กรุงเทพ--5 ม.ค--กระทรวงสาธารณสุข
กระทรวงสาธารณสุขปฏิรูประบบการออกบัตรสวัสดิการด้านรักษาพยาบาล(บัตรสปร.)แก่ผู้มีรายได้น้อยใหม่ โดยเปลี่ยนจากการใช้บัตรรวมทั้งครอบครัวมาเป็นแยกบัตรรายบุคคล เพื่อสะดวกในการใช้และพกพาติดตัว ที่สำคัญสามารถเลือกสถานพยาบาลที่จะไปใช้บริการได้เอง
นายธีระวัฒน์ ศิริวันสาณฑ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานเปิดอาคารโรงพยาบาลชุมชนทรายมูล ขนาด 30 เตียง และมอบบัตร สปร.แก่ผู้มีรายได้น้อยจำนวน 51 หมู่บ้าน ที่จังหวัดยโสธรเมื่อเช้าวันนี้ว่า ตามที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการจัดสวัสดิการด้านรักษาพยาบาลแก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่มีรายได้ต่ำกว่า 2,000 บาทต่อเดือนสำหรับคนโสด และรายได้ต่ำกว่า 2,800 ต่อเดือนสำหรับครอบครัว และผู้ที่สังคมควรช่วยเหลือเกื้อกูล เช่น ทหารผ่านศึกและครอบครัว ผู้สูงอายุ เด็กอายุ 0-12 ปี ผู้พิการ พระภิกษุสามเณรและผู้นำศาสนาอื่นๆ ซึ่งคาดว่ากลุ่มประชาชนเหล่านี้มีประมาณ 25 ล้านคน โดยใช้ชื่อบัตรว่าบัตรสวัสดิการด้านรักษาพยาบาลหรือบัตร สปร. ผู้มีบัตรสามารถไปรับบริการรักษาพยาบาลได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ที่ผ่านมาการออกบัตรออกให้เป็นแบบครอบครัวมีรายชื่อทั้งหมดอยู่ในบัตรเดียวกัน ตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นไป ทางกระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานประกันสุขภาพได้ปฏิรูประบบการออกบัตรใหม่ ได้แจ้งให้ทุกจังหวัดทราบ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะออกสำรวจผู้ที่สมควรได้รับสิทธิ์ และออกบัตรให้เป็นรายบุคคล เพื่อให้ได้รับความสะดวกและให้สิทธิเลือกสถานบริการได้เองด้วยโดยเลือกสถานีอนามัย 1 แห่ง และโรงพยาบาล 1 แห่ง เมื่อเจ็บป่วยให้ไปรับบริการที่สถานพยาบาลที่ตนเองเลือกไว้ แต่กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถเข้ารับบริการได้ในสถานพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ
นายธีระวัฒน์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้บัตร สปร.รุ่นสุดท้ายหมดอายุแล้วเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2540 แต่กระทรวงสาธารณสุข ได้ขยายเวลาอนุโลมให้ผู้มีบัตรเดิมใช้บัตรเดิมไปก่อนจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2541 ทั้งนี้เพื่อให้คนที่มีบัตรเดิมได้ใช้รับการดูแลด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตามขอแจ้งให้ประชาชนทั่วไปทราบด้วยว่าในกรณีที่ท่านอยู่ในข่ายที่จะได้รับการรักษาพยาบาลฟรี แต่ท่านสามารถใช้สิทธิ์เบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของคนในครอบครัวได้ เช่น เป็น พ่อแม่บุตร ของคนที่ทำงานมีสิทธิ์เบิกได้ บุคคลเหล่านี้จะต้องใช้สิทธิ์เบิกจ่ายที่ต้นสังกัดนั้น เพราะโครงการนี้ไม่รวมกลุ่มผู้มีสิทธิ์เบิกได้ สำหรับงบประมาณการรักษาพยาบาลผู้ที่สังคมควรช่วยเหลือเกื้อกูลในปี 2541 กระทรวงฯได้รับ 7,029 ล้านบาท เฉลี่ย 273 บาทต่อคนต่อปี ในขณะที่กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม โดยสำนักงานประกันสังคม จ่ายให้สถานพยาบาลสำหรับผู้ประกันตนตามระบบประกันสังคม 800 บาทต่อคนต่อปี ในเมื่องบประมาณมีจำกัดทางกระทรวงสาธารณสุขจึงต้องให้คนที่จนจริงๆเท่านั้นที่ได้รับสิทธินี้
ในกรณีผู้ที่มีรายได้สูงกว่าเกณฑ์ความยากจนที่กำหนดไว้ คือ ฐานะปานกลาง ท่านสามารถใช้บริการซื้อบัตรประกันสุขภาพราคา 500 บาทต่อครอบครัว 5 คนได้ ซึ่งปัจจุบันมีความครอบคลุมประชากรแล้วประมาณ 8 ล้านคน นอกจากนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขกำลังจะเสนอกฎหมายฉบับหนึ่งชื่อ กฎหมายประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนทุกคนควรได้รับการดูแลด้านการรักษาพยาบาลครบ 100 % จริงๆ--จบ