กรุงเทพฯ--2 ก.ค.--ปตท.
ปตท. ประสบความสำเร็จในการประดิษฐ์อุปกรณ์สำหรับขับรถยนต์ในห้องทดลองแทนมนุษย์ เพื่อทดสอบคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงสูตรใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการทดสอบและความปลอดภัยของผู้ทำการทดสอบ รวมถึงประหยัดค่าใช้จ่ายในการจ้างบุคลากรมาขับรถยนต์ทดสอบ
นายแสวง บุญญาสุวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. ประสบความสำเร็จในการประดิษฐ์อุปกรณ์สำหรับขับรถยนต์ชนิดเกียร์อัตโนมัติสำหรับใช้ทดสอบยานยนต์ในห้องปฏิบัติการแทนมนุษย์ ซึ่งให้ความผิดพลาดในการควบคุมความเร็วในการขับเฉลี่ยไม่เกิน 1% และให้ค่าความผิดพลาดในการทดสอบซ้ำ (Repeatability) ไม่เกิน 1% เช่นกัน ทั้งนี้หากเทียบเคียงกับการควบคุมการขับโดยมนุษย์จะมีความผิดพลาดสูงกว่า
นายแสวงกล่าวเพิ่มเติมว่า อุปกรณ์ดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่องานวิจัยของ ปตท. เป็นอย่างมาก เนื่องจาก สถาบันวิจัย ปตท. จะต้องทำการวิจัยและพัฒนาน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดใหม่ๆ ขึ้นมาเป็นระยะๆ ซึ่งน้ำมันดังกล่าว จำเป็นต้องมีการทดสอบในห้องปฏิบัติการ โดยจำลองการขับรถยนต์ให้เหมือนกับการขับบนสภาพถนนจริง ซึ่งใช้มนุษย์เป็นผู้ควบคุมการขับขี่ ทำให้อาจเกิดความผิดพลาดในการขับขี่เนื่องจากความเมื่อยล้า ดังนั้นการนำอุปกรณ์ขับรถยนต์ชิ้นนี้มาใช้ทดแทนการขับโดยมนุษย์ จึงเกิดประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากอุปกรณ์ดังกล่าว ถูกออกแบบให้สามารถควบคุมความเร็วรถยนต์ โดยการใช้การควบคุมที่คันเร่งของรถยนต์ และตอบสนองต่อความเร็วรถยนต์จากค่าของสัญญาณความเร็วที่วัดได้จากระบบการวัดภายในห้องทดสอบ ซึ่งอุปกรณ์ต่างๆ ประกอบไปด้วย อุปกรณ์ที่ใช้ควบคุมคันเร่ง และอุปกรณ์การสั่งควบคุมคันเร่ง โดยมีซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ เป็นส่วนประมวลผลและควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ทั้งหมด
สำหรับค่าใช้จ่ายในการคิดค้นและพัฒนาอุปกรณ์ชิ้นนี้ ประมาณ 100,000 บาท ซึ่งเมื่อเทียบกับการจ้างพนักงานควบคุมการขับขี่ จะต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 80,000 บาท ต่อการวิจัยหนึ่งครั้ง อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์ชิ้นนี้ยังสามารถใช้ประโยชน์ในการวิจัยครั้งต่อๆไปได้อีก ซึ่งนับว่าเป็นประดิษฐ์กรรมที่ ปตท.ภาคภูมิใจและก่อให้เกิดประโยชน์ต่องานวิจัยของ ปตท. รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายให้แก่องค์กรอีกทางหนึ่ง--จบ--
-สส-