กรุงเทพฯ--16 ก.ค.--ปตท.
วันนี้ (15 กรกฎาคม 2545) เวลา 10.30 น. ณ สำนักงานใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจในโครงการวิจัยและศึกษาผลกระทบการใช้ E-Diesel (Ethanol Diesel) หรือ เอทานอลผสมน้ำมันดีเซล ระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (สวทช.) กรมควบคุมมลพิษ และ Akzo Nobel Surface Chemistry AB ประเทศสวีเดน โดยมี นายแสวง บุญญาสุวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สถาบันวิจัยและเทคโลยี ปตท. ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ผู้อำนวยการ สวทช. ดร. สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และ Mr. Raymond Hurley, General Manager, Akzo Nobel Surface Chemistry Pte Ltd. ประเทศสิงคโปร์ ร่วมลงนาม
โครงการวิจัยครั้งนี้ เป็นความร่วมมือของหน่วยงานดังกล่าว โดยขอบข่ายงานจะครอบคลุมการศึกษาวิจัยคุณสมบัติของน้ำมัน E-Diesel ซึ่งเป็นพลังงานทางเลือกที่สะอาดจากพืชเกษตรและใช้กันแพร่หลายในทวีปยุโรปและอเมริกา อย่างไรก็ดี การใช้ E-Diesel ต้องมีการเติมสารเติมแต่งคุณภาพเชื้อเพลิง (Fuel Additive) เพื่อช่วยเพิ่มคุณสมบัติในการทำให้น้ำมันดีเซลและแอลกอฮอล์ผสมกันได้ดี และยังทำหน้าที่เป็นสารหล่อลื่นในขณะเดียวกันด้วย ซึ่งในโครงการวิจัยครั้งนี้ ได้ใช้สารเติมแต่งที่มีชื่อเฉพาะว่า Beraid ED10 ผลิตโดยบริษัท Akzo Nobel Surface Industry ในสัดส่วน ส่วน 1%, 1.5% และ 2% ผสมกับน้ำมันดีเซลในสัดส่วน 89%, 88.5% และ 88% ตามลำดับ และผสมกับเอทานอลบริสุทธิ์10% นำมาทดสอบ เพื่อศึกษาผลกระทบต่อสมรรถนะเครื่องยนต์ คุณภาพมลพิษไอเสีย อัตราเร่งเครื่องยนต์ การสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงและความทนทานของชิ้นส่วนเครื่องยนต์
นายแสวง เปิดเผยว่า การทดสอบจะใช้กับเครื่องยนต์ในห้องทดลองและในรถยนต์จริงบนถนนทั้งในเมืองและนอกเมือง โดยมีระยะเวลาศึกษาประมาณ 1ปี เพื่อให้ได้ข้อมูลและผลกระทบทางด้านเทคนิคที่มีต่อเครื่องยนต์ดีเซล และนำมาพัฒนาคุณสมบัติเชื้อเพลิง E-Diesel และวัสดุยานยนต์ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับรถยนต์ดีเซล ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการนำไปใช้กำหนดเป็นมาตรฐานคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงผสมเอทานอลของกระทรวงพาณิชย์ต่อไป
อนึ่ง ปตท. และ สวทช. ยังมีการร่วมมือในโครงการศึกษาวิจัยพลังงานทางเลือกอื่นๆ เช่น ความร่วมมือกับบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ สหรัฐอเมริกา เพื่อทำการศึกษาวิจัยการใช้ดีโซฮอล์ หรือน้ำมันดีเซลผสมกับเอทานอล 10% ในรถยนต์ฟอร์ด เรนเจอร์ ซึ่งครอบคลุมการทดสอบสมรรถนะของเครื่องยนต์ การทดสอบคุณภาพมลพิษจากไอเสีย และการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น ซึ่งอยู่ในระหว่างการวิจัย นอกจากนี้ ปตท. ได้สนองพระราชดำริด้วยการร่วมมือกับโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ทำการวิจัยพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดีเซลปาล์มบริสุทธิ์ ซึ่งสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันดีเซลได้และถูกต้องตามข้อกำหนดของกระทรวงพาณิชย์ ทั้งนี้ การร่วมมือในงานวิจัย E-Diesel นี้จึงเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมนโยบายของรัฐในการนำเอทานอลมาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์ของประเทศต่อไปในอนาคต--จบ--
-สส-