กรุงเทพ--2 ก.ย.--เอ็นพีซี
เอ็นพีซีเร่งแก้ปัญหา Y2K ตั้งคณะทำงานตรวจสอบและแก้ไขปัญหา กำหนดแล้วเสร็จภายในปี ค.ศ. 1999 บอร์ดอนุมัติงบ 21 ล้านบาท ปรับทั้งระบบคอมพิวเตอร์และระบบโรงงาน พร้อมร่วมทีมศึกษาปัญหาและผลกระทบต่าง ๆ กับ ปตท. และบริษัทในเครือ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อการดำเนินธุรกิจ ทั้งของตนเองและลูกค้า เตรียมส่งผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์เข้าอบรมเป็น Y2K Inspector
นายกมลชัย ภัทโรดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปิโตรเคมีแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นพีซี ในฐานะประธานคณะทำงานแก้ไขปัญหา Y2K กล่าวถึงมาตรการแก้ไขปัญหาคอมพิวเตอร์ปี ค.ศ. 2000 ว่า เอ็นพีซีเห็นความสำคัญของปัญหา Y2K โดยได้มีการวางแผนและดำเนินการทดสอบระบบงานต่าง ๆ มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998 และได้จัดตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหา Y2K ขึ้น ทั้งที่สำนักงานใหญ่และโรงโอเลฟินส์ โดยมีเป้าหมายหลักคือ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1999 เป็นต้นไป อุปกรณ์และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของเอ็นพีซีทั้งของเก่าและของใหม่ รวมทั้งระบบและอุปกรณ์ในการควบคุมโรงงาน จะต้องเป็นระบบที่สามารถบันทึกเวลาในปี ค.ศ. 2000 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การใช้ข้อมูล ระบบงานคอมพิวเตอร์ ระบบโรงงาน และระบบอิเล็กทรอนิกส์ทุกระบบของเอ็นพีซีจะต้องไม่มีปัญหาเมื่อขึ้นศตวรรษใหม่ ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทของเอ็นพีซีได้มีมติอนุมัติงบประมาณแก้ปัญหาในวงเงินทั้งสิ้น 21 ล้านบาท เรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ เอ็นพีซีได้ร่วมประชุมปรึกษาเกี่ยวกับปัญหา Y2K และผลกระทบต่อธุรกิจ รวมทั้งแลกเปลี่ยนวิธีการแก้ไขปัญหากับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) และบริษัทร่วมทุนในเครือ ปตท. อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งบริษัทคู่ค้าในวงการอุตสาหกรรมปิโตรเคมี องค์กรภาครัฐ และสถาบันการเงินต่าง ๆ ซึ่งทุกฝ่ายได้เห็นความสำคัญและร่วมมือกันเป็นอย่างดี
ในการนี้ นายนล จันทรวิทุร ผู้อำนวยการฝ่ายระบบข้อมูลการบริหาร (MIS) เอ็นพีซี ในฐานะเลขานุการคณะทำงานแก้ไขปัญหา Y2K กล่าวเพิ่มเติมว่า เอ็นพีซีได้แบ่งวิธีการแก้ไขเป็น 2 ระบบ คือ ระบบคอมพิวเตอร์ (IT Systems) และระบบโรงงาน (Non-IT Systems) สำหรับระบบคอมพิวเตอร์ จะป้องกันไม่ให้เกิดการผิดพลาดในการคำนวณต่าง ๆ เช่น ระบบงานบัญชีทั่วไป (General Ledger) ที่ใช้มาร่วม 10 ปี อยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนเป็นระบบใหม่ โดยใช้โปรแกรมของ Oracle ส่วนระบบอื่น ๆ อาทิ ระบบแสดงผลข้อมูลเกี่ยวกับโรงงาน ระบบข้อมูลทางด้านการบำรุงรักษา บุคลากรของเอ็นพีซีจะเป็นผู้แก้ไขและพัฒนาระบบเพื่อให้ใช้งานในปี ค.ศ. 2000 ได้เอง รวมทั้งระบบ Systems Server หรือระบบแม่ข่ายที่ใช้เก็บข้อมูล จะดำเนินการจัดซื้อใหม่ต่อไป ทั้งนี้ เอ็นพีซียังได้วางแผนที่จะแก้ไขเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC) ให้สามารถใช้งานได้เมื่อถึงปี ค.ศ. 2000 โดยใช้งบประมาณในส่วนนี้รวม 10 ล้านบาท
ส่วนระบบโรงงาน (Non-IT Systems) จะเตรียมป้องกันผลกระทบ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการผลิตโอเลฟินส์และไม่เกิดผลเสียกับกลุ่มลูกค้า โดยได้วางแผนที่จะจัดซื้อและอัพเกรดซอฟท์แวร์ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตโอเลฟินส์ รวมทั้งซอฟท์แวร์ที่ใช้ควบคุมกระบวนการเก็บและขนถ่ายผลิตภัณฑ์ของท่าเทียบเรือและคลังเก็บผลิตภัณฑ์ โดยระบบโรงงานนี้ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 11 ล้านบาท
นอกจากนี้ เอ็นพีซีเตรียมที่จะส่งผู้เชี่ยวชาญทางด้านคอมพิวเตอร์เข้าอบรมและสอบเพื่อเป็น Y2K Inspector ที่สถาบันบริการคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อให้สามารถเป็นผู้ตรวจสอบ (Auditor) ระบบคอมพิวเตอร์ทั้งของโรงโอเลฟินส์ และสำนักงานใหญ่ ว่าผ่านการแก้ปัญหา Y2K เรียบร้อยแล้ว นับว่าเป็นการใช้ทรัพยากรบุคคลอย่างมีคุณค่า และเป็นการลดค่าใช้จ่ายได้อีกทางหนึ่งด้วย--จบ--