กรุงเทพ--7 ก.ย.--ปรส.
กรณีที่มีข่าวที่สร้างความสับสนให้กับลูกค้าเช่าซื้อรถยนต์ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ซิทก้า จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหนึ่งในสถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการจำนวน 56 แห่ง โดยมีชื่อขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยนั้น ดร.มนตรี เจนวิทย์การ ผู้ช่วยเลขาธิการ ปรส. ชี้แจงว่า เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับ ผู้เช่าซื้อรถยนต์ ขอแนะนำดังนี้
1. ผู้เช่าซื้อรถยนต์ต้องตรวจสอบสัญญาเช่าซื้อก่อนว่าได้ทำสัญญาไว้กับบริษัทใด ระหว่างบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิทก้า จำกัด (มหาชน) กับบริษัทเอส แอล ซี ลิสซิ่ง จำกัด (เดิมชื่อซิทก้า ลิสซิ่ง) ทั้งนี้ ปรส.จะมีส่วนเกี่ยวข้องเฉพาะกรณีของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิทก้า จำกัด(มหาชน) ส่วนกรณีของบริษัทเอส แอล ซี ลิสซิ่ง ต้องสอบถามที่บริษัทดังกล่าวเอง
2. หากทำสัญญาเช่าซื้อกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิทก้า จำกัด (มหาชน) ให้ตรวจสอบต่อไปว่า บัญชีที่ตนเคยชำระเงินค่างวดโดยตรงหรือโอนเงินเข้าในบัญชีบริษัทใด ระหว่างบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิทก้า จำกัด(มหาชน) กับ บริษัทซิทก้า เอส พี วี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่รับโอนสิทธิ์เรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิทก้า เพื่อกู้เงินจากบริษัทซิทคาร์ ฟันดิ้ง โดยมีบริษัทเอ็มบีไอ เอ อินชัวรันซ์คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ เป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญา
3. หากเคยโอนเงินเข้าบัญชีของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิทก้า จำกัด(มหาชน) ซึ่งก่อนหน้านี้มีบริษัทเอส แอล ซี ลิสซิ่ง เป็นผู้จัดเก็บเงินตามสัญญาว่าจ้าง แต่เนื่องจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิทก้า ได้บอกเลิกสัญญาว่าจ้างเก็บเงินแล้วตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2541 ให้ลูกค้าเช่าซื้อชำระเงินโดยวิธีการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (ปรส.1) หมายเลขบัญชี 015-1-31225-7 และนำส่งหลักฐานการชำระเงินให้กับ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ซิทก้า จำกัด (มหาชน) หมายเลขโทรสาร 652-8059 หรือชำระโดยใช้ใบนำฝากที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิทก้าเคยจัดส่งให้
อนึ่ง สัญญาเช่าซื้อของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิทก้า จำกัด (มหาชน) ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำซีเคียวริไทเซชั่น มีจำนวน 2,110 สัญญา คิดเป็นมูลค่าประมาณ 286.1 ล้านบาท ซึ่งบริษัทจีอี แคปปิตอล (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ประมูลได้ และจะมีการโอนสัญญาเพื่อปิดการจำหน่ายภายในเดือนตุลาคมนี้
4.ตามสัญญาซีเคียวริไทเซชั่น ซึ่งบริษัทเอ็มบีไอ เออินชัวรันซ์ เป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญา เดิมบริษัทเอ็มบีไอ เอฯ ได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัทเอส แอล ซี ลิสซิ่ง เป็นผู้จัดเก็บเงิน ต่อมา บริษัทเอ็มบีไอ เอฯ ได้ยกเลิกสัญญาดังกล่าว และแต่งตั้งบริษัททิสโก้ลิสซิ่ง เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดเก็บเงินแทน ทางบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิทก้าจึงได้นำส่งคู่มือจดทะเบียนรถในส่วนที่ทำซีเคียวรีไทเซชั่นให้กับบริษัททิสโก้ ลิสซิ่ง เป็นผู้เก็บรักษา
"ผู้เช่าซื้อรถที่เป็นลูกค้าของบงล.ซิทก้า ไม่ว่าจะเป็นส่วนที่ทำซีเคียวริไทเซชั่น หรือที่ไม่ได้ทำซีเคียวริไทเซชั่น จะไม่มีปัญหาในการโอนทะเบียน เพราะหลักฐานเกี่ยวกับคู่มือการจดทะเบียนรถนั้นเก็บรักษาที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิทก้า และบริษัททิสโก้ ลิสซิ่ง จำกัดไม่ได้อยู่ที่บริษัทเอส แอล ซี ลิสซิ่ง "ดร.มนตรีกล่าว
สำหรับกรณีที่ผู้บริหารของบริษัทเอส แอล ซี ลิสซิ่ง จำกัด อ้างว่า ปรส.ซึ่งดูแลบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิทก้าและครอบครองคู่มือจดทะเบียนรถของบริษัทเอส แอล ซี ลิสซิ่ง ไม่ยอมให้ความช่วยเหลือ ผู้เช่าซื้อรถโดยการคืนทะเบียนให้นั้น ทางบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิทก้าได้ชี้แจงว่า เนื่องจากบริษัทเอส แอล ซี ลิสซิ่ง ได้นำคู่มือจดทะเบียนรถบางส่วนมาค้ำประกันการกู้ยืมเงินจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิทก้า และไม่ปฏิบัติตามสัญญาการกู้ยืมเงิน จึงไม่สามารถคืนทะเบียนให้ได้ ซึ่งก็เป็นหลักการปฏิบัติทางธุรกิจโดยชอบด้วยกฎหมาย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ดร.มนตรี เจนวิทย์การ, คุณปิยมิตร ยอดเมือง องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน โทร. 263-2620 ต่อ 102-105--จบ--