กรุงเทพฯ--29 มี.ค.--สพช.
สพช. ปลื้มผลงานนักศึกษาทุนวิจัยเข้าตา คัดผลงานเด่นขึ้นเวทีโชว์งานสัมมนางานวิจัยการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานหมุนเวียน เผย 5 ปีให้ทุน 358 ทุน รวมเงิน 23 ล้านบาท
ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) กล่าวถึงการจัดสัมมนาแสดงผลการวิจัยด้านการอนุรักษ์พลังงาน และพลังงานหมุนเวียนว่า กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้ตระหนักถึงความสำคัญของงานวิจัยด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานหมุนเวียน จึงได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยแก่นักศึกษาระดับปริญญาตรี โทและเอก เพื่อเป็นแรงจูงใจให้นักศึกษาหันมาให้ความสนใจในการวิจัยด้านการจัดการพลังงาน เทคโนโลยีการอนุรักษ์และพลังงานทดแทนมากขึ้นในทุกสาขาวิชา
ในช่วงปี 2540-2544 กองทุนฯ ได้ให้ทุนวิจัยแก่นักศึกษาทั้งจากมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนรวม 27 แห่ง แบ่งเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรี 115 ทุน สำเร็จการศึกษาแล้ว 73 ทุน ระดับปริญญาโท 234 ทุน สำเร็จการศึกษาแล้ว 114 ทุน และระดับปริญญาเอกจำนวน 9 ทุน สำเร็จการศึกษาแล้ว 3 ทุน รวมงานวิจัยทั้งสิ้น 358 ทุน รวมทุนที่มอบไปทั้งสิ้น 23,381,557 ล้านบาท
สำหรับงานวิจัยที่ได้นำมาจัดแสดงในงานสัมมนาครั้งนี้ กองทุนฯ ได้คัดเลือกงานวิจัยดีเด่นจำนวน 15 โครงการ จากโครงการที่สำเร็จแล้ว 190 งานวิจัย จาก 3 กลุ่มคือ กลุ่มพลังงานหมุนเวียน กลุ่มสถาปัตยกรรมและวัสดุก่อสร้าง และกลุ่มการประหยัดพลังงาน โดยหนึ่งในงานวิจัยในกลุ่มประหยัดพลังงานที่นำมาจัดแสดง ได้แก่งานวิจัยหม้อต้มก๋วยเตี๋ยวประสิทธิภาพสูง ผลงานของนายภมรินทร์ ตั้งสิทธิศิลป์ วิศวกรบริษัท ยางสยามพระประแดง จำกัด อดีตนักศึกษาทุนวิจัยระดับปริญญาตรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเครื่องกล มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ใช้หลักการเก็บกักความร้อนด้านข้างและด้านล่างของหม้อก๋วยเตี๋ยว ผลงานนี้ได้นำไปทดลองใช้ในโรงอาหารของมหาวิทยาลัย พบว่าหม้อก๋วยเตี๋ยวธรรมดา ใช้ก๊าซวันละ 1.4 กิโลกรัมหรือปีละ 420 กิโลกรัม แต่หม้อก๋วยเตี๋ยวประหยัดพลังงาน ใช้ก๊าซเพียงวันละ 0.9-1 กิโลกรัมหรือปีละ 270-300 กิโลกรัมเท่านั้น ซึ่งเมื่อเทียบเป็นค่าใช้จ่ายจะประหยัดเงินได้ไม่ต่ำกว่า 2,400 บาทต่อปี
ผลงานวิจัยในกลุ่มสถาปัตยกรรมอาคารและวัสดุก่อสร้าง ได้แก่ ระบบการก่อสร้างด้วยโฟมเพื่อใช้ในการออกแบบบ้านประหยัดพลังงาน เป็นผลงานของอดีตนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งมีนายชวลิต เอี่ยมศิริ เป็นหัวหน้าโครงการและคณะ ได้นำหลักการการออกแบบมาจากระบบฉนวนกันความร้อนของห้องเย็น ที่เก็บความเย็นไว้ภายในไม่ให้รั่วไหลออก และกันความร้อนจากภายนอกไหลเข้าไปข้างใน โดยออกแบบเป็นผนังสำเร็จรูปที่สามารถติดตั้งได้ทันที จากการวิจัยพบว่าสามารถประหยัดพลังงาน โดยเฉพาะลดการใช้ไฟฟ้าจากเครื่องปรับอากาศ ได้ถึง 1 ใน 3 จากการก่อสร้างด้วยระบบการก่ออิฐฉาบปูน และยังประหยัดเวลาในการก่อสร้างอีกด้วย
ส่วนผลงานวิจัยในกลุ่มพลังงานหมุนเวียนที่นำมาแสดงในงาน ได้แก่ การสูบน้ำโดยใช้หลักการซาวารี หลักการซาวารีก็คือ การนำความร้อนมาผลิตไอน้ำ ไอน้ำที่ผลิตได้จะถูกปล่อยไปแทนที่น้ำในถัง เมื่อมีการระบายความร้อนออก ความดันในถังจะลดต่ำกว่าภายนอก ทำให้เกิดระบบสุญญากาศภายในถัง น้ำจะถูกดันขึ้นมาข้างบน
"หลักการซาวารีนี้ ชาวเหมืองในอังกฤษใช้กันมานานกว่า 200 ปีแล้ว แต่งานวิจัยได้พัฒนาจากการทำความร้อนด้วยการใช้เชื้อเพลิงมาต้มน้ำให้เดือด มาเป็นการใช้โซลาร์ คอลเลคเตอร์มาทำความร้อนผลิตไอน้ำ ทำให้ไม่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าเช่นเดียวกับเครื่องสูบน้ำที่ใช้กันอยู่ทั่วไปในปัจจุบัน เหมาะสำหรับนำไปติดตั้งตามอาคารบ้านเรือน โดยเฉพาะพื้นที่ที่ไฟฟ้าเข้าไปไม่ถึง" นายสรรพวรรธ วิทยาศัย ผู้นำเสนองานวิจัยกล่าว
ผศ.ดร.ติกะ บุนนาค นักศึกษาทุนวิจัยระดับปริญญาเอก ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าศูนย์ปรึกษาและพัฒนาด้านพลังงาน และอาจารย์ประจำภาควิชาอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า มีความยินดีที่หน่วยงานภาครัฐเล็งเห็นถึงความสำคัญด้านการอนุรักษ์พลังงาน เนื่องจากเห็นว่างานวิจัยด้านพลังงานของคนไทยยังมีจำนวนน้อยและซ้ำซ้อน โดยตนได้นำทุนไปคือ วิจัยในหมวดของสถาปัตยกรรมอาคารและวัสดุก่อสร้าง ในโครงการศึกษาการถ่ายเทความร้อนแบบอิสระระหว่างแผ่นเอียงเพื่อประยุกต์ใช้กับหลังคาระบายความร้อนโดยใช้แสงอาทิตย์ ซึ่งมีผลในการควบคุมอุณหภูมิภายในบ้านและนอกบ้านให้เท่ากัน ทำให้ลดการใช้เครื่องปรับอากาศลง สามารถประหยัดพลังงานในบ้านได้ร้อยละ 30-40 ปัจจุบันผลงานวิจัยของตน ยังได้รับการนำไปวิจัยต่อเพื่อให้เกิดผลจริงในทางปฏิบัติอีกด้วย--อน--
-อน-