ม.มหานคร ร่วมกับ คคพ.เขตหนองจอก ปลูกฝังองค์ความรู้การจัดการขยะ สร้างเตาเผาขยะชีวมวลให้โรงเรียน 37 แห่ง ร่วมพลังลดมลพิษ สู่ชุมชนสีเขียว

22 Jan 2025

รองศาสตราจารย์ ดร.ภานวีย์ โภไคยอุดม อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร (มทม.) ในฐานะประธานคณะขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาเขตหนองจอก (คคพ.เขตหนองจอก) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการถ่ายทอดองค์ความรู้และจัดสร้าง-ส่งมอบเตาเผาขยะชีวมวลลดมลพิษ ระหว่าง คคพ.เขตหนองจอก กับโรงเรียนเครือข่ายในสังกัดกรุงเทพมหานคร เขตหนองจอก จำนวน 37 แห่ง โดยมี นางสาวยุวนุช นงพรมมา ผู้อำนวยการเขตหนองจอก ร่วมเป็นสักขีพยาน พร้อมด้วย นายวรเกียรติ สุจิวโรดม 'นักธุรกิจเจ้าของชาวนามหานคร'ประธานเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ และหัวหน้าโครงการถ่ายทอดองค์ความรู้และจัดสร้าง-ส่งมอบเตาเผาขยะชีวมวลลดมลพิษ อาจารย์โกศล แสงทอง ผู้นำเสนอแนวคิดนำเตาเผาขยะชีวมวลลดมลพิษมาใช้ และผู้อำนวยการสถานศึกษา คณะครู และนักเรียน จากโรงเรียนเครือข่ายในสังกัดกทม. เขตหนองจอก ตลอดจนคณะกรรมการ คคพ.เขตหนองจอก กว่า 400 คน เข้าร่วมงาน ณ ห้อง Auditorium ชั้น 5 อาคาร MIIX มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร

ม.มหานคร ร่วมกับ คคพ.เขตหนองจอก ปลูกฝังองค์ความรู้การจัดการขยะ สร้างเตาเผาขยะชีวมวลให้โรงเรียน 37 แห่ง ร่วมพลังลดมลพิษ สู่ชุมชนสีเขียว

ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในประเทศไทยยังคงเป็นเรื่องเร่งด่วน โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครที่ PM2.5 มีค่าเฉลี่ย 54.1 มคก./ลบ.ม. ซึ่งเกินมาตรฐานส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างรุนแรง ทั้งในระยะสั้นที่ทำให้ตาและคอระคายเคือง เกิดอาการแสบตา ไอ หายใจลำบากและผิวหนังมีผื่นคัน และในระยะยาวไม่ว่าจะเป็นโรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจ และมะเร็งปอด สาเหตุหลักมาจากการเผาในที่โล่ง การจราจร การขนส่ง อุตสาหกรรม และกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหานี้ คณะขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาเขตหนองจอก จึงได้ร่วมมือกับอาจารย์โกศล แสงทอง เจ้าของสิทธิบัตรการออกแบบเตาเผาขยะชีวมวลลดมลพิษ นำร่องโครงการถ่ายทอดองค์ความรู้และจัดสร้าง-ส่งมอบเตาเผาขยะชีวมวลลดมลพิษให้กับโรงเรียน 37 แห่ง ในเขตหนองจอก เพื่อลดการเผาขยะและมลพิษทางอากาศ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยเตาเผาชนิดนี้ได้รับการออกแบบให้มีประสิทธิภาพสูง ลดการปล่อยมลพิษและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

รศ. ดร.ภานวีย์ อธิการบดีฯ มทม. กล่าวว่า "การเผาขยะครั้งเดียวอาจจะดูเป็นการกระทำเพียงเล็กน้อยแต่อาจส่งผลกระทบยิ่งใหญ่ได้ เหมือน 'ทฤษฎีผีเสื้อกระพือปีก' ที่ผีเสื้อกระพือปีกจากซีกโลกหนึ่งอาจก่อให้เกิดพายุในอีกซีกโลกได้ การเผาก็เช่นกันหากเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ย่อมก่อให้เกิดหมอกควัน ปริมาณมาก ก่อมลพิษในอากาศ ที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชาวชุมชน การใช้เตาเผาขยะชีวมวลลดมลพิษจึงเป็นทางออกสำคัญในการแก้ปัญหามลพิษจากการเผาในที่โล่ง โดยคุณวรเกียรติ สุจิวโรดม 'นักธุรกิจเจ้าของชาวนามหานคร'ประธานเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ ได้นำร่องโครงการนี้ โดยการถ่ายทอดองความรู้ด้านการจัดการขยะอย่างถูกหลักสุขาภิบาล และการระดมทุนเพื่อสร้างและส่งมอบเตาเผาขยะชีวมวลลดมลพิษ โดยเน้นการจัดการขยะอย่างถูกวิธี ทั้งการคัดแยกขยะให้ถูกต้องตามประเภท และการนำไปใช้ประโยชน์สูงสุด"

"ถ้าถามว่า ทำไมต้องถ่ายทอดองค์ความรู้ฯ และสร้าง-ส่งมอบเตาเผาให้โรงเรียน ผมในฐานะที่เป็นภาคส่วนด้านการศึกษา มีหน้าที่รับช่วงเยาวชนจากโรงเรียน มาปั้นแต่งให้เป็นอนาคตที่มีศักยภาพของสังคมประเทศชาติ หากเยาวชนได้รับการปลูกฝัง วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ และมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นแง่มุมใด งานของผมจะง่ายขึ้นครับ" อธิการบดี มทม. กล่าวเสริม

การออกแบบและสร้างเตาเผาขยะชีวมวลลดมลพิษอาจารย์โกศล แสงทอง อธิบายการทำงานของเตาเผาขยะชีวมวลลดมลพิษว่า เตาเผาขยะชีวมวลลดมลพิษ ถูกออกแบบให้มีผนังสองชั้น ชั้นในจะมีช่องเติมอากาศทั้งสี่ด้านและตะแกรงด้านล่างของเตาที่ยกสูงขึ้นเพื่อให้อากาศไหลผ่านช่องด้านล่างเข้าไปช่วยในกระบวนการเผาไหม้ ผนังชั้นนอกจะเป็นฉนวนเป็นตัวช่วยให้อากาศร้อนหมุนเวียนและนำควันกลับมาเผาซ้ำในห้องเผาไหม้ชั้นใน เมื่อมีการหมุนเวียนความร้อนภายในเตาระยะหนึ่งจะช่วยให้อุณหภูมิภายในเตาเพิ่มขึ้นประมาณ 350 องศา ซึ่งเพียงพอที่จะสลายสารพิษในขยะก่อนปล่อยออกภายนอก โดยปล่องควันเจาะช่องเป็นสี่เหลี่ยมเล็กๆ โดยรอบเพื่อดึงอากาศมาช่วยเผาไหม้ควันที่มีก๊าซพิษปะปนอยู่ที่ปลายปล่องอีกครั้ง ทำให้เหลือควันน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย ซึ่งขึ้นอยู่กับความชื้นของขยะเป็นสำคัญ การใช้งานจะเติมขยะด้านบนโดยจะเน้นเผาขยะแห้งทั่วไปประมาณ 3% ของขยะที่มีอยู่ในโรงเรียนหรือชุมชน เตาจะก่อสร้างโดยใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น โรงเรียน ชุมชน สามารถสร้างได้ ซ่อมบำรุงได้ วัสดุประกอบด้วย อิฐแดง 1,100 ก้อน ปูนก่อ 5 ลูก ปูนฉาบ 3 ลูก หิน 1 ลบ.ม. ทรายหยาบ 1 คิว เหล็กเส้น 2 หุนเต็ม 7 เส้น เหล็กข้ออ้อย 4 หุนเต็ม 3 เส้น กระเบื้องแผ่นเรียบ 1 แผ่น อิฐบล็อค 20 ก้อน ลวดผูก 1/2 กก. เหล็กปล่องควัน รวมต้นทุนประมาณ 7,500-8,000 บาท

"เมื่อองค์ความรู้ทั้งในรูปแบบนามธรรมคือความรู้ด้านการจัดการขยะอย่างถูกหลักสุขาภิบาล และแบบรูปธรรมคือการสร้างและใช้เตาเผาอยู่ในโรงเรียน ผมเชื่อมั่นว่า องค์ความรู้นี้จะได้รับการต่อยอด และถ่ายทอดให้กว้างขวางต่อไป ในฐานะประธานคณะขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาเขตหนองจอก เราพร้อมเป็นตัวกลางที่จะผลักดันให้โครงการนี้บรรลุเป้าประสงค์ กล่าวคือ มีการอบรมให้ความรู้ ด้านสิ่งแวดล้อมศึกษา การบริหารจัดการขยะในครัวเรือน ขยะกำพร้า ไปจนถึงการสร้างเตาเผา การใช้ การดูแลรักษา เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน เขตหนองจอกอย่างทั่วถึง ทั้งนี้ เราเป็นภาคีความร่วมมือที่ทำงานด้วยพันธสัญญาที่หวังจะเห็นเขตหนองจอกอยู่ดีมีสุข และเป็นแบบอย่างของชุมชนพัฒนาที่เน้นการใช้เทคโนโลยีที่ชุมชนสร้างขึ้นมาใช้เอง และเป็นชุมชนพัฒนาที่เคลื่อนไปข้างหน้าอย่างยั่งยืนด้วยพลังร่วมของภาคีทุกภาคส่วน" อธิการบดี มทม. กล่าวสรุป

"ม.มหานคร เราเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีชื่อเสียงด้านวิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมชั้นนำของประเทศ เราไม่เพียงมุ่งเน้นปลูกฝังความรู้เฉพาะทางในสาขาที่เราเชี่ยวชาญเท่านั้น แต่ยังมุ่งมั่นปลูกจิตสำนึกรักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อม เปิดโลกทัศน์ให้นักเรียนในโรงเรียนได้รับความรู้และประสบการณ์ตรง เพื่อให้นักเรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้ คิดวิเคราะห์อย่างมีตรรกะวิทยาศาสตร์ จนสามารถนำไปต่อยอดในอนาคตต่อไป"

ม.มหานคร ร่วมกับ คคพ.เขตหนองจอก ปลูกฝังองค์ความรู้การจัดการขยะ สร้างเตาเผาขยะชีวมวลให้โรงเรียน 37 แห่ง ร่วมพลังลดมลพิษ สู่ชุมชนสีเขียว