กรุงเทพ--1 ก.ค.--อย.
อย.ห่วงใยผู้บริโภค เตือนอันตรายจากการใช้ยาแก้ไอผสมโคเดอีน ผิดวัตถุประสงค์ โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ นำยานี้ไปใช้ในทางที่ผิดจนก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมา อย.จึงขอความร่วมมือบริษัทผู้ผลิตและผู้นำเข้าให้เพิ่มความระมัดระวังในการจำหน่าย และขอความร่วมมือมายังผู้ปกครองให้ช่วยกันสอดส่องดูแลบุตรหลานมิให้หันไปเสพยา
น.พ.เฉลิมชัย ชูเมือง รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่าตามที่ได้มีการนำยาแก้ไอที่มีส่วนผสมของโคเดอีนไปใช้ในทางที่ผิด ทำให้ผู้ใช้เกิดการเสพติด ส่งผลให้เกิดปัญหาสังคมตามมามากมาย นั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอชี้แจงว่า "โคเดอีน" ที่เป็นปัญหานี้ จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง ช่วยบรรเทาอาการปวด หรือระงับอาการไอได้ จึงมีการนำมาใช้ในทางการแพทย์ โดยใช้เป็นส่วนผสมของยาแก้ไอ อย่างไรก็ตามอาการไม่พึงประสงค์อย่างหนึ่งที่เกิดจากสารนี้คือ การมึนงง และถ้าใช้ยาในขนาดสูงจะทำให้มีอาการเคลิ้มฝัน จึงมีการนำยาแก้ไอที่มีส่วนผสมของโคเดอีนไปใช้ในทางที่ผิด โดยนำไปผสมกับเครื่องดื่มเพื่อให้บริการลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่น การระบาดในลักษณะนี้พบมากที่จังหวัดต่าง ๆ บริเวณชายแดน โดยเฉพาะทางภาคใต้
การใช้ยาในทางที่ผิดนี้ ก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านสุขภาพของผู้เสพเอง ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่ง อย.มิได้นิ่งนอนใจ ได้เตรียมการป้องกันและแก้ปัญหาแล้ว โดยเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบการกระจายของยาน้ำแก้ไอผสมโคเดอีน ขณะเดียวกันก็ขอความร่วมมือบริษัทผู้ผลิตและผู้นำเข้าให้เพิ่มความระมัดระวังในการจำหน่าย โดยห้ามจำหน่ายให้กับร้านขายยาที่ไม่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท 3 หรือผู้หนึ่งผู้ใดที่ประสงค์จะซื้อไปเพื่อขายต่อ หรือเสพ โดยมิได้หวังผลในการบำบัดรักษาอย่างแท้จริง และเพิ่มความระมัดระวังการจำหน่ายยาในพื้นที่เสี่ยง เช่น จังหวัดต่าง ๆ ใกล้ชายแดน รวมทั้งขอความร่วมมือเภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการของร้านขายยาที่มีใบอนุญาตจำหน่าย ซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 3 ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ให้ควบคุมดูแลการจำหน่ายอย่างใกล้ชิด และคำนึงถึงจรรยาบรรณเป็นหลัก แต่ที่สำคัญพ่อแม่ ผู้ปกครองควรเอาใจใส่ดูแลไม่ให้บุตรหลานเข้าไปข้องเกี่ยวกับสิ่งเสพติด จะเป็นทางช่วยที่ดีที่สุด รองเลขาธิการฯ กล่าวในที่สุด--จบ--