หัวเว่ยเข้ามามีบทบาทในกลุ่มพันธมิตรดิจิทัล พาร์ทเนอร์ทูคอนเน็กต์ของไอทียู ช่วยให้ 90 ล้านคนเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้
หัวเว่ย (Huawei) ประกาศในวันนี้ว่า บริษัทฯ ได้นำการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไปให้แก่ประชาชน 90 ล้านคนในภูมิภาคห่างไกลในเกือบ 80 ประเทศแล้ว หลังจากประกาศเข้าร่วมเป็นพันธมิตรทางดิจิทัลในโครงการพาร์ทเนอร์ทูคอนเน็กต์ (Partner2Connect หรือ P2C) ของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union) หรือไอทียู (ITU) โดยการประกาศนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานความคืบหน้าฉบับแรกของหัวเว่ย นับตั้งแต่บริษัทฯ เข้าร่วมเป็นพันธมิตรโครงการนี้เมื่อปีที่แล้ว
ดร.เหลียง หัว (Liang Hua) ประธานคณะกรรมการหัวเว่ย ประกาศในงานฟอรัมด้านความยั่งยืน ประจำปี 2566 ของบริษัทฯ ซึ่งจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ "เติบโตไปด้วยกันกับเทคโนโลยี ทำให้การพัฒนาที่ยั่งยืนกลายเป็นจริง" ซึ่งงานนี้ยังเป็นการรวมตัวกันของคุณดอรีน บ็อกแดน-มาร์ติน (Doreen Bogdan-Martin) เลขาธิการไอทียู, คุณเจฟฟรีย์ แซคส์ (Jeffrey Sachs) ประธานเครือข่ายโซลูชันการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ และกรรมการคณะกรรมการบรอดแบนด์เพื่อการพัฒนา รวมทั้งผู้แทนจากกระทรวงโทรคมนาคม และผู้ควบคุมกฎระเบียบ อีกทั้งยังมีผู้แทนจากปากีสถานและกานาด้วย โดยผู้ร่วมงานนี้ได้สำรวจว่า โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนให้ดีขึ้น และช่วยสร้างโลกอัจฉริยะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และครอบคลุมมากขึ้นได้อย่างไร
"โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลยุคหน้า เช่น การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และพลังการประมวลผล มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจเท่า ๆ กับโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพของเรา เช่น ถนนสายต่าง ๆ โครงสร้างพื้นฐานใหม่นี้จะมีความสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับทั้งหมดของสังคม" ดร.เหลียง กล่าว "การประมวลผลเป็นปัจจัยแกนหลักที่ขับเคลื่อนประสิทธิภาพการผลิตในเศรษฐกิจดิจิทัล ดังนั้น การเปิดตัวโครงสร้างพื้นฐานด้านการประมวลผลออกมาเร็วขึ้นจะช่วยเร่งการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในอุตสาหกรรมหลาย ๆ กลุ่มให้เร็วขึ้น และส่งเสริมการบูรณาการเศรษฐกิจดิจิทัล และเศรษฐกิจแท้จริงให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น สิ่งนี้สามารถส่งเสริมเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโลกและการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไปได้"
คุณดอรีน บ็อกแดน-มาร์ติน เลขาธิการไอทียู กล่าวเสริมความเห็นของดร.เหลียง ว่า "อย่าเลือกระหว่างเทคโนโลยีกับการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะเราต้องการทั้งคู่ เรามาเติบโตไปด้วยกันกับเทคโนโลยี มาสร้างอนาคตดิจิทัลที่พัฒนาความก้าวหน้าเพื่อผู้คนและโลกไปด้วยกัน"
หัวเว่ยเชื่อมั่นอย่างหนักแน่นว่า บุคลากรด้านดิจิทัลเป็นกุญแจสำคัญต่อการสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยีในอนาคต ดังนั้น เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางดิจิทัลในวงกว้างขึ้น และพัฒนาผู้นำในอนาคต บริษัทฯ จึงได้เพิ่มการเป็นพันธมิตรกับไอทียูให้มากขึ้น ด้วยการเปิดตัวทุนการศึกษาที่มีชื่อว่า "โครงการไอทียูสร้างผู้นำเยาวชนด้วยความร่วมมือกับหัวเว่ย" (ITU Generation Connect Young Leadership Programme in Partnership with Huawei)
ทุนนี้จะเปิดรับสมัครในช่วงต้นปีหน้า และจะดำเนินโครงการเป็นเวลา 3 ปี โดยในแต่ละปี เยาวชนผู้มีวิสัยทัศน์จำนวน 30 คน (อายุ 18-28 ปี) จากทั่วโลกจะได้รับการสนับสนุนโครงการของพวกเขาเพื่อใช้เทคโนโลยีดิจิทัลขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชน
คุณเจฟฟ์ หวัง (Jeff Wang) ประธานแผนกกิจการสาธารณะและสื่อสารของหัวเว่ย กล่าวว่า "หัวเว่ยภูมิใจที่ได้เป็นพันธมิตรกับไอทียูด้วยเหตุผลที่สำคัญข้อนี้ และได้เห็นเยาวชนที่มีวิสัยทัศน์สร้างผลกระทบที่จับต้องได้เพื่อสร้างความเท่าเทียมทางดิจิทัลไปทั่วโลก การสนับสนุนที่ผู้มีส่วนร่วมจะได้รับนั้นได้แก่การสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการของพวกเขา การได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญของไอทียูและหัวเว่ย และโอกาสที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมร่วมกัน"
"เยาวชนจะได้เรียนรู้ มีส่วนสนับสนุน และเป็นผู้นำในโลกดิจิทัลนี้ผ่านความพยายามร่วมกันของไอทียูและหัวเว่ย" ดร.คอสมาส ลัคกีซัน ซาวาซาว่า (Cosmas Luckyson Zavazava) ผู้อำนวยการสำนักงานการพัฒนาโทรคมนาคมของไอทียู กล่าว "ดิจิทัลเป็นเงื่อนไขที่ต้องเกิดขึ้นก่อนสำหรับการเร่งการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้เร็วขึ้น เราจึงต้องการเยาวชนมาก้าวข้ามขีดจำกัดในด้านอีโคซิสเต็มดิจิทัลโลกที่กำลังมีการพัฒนา และสร้างส่วนสนับสนุนในเชิงเปลี่ยนแปลงของพวกเขา ผมขอขอบคุณหัวเว่ยสำหรับการเป็นพันธมิตรที่ยิ่งใหญ่นี้ และผมตั้งตารอคอยที่จะเห็นผลกระทบระดับโลกจากโครงการนวัตกรรมนี้"
โครงการพาร์ทเนอร์ทูคอนเน็กต์ซึ่งเปิดตัวโดยไอทียู เป็นกลุ่มที่ส่งเสริมการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอย่างมีความหมายและการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลทั่วโลก โดยให้ความสำคัญอันดับแรกกับชุมชนที่อยู่ห่างไกลในประเทศและภูมิภาคที่ขาดช่องทางเข้าถึงดิจิทัล หัวเว่ยได้ลงนามในพันธสัญญาทั่วโลกในปีที่แล้ว โดยตั้งเป้าที่จะทำให้ประชาชนราว 120 ล้านคนในพื้นที่ห่างไกลในกว่า 80 ประเทศสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ภายในปี 2568 และจนถึงขณะนี้ หัวเว่ยได้จัดสรรโอกาสฝึกอบรมมากถึง 2,066 โครงการในกัมพูชา ซึ่งเป็นประเทศพันธมิตรพาร์ทเนอร์ทูคอนเน็กต์ชาติแรกของไอทียู โดยร่วมมือกับกระทรวงและมหาวิทยาลัยระดับท้องถิ่น
https://www.huawei.com/en/news/2023/11/huaweiitu-p2c
รูปภาพ - https://mma.prnewswire.com/media/2283576/image_5019648_26726990.jpg
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit