กรุงเทพ--4 ก.ค.--กปส.กทม.
ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เมื่อวานนี้ เวลา 12.30 น. นายมหินทร์ ตันบุญเพิ่ม โฆษกคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารเกี่ยวกับมาตรการแก้ไขปัญหาที่จะเกิดจากการก่อสร้างโครงการรถไฟใต้ดินขององค์การรถไฟฟ้ามหานคร (รฟม.) ว่าอีกประมาณ 6 เดือน รฟม.จะมีการขุดดินเพื่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน 9 สถานี รวมทั้งอุโมงค์ใต้ดินตามโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินสายใต้ กทม. มีความเป็นห่วงว่า การดำเนินการดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อความเดือดร้อนของประชาชน ในวันนี้จึงได้มีการเชิญทาง รฟม.มาหารือเพื่อประสานงานและซักซ้อมความเข้าใจในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยเฉพาะใน 2 เรื่องหลัก คือ ด้านการจราจร และการจัดหาสถานที่สำหรับทิ้งดินที่เกิดจากการขุดเพื่อสร้างสถานีและอุโมงค์ใต้ดิน ซึ่งปริมาณดินจากการดำเนินการดังกล่าวจะมีจำนวนถึง 2.2 ล้านคิวบิกเมตร
นายมหินทร์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการหามาตรการแก้ไขปัญหาด้านการจราจรในช่วงที่มีการก่อสร้างสถานีทั้ง 9 สถานี ซึ่งแต่ละสถานีจะมีความกว้างประมาณ 30 เมตร ยาว 200 เมตร นั้น ผู้ที่รับผิดชอบของโครงการได้ให้ข้อเสนอแนะหลายประการ เช่น ให้ใช้พื้นที่เกาะกลางถนนเป็นบริเวณเปิดหน้าดินเพื่อขุด จัดระเบียบการจอดรถบรรทุกดินและรถเครน เป็นต้น ส่วนดินที่เกิดจากการขุดซึ่งจะมีประมาณ 5,000 คิวบิกเมตร/วัน จะทำให้มีรถบรรทุกดินวิ่งบนถนนไม่ต่ำกว่า 600 เที่ยว/วัน จึงต้องมีการหามาตรการเพื่อไม่ให้ดินเหล่านั้นตกหล่นบนถนน รวมทั้งป้องกันไม่ให้ฝุ่นละอองบริเวณที่ก่อสร้างฟุ้งกระจาย ซึ่งทางผู้ประกอบการรับว่าจะมีมาตรการแก้ไขไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าว ส่วนเรื่องการจัดสถานที่สำหรับทิ้งดินที่เกิดจากการก่อสร้าง ขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดชัดเจนว่าะใช้สถานที่ใด แต่ผู้ประกอบการก็รับว่าจะไม่นำไปทิ้งในที่ที่มีผลกระทบกับโครงการแก้มลิง และสถานที่ที่กทม. กำหนดให้เป็นพื้นที่แก้มลิง ทั้งนี้ในการจัดหาสถานที่ทิ้งดินทางผู้ประกอบการจะแจ้งให้กทม.ไปดูสถานที่ด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าสถานที่ดังกล่าวไม่มีผลกระทบกับโครงการแก้มลิง อย่างไรก็ดี กทม.ได้มีการแนะนำผู้ประกอบการว่า กทม.มีสถานที่ที่สามารถนำดินไปทิ้งได้ อยู่บริเวณชายทะเลบางขุนเทียนพื้นที่กว่า 2 พันไร่ โดยบริเวณดังกล่าวจะมีโครงการจะสร้างสวนสาธารณะขนาดใหญ่ และจำเป็นต้องใช้ดินจำนวนมาก ซึ่งทางผู้ประกอบการรับจะนำข้อเสนอนี้ไปพิจารณาว่ามีความเป็นไปได้แค่ไหน นอกจากนี้ยังได้มีการหารือร่วมกันอีกว่า ระหว่างที่มีการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน คณะผู้บริหารกทม.ขอให้มีการประชุมหารือกันอย่างน้อยทุก 2 เดือน เพื่อกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาร่วมกันด้วย--จบ--