กรุงเทพ--13 มี.ค.--กระทรวงสาธารณสุข
กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จับมือร่วมกันดำเนินโครงการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าเป้าหมายกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าในคนให้หมดไปจากประเทศไทยภายในปี 2543และเสริมความมั่นใจนักท่องเที่ยวต่างชาติ รับปีท่องเที่ยวไทย
นายธีระวัฒน์ ศิริวันสาณฑ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์หลังเป็นประธานเปิดงานรณรงค์ป้องกันและกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ปี 2541ของจังหวัดนนทบุรีว่า โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่มีอันตรายร้ายแรงมากเนื่องจากปัจจุบันยังไม่มียาที่จะรักษาได้ จากรายงานของกองระบาดวิทยาในปี 2538มีผู้สัมผัสโรคสูงถึง 160,443 ราย และมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า จำนวน 74 รายค่าใช้จ่ายในผู้ที่สัมผัสโรคเหล่านี้สูงถึงเกือบ 300 ล้านบาท การป้องกันและควบคุมโรคในสัตว์โดยเฉพาะสุนัข จึงเป็นวิธีที่ประหยัดและเหมาะสมที่สุด กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมควบคุมโรคติดต่อจึงร่วมกับกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยดำเนินโครงการเร่งรัดกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทยขึ้น เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538และมีวัตถุประสงค์ที่จะกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทยภายในปี 2543โดยยึดมาตรการหลัก 3 ประการ คือ ป้องกันไม่ให้สัตว์โดยเฉพาะสุนัขเป็นโรคพิษสุนัขบ้าโดยการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ครอบคลุมอย่างน้อยร้อยละ 80 ของสุนัขทั้งหมดลดความเสี่ยงการได้รับเชื้อในคน โดยการกระตุ้นให้คนรู้จักระวังตนเองและลดจำนวนสุนัขจรจัดสำหรับผู้ที่ได้รับหรือสงสัยว่าได้รับเชื้อทุกรายต้องได้รับการป้องกันและรักษาที่ถูกต้องรวดเร็ว ผลการดำเนินงานพบว่าจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้ามีแนวโน้มลดลงจากจำนวน 74รายในปี 2538 เหลือ 56 รายในปี 2540
สำหรับในปีนี้กำหนดให้มีการรณรงค์พร้อมกันทั่วประเทศในระหว่างวันที่ 1 - 31 มีนาคม 2541โดยมีกิจกรรมหลักคือ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ฉีดยาคุมกำเนิดผ่าตัดทำหมันและจัดนิทรรศการให้ความรู้กับประชาชน
ดร.ภักดี โพธิศิริรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่าจังหวัดนนทบุรีนับเป็นจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจหลายแห่งประจวบกับปีนี้เป็นปีท่องเที่ยวไทย คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไม่ต่ำกว่า 15ล้านคนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวในเมืองไทยส่วนใหญ่มีความกังวลว่าจะถูกสุนัขไม่มีเจ้าของกัดและอาจเป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้ จากรายงานของจังหวัดนนทบุรีพบว่าจำนวนผู้สัมผัสเชื้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 717 คน ในปี 2538 เป็น 1,968 คน ในปี 2540จำนวนสุนัขที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในปีที่ผ่านมาครอบคลุมเพียงร้อยละ 65ของจำนวนสุนัขที่ควรได้รับวัคซีนทั้งหมดการจัดให้มีการรณรงค์และกระตุ้นประชาชนให้ตื่นตัวในการดูแลสัตว์เลี้ยงของตนเองจึงนับเป็นวิธีการที่ได้ผลดีที่สุดในการป้องกันและกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าอีกทั้งยังเป็นการลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศชาติอีกด้วย--จบ--