั่วไป ผู้ใช้บริการ และผู้ให้บริการ ได้รับประโยชน์อย่างเป็นธรรม เพื่อเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมให้เข้มแข็ง สามารถให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพแก่ประชาชน
ส่วนประเด็นในเรื่องผลประโยชน์ที่จะนำส่งแก่รัฐ ผ่านกระทรวงการคลังแทนวิธีการที่ใช้ในปัจจุบัน ซึ่งนำส่ง ทศท. และ กสท. นั้น ที่ประชุมต่างมีความเห็นตรงกันว่า เป็นเรื่องที่สามารถปฏิบัติได้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
Ponnana A.
Media Relations Dept.
Corporate Communications Office
Tel 0 2202 8000 #31887
Fax 0 2202 8859, 0 2202 8895
Mobile 0 1623 9895
e-mail:
[email protected] จบ--
-นห-