กรุงเทพฯ--24 ก.ย.--สกว.
หวั่นกุ้งไทยโดนตลาดโลกแบนต้นเหตุทำลายสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษเดินหน้าให้ความรู้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งจัดการระบบบำบัดน้ำทิ้งอย่างถูกวิธี เพื่อให้กุ้งไทยเป็นอาชีพหลักที่ทำรายได้ให้กับประเทศต่อไป คาดหวังการเพาะเลี้ยงกุ้งสามารถดำเนินไปได้ยั่งยืนภายใต้กฎกติกาสากล
นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ประเทศไทยส่งออกกุ้งทะเลจากการเพาะเลี้ยงเป็นอันดับหนึ่งของโลกมาตั้งแต่ปี 2534 จนถึงปัจจุบัน โดยในปี 2544 ได้ส่งออกกุ้งสดแช่แข็งปริมาณถึง 144,604 ตัน คิดเป็นมูลค่าถึง 54,745 ล้านบาท ทั้งนี้เมื่อรวมกับกุ้งกระป๋อง กุ้งปรุงแต่ง จะทำให้มูลค่าผลผลิตกุ้งที่ส่งออกมีมูลค่าถึง 98,251 ล้านบาท ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันรักษาผลผลิต รวมทั้งมูลค่าการส่งออกนี้ไว้ให้ได้ แต่อย่างไรก็ดีธุรกิจการเลี้ยงกุ้งก็ได้ประสบปัญหาที่มีการตรวจพบยาต้านจุลชีพตกค้างในกุ้งสดแช่เย็น ได้แก่ ไนโตรฟูแรน และคลอแรมฟินิคอล เมื่อต้นปี 2545 และเคยพบการตกค้างของออกซิเตตราซัยคลิน และออกโซลินิคแอซิค ในปี 2534 ซึ่งปัญหาดังกล่าวทำให้ผู้ซื้อจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปเข้มงวดกับสินค้ากุ้งของประเทศมากขึ้น และหากตรวจพบอีกก็จะสั่งห้ามนำกุ้งจากประเทศไทยเข้าไปจำหน่าย รวมทั้งแนวโน้มในปัจจุบันผู้ซื้อสินค้าได้เน้นหันมาบริโภคอาหารที่มีคุณภาพ ถูกสุขอนามัย ปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งประเด็นดังกล่าวคาดว่าอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกีดกันทางการค้าได้ในอนาคต
เพื่อเป็นการแก้ปัญหาและเตรียมความพร้อมต่อปัญหาที่คาดว่าจะถูกใช้เป็นข้อกีดกันดังกล่าว หลายหน่วยงานได้พยามให้การช่วยเหลือเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการสั่งห้ามนำเข้าสารต้องห้ามของกระทรวงสาธารณสุข หรือการส่งเสริมระบบการเพาะเลี้ยงกุ้งตามแนวจรรยาบรรณ (Code of Conduct) ของกรมประมง ซึ่งในส่วนของกรมควบคุมมลพิษได้กำหนดมาตรฐานน้ำทิ้งจากบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ควบคุมไม่ให้น้ำทิ้งจากบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังมีคู่มือสำหรับให้ผู้เลี้ยงกุ้งนำไปปฏิบัติเพื่อจัดการให้น้ำทิ้งมีค่าเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด โดยเป็นวิธีปฏิบัติที่ลงทุนต่ำ และใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือที่มีอยู่ในฟาร์มโดยไม่ต้องลงทุนใหม่ ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวนอกจากจะเป็นประโยชน์ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ก็ยังเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยในภาพรวมอีกด้วย เนื่องจากจะสามารถลดปริมาณสารอาหารที่ตามปกติจะถูกปล่อยออกมาจากบ่อกุ้งออกสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น แอมโมเนีย ไนโตรเจนรวม ฟอสฟอรัสรวม ไฮโดรเจนซัลไฟด์ ทำให้ปัญหาคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมในบริเวณแหล่งน้ำธรรมชาติใกล้แหล่งเลี้ยงกุ้งบรรเทาลง รวมทั้งอาจทำให้ปัญหาการเกิดโรคระบาดลดความรุนแรงลง เนื่องจากคุณภาพน้ำที่นำมาใช้เลี้ยงดีขึ้นหรือมีน้ำให้เพียงพอต่อการใช้ภายในระบบการเลี้ยง
นายศิริธัญญ์ กล่าวต่อว่า การสร้างความเข้าใจและให้ความรู้กับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเกี่ยวกับการควบคุมปริมาณน้ำทิ้งให้อยู่ในค่ามาตรฐาน ก็เป็นมาตรการหนึ่งที่ต้องดำเนินไปพร้อมกัน ซึ่งขณะนี้กรมควบคุมมลพิษได้จัดทำสารคดีสั้น 2 นาทีเรื่อง "เพาะเลี้ยงเป็นมิตร ฟื้นชีวิตชายฝั่ง" ความยาว 10 ตอน ที่มีเนื้อหาครอบคลุมถึงสถานการณ์การเพาะเลี้ยงกุ้งในปัจจุบัน พร้อมทั้งทางออกสำหรับเกษตรกรในการจัดการบำบัดน้ำทิ้งในรูปแบบต่าง ๆ ตั้งแต่ระบบบำบัดน้ำทิ้งแบบผสมผสานระบบบำบัดน้ำทิ้งโดยใช้การกรองชีวภาพ ระบบบำบัดน้ำทิ้งโดยวิธีชีวภาพ และระบบบำบัดแบบการให้อากาศและการตกตะกอน โดยจะมีการยกตัวอย่างของเกษตรกรที่ประสบผลสำเร็จจากการนำระบบดังกล่าวมาใช้อีกด้วย
นอกจากสารคดีดังกล่าวที่จะออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไอทีวีประมาณเดือนพฤศจิกายนนี้แล้ว ขณะนี้กรมควบคุมมลพิษยังมีกิจกรรมการประกวดออกแบบโปสเตอร์ในหัวข้อเรื่อง "เพาะเลี้ยงเป็นมิตร ฟื้นชีวิตชายฝั่ง" โดยเชิญชวน นักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนทั่วไปร่วมออกแบบโปสเตอร์ขนาด A1 เพื่อใช้รณรงค์ให้เกษตรกรไทยเห็นความสำคัญของการบำบัดน้ำเสียในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (โดยเฉพาะผู้เลี้ยงกุ้ง) อันเป็นการป้องกันปัญหาน้ำเน่าเสียไหลลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ อันนำมาซึ่งการรักษาสมดุลของระบบนิเวศและทำให้การเพาะเลี้ยงสามารถดำเนินต่อไปอย่างยั่งยืน
สำหรับผู้สนใจสามารถส่งผลงานประกวดในรูปแบบภาพวาดตัวจริง หรือในรูปแบบ CD 1 แผ่น หรือดิสเก็ต พร้อม print out A4 มาที่ ตู้ ปณ. 2 ปทฝ.สนามเป้า กรุงเทพฯ 10406 หมดเขตวันที่ 15 ตุลาคม 2545 โดยผู้ชนะเลิศอันดับ 1 ในประเภทนักเรียนนักศึกษา และประชาชนทั่วไป จะได้รับเงินรางวัล 20,000 และ 30,000 บาท ตามลำดับ หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ 0-2298-0454 หรือ [email protected], [email protected] สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ประชาสัมพันธ์ โทร. 01-9108675 และฝ่ายเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
กรมควบคุมมลพิษ โทร 02 2982082 - 4 โทรสาร 02-2982085 http://www.pcd.go.th กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและ สิ่งแวดล้อม http://www.moste.go.th-- จบ-- -ศน-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit