นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมมาตรการดูแลและตรวจตราความปลอดภัยพื้นที่จัดงานเทศกาลลอยกระทงในกรุงเทพฯ ว่า สนพ.ได้ร่วมกับสำนักอนามัย (สนอ.) สนับสนุนหน่วยแพทย์พยาบาล รถกู้ชีพ และจัดจุดคัดกรองบริเวณทางเข้าสถานที่จัดงานลอยกระทง จุดเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนสวมใส่หน้ากากอนามัยและปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนด ขณะเดียวกันได้ร่วมกับสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) จัดเรือดับเพลิงและเรือกู้ชีวิต ลาดตระเวนดูแลความปลอดภัยในแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สะพานพระราม 7 - สะพานพระราม 9 รวมระยะทาง 20.4 กิโลเมตร แบ่งเป็น ช่วงที่ 1 ตั้งแต่สะพานพระราม 7 - สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ประกอบด้วย เรือดับเพลิง 38 ฟุต 1 ลำ เรือเจ็ทสกี 2 ลำ เรือกู้ชีพ โรงพยาบาล (รพ.) วชิระ 1 ลำ เจ้าหน้าที่และอุปกรณ์กู้ภัยทางน้ำ ช่วงที่ 2 ตั้งแต่สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า - สะพานตากสิน (สะพานสาทร) ประกอบด้วย เรือดับเพลิง 38 ฟุต 2 ลำ เรือกู้ชีพ รพ.ตากสิน 1 ลำ เจ้าหน้าที่และอุปกรณ์กู้ภัยทางน้ำ และช่วงที่ 3 ตั้งแต่สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (สะพานสาทร) - สะพานพระราม 9 ประกอบด้วย เรือดับเพลิง 38 ฟุต 2 ลำ เรือกู้ชีพ รพ.เจริญกรุง 1 ลำ เจ้าหน้าที่และอุปกรณ์กู้ภัยทางน้ำ
นอกจากนั้น ยังได้เตรียมมาตรการดูแลด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดย รพ.สังกัด กทม.เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งภายในและภายนอก รพ.ตลอด 24 ชั่วโมง จัดหน่วยปฏิบัติการด้านการแพทย์ประจำกองอำนวยการร่วม 2 แห่ง คือ บริเวณใต้สะพานพระราม 8 เขตบางพลัด (ฝั่งธนบุรี) และบริเวณคลองโอ่งอ่าง ขณะเดียวกันได้จัดหน่วยเรือกู้ชีวิตออกตรวจทางลำน้ำ ได้แก่ บริเวณคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ตั้งแต่สะพานพระราม 7 - สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า รพ.ตากสิน ตั้งแต่สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า - สะพานกรุงเทพ และ รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ ตั้งแต่สะพานกรุงเทพ - สะพานพระรามเก้า นอกจากนี้ ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) จะได้รวบรวมข้อมูลการให้ความช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และร่วมกับทุกภาคส่วนตรวจสอบความปลอดภัยท่าเทียบเรือและโป๊ะริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงตรวจความพร้อมของเรือกู้ชีวิตประจำจุดต่าง ๆ ตลอดลำน้ำเจ้าพระยา พร้อมทั้งผลิตสื่อแนะนำการช่วยชีวิต "คนจมน้ำ" https://youtu.be/cZDYGOSGN10 เพื่อเป็นแนวทางป้องกันอุบัติภัยทางน้ำ ทั้งนี้ ศูนย์เอราวัณ สนพ.ได้เตรียมพร้อมช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินจากเหตุอัคคีภัย อุบัติภัยทางน้ำได้อย่างรวดเร็ว โดยเป็นศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการทางการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อเกิดเหตุในชุมชน หรือสถานที่ท่องเที่ยวอาจมีผู้บาดเจ็บ หรือป่วยฉุกเฉิน ศูนย์เอราวัณจะจัดรถปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินไปในพื้นที่เกิดเหตุ หากประชาชนที่ประสบเหตุและมีผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถขอรับบริการได้ผ่านสายด่วนศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ โทร.1669 ตลอด 24 ชั่วโมง
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit