กรุงเทพฯ--15 ม.ค.--กฟน.
นายชูศักดิ์ ชมจินดา ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ การไฟฟ้านครหลวง เปิดเผยว่า ในปี พ.ศ.2545 นี้ การไฟฟ้านครหลวง ( กฟน.) จะนำอัตราค่าไฟฟ้าตามช่วงเวลาของการใช้ (Time of Use Rate : TOU ) มาใช้ สำหรับ ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย ( ประเภท 1.2 )ที่มีการใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือนและมีขนาดเครื่องวัดฯเกิน 15 แอมแปร์ขึ้นไป และผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดเล็ก (ประเภท 2) ที่มีความต้องการพลังไฟฟ้าต่ำกว่า 30 กิโลวัตต์ ใช้ไฟฟ้าแรงดันต่ำกว่า 12,000 โวลต์ สามารถเลือกใช้ได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นแนวทางใหม่ในการเลือกใช้อัตราค่าไฟฟ้า
ตามปกติ อัตราค่าไฟฟ้าสำหรับบ้านอยู่อาศัยประเภท 1.2 และ ธุรกิจขนาดเล็ก จะเป็นค่าไฟฟ้าในลักษณะอัตราก้าวหน้า คือราคาต่อหน่วยจะสูงขึ้นตามปริมาณการใช้ กล่าวคือ 150 หน่วยแรก ราคาหน่วยละ 1.8047 บาท หน่วยที่ 151 - 400 ราคาหน่วยละ 2.7781 บาท เกินกว่า 400 หน่วย ราคาหน่วยละ 2.9780 บาท อัตราค่าไฟฟ้าประเภทนี้ หากผู้ใช้ไฟฟ้าใช้ไฟฟ้ามาก ก็จะเสียค่าไฟต่อหน่วยสูงขึ้นตามลำดับ ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ กล่าวต่อว่า แต่อัตราค่าไฟฟ้าตามช่วงเวลาของการใช้ (Time of Use Rate ) หรือ TOU นั้น เป็นอัตราค่าไฟฟ้าที่สะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริง สนับสนุนให้เกิดการใช้ พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อจูงใจให้ผู้ใช้ไฟฟ้าลดการใช้ไฟฟ้าช่วงเวลาที่มีการใช้ไฟฟ้าสูง (Peak Period) ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความต้องการพลังงานไฟฟ้าในช่วงที่ระบบมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดแล้ว ยังช่วยลดการลงทุนสำหรับการจัดหาและผลิตพลังงานไฟฟ้าของประเทศอีกด้วย
อัตราค่าไฟฟ้าประเภท TOU จะแบ่งอัตราค่าไฟเป็น 2 ช่วงเวลา แบ่งเป็นช่วง On Peak ( 09.00 - 22.00 น.) ค่าไฟฟ้าหน่วยละ 4.3093 บาท และช่วง Off Peak ( 22.00-09.00 น.) ค่าไฟฟ้าหน่วยละ 1.2246 บาท สำหรับวันเสาร์ อาทิตย์และวันหยุดราชการ (ไม่รวมวันหยุดชดเชย ) ถือเป็นช่วง Off Peak ตลอดทั้งวัน
อัตราค่าไฟฟ้าแบบ TOU จึงเหมาะสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางคืนมากกว่าช่วง กลางวัน สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าที่ประสงค์จะเลือกใช้อัตรา TOU จะต้องยื่นเรื่องทีการไฟฟ้าเขต และเสียค่าเปลี่ยนเครื่องวัดเป็นแบบ TOU ซึ่งขณะนี้ กฟน.กำลังกำหนดรายละเอียดด้านราคาและทำการทดสอบเครื่องวัดอยู่ คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในเร็ว ๆ นี้ นายชูศักดิ์ กล่าวในตอนท้าย--จบ--
-อน-