'สิทธิพงษ์ อรุณรักษ์' ปราชญ์ฯ ต้นแบบสัมมาชีพ

19 Oct 2023

ปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพอีกรายที่ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติในปี 2566 โดยมูลนิธิสัมมาชีพ คือ  "สิทธิพงษ์ อรุณรักษ์" ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มมังคุดศูนย์เรียนรู้การเกษตรท่ามะพลา อ. หลังสวน จ. ชุมพร ผู้นำ "องค์ความรู้" ด้าน "การผลิต ปรับปรุงพันธุ์มังคุดให้ตรงความต้องการของตลาด และพัฒนารูปแบบการจำหน่ายด้วยการประมูล"

'สิทธิพงษ์ อรุณรักษ์' ปราชญ์ฯ ต้นแบบสัมมาชีพ

แก้ปัญหาผลผลิตและราคามังคุดตกต่ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตชาวสวนมังคุด ได้ในที่สุด

สิทธิพงษ์ คือ ผู้ริเริ่ม รวมกลุ่มผู้ปลูกมังคุดท่ามะพลา ในชื่อ "กลุ่มปรับปรุงมังคุดเพื่อการส่งออกตำบลท่ามะพลา" เพื่อผลิตมังคุดที่มีคุณภาพ ก่อนจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนฯ "กลุ่มมังคุดศูนย์เรียนรู้การเกษตรท่ามะพลา" เมื่อปี 2553

ขณะนี้ ผลผลิตมังคุดของกลุ่มได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP (มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี) และตราสัญลักษณ์ Q (เครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร) ของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ สะท้อนถึงการผลิตมังคุดที่ได้คุณภาพอย่างแท้จริง

สิทธิพงษ์ยังเป็นผู้ริเริ่มรวมกลุ่มผู้ค้า "ประมูลมังคุด" มาตั้งแต่ปี 2549 เพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออก จนรู้จักในชื่อ "ท่ามะพลาโมเดล" ทำให้ชาวสวนมังคุดมี "อำนาจการต่อรอง" การจำหน่ายมังคุด กลายเป็นผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์และเผยแพร่ในสื่อต่างๆ ในชื่อ การถอดบทเรียนจากกรมส่งเสริมการเกษตรท่ามะพลาโมเดล แจกจ่ายทั่วประเทศ โดยในปัจจุบันชาวสวนมังคุดใน 14 จังหวัดภาคใต้ (50-60 กลุ่ม) ยังนำท่ามะพลาโมเดล ไปใช้ในการประมูลมังคุด รวมถึงจังหวัดอื่นๆ ในภาคตะวันออก อย่างเช่น จันทบุรี

ด้วยคุณภาพของมังคุดผสานกับรูปแบบในการจำหน่ายดังกล่าว ทำให้สามารถจำหน่ายผลผลิตมังคุดในราคาสูงกว่าราคาท้องถิ่น เป็นราคาที่เป็นธรรม ทำให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง "สองเท่าตัว" ทำให้สมาชิกเกิดการออมเงิน จนเป็นที่ยอมรับและเป็นตัวอย่างของชุมชนในวงกว้าง

จากจุดเริ่มต้นมีสมาชิก 15 ราย ขณะนี้ วิสาหกิจฯ แห่งนี้ มีสมาชิกราว 100 ราย มีผลผลิตมังคุดปีละกว่า 1,200 ตัน เป็นการประมูลจำหน่ายในประเทศสัดส่วน 40% ที่เหลือเป็นประมูลส่งออกไปทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เป็นต้น

"ผมภูมิใจที่ได้รับรางวัลปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพ สะท้อนถึงความตั้งใจ ดิ้นรน ขวนขวาย ที่จะพัฒนาคุณภาพมังคุดมาอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2529 เพื่อแก้ไขปัญหามังคุดราคาตกต่ำ  ซึ่งที่ผ่านมาแทบจะไม่มีคนสนใจ ทั้งๆ ที่ได้ชื่อว่าเป็นราชินีผลไม้

ผมไม่ได้คาดหวังเรื่องรางวัล  เราคือเกษตรกร ซึ่งมีความถนัดในเรื่องนี้อยู่แล้ว มีประสบการณ์ด้านมังคุด 100% แก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง และอยากพัฒนาคุณภาพการผลิตและจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง ให้ทั่วโลก รู้ถึงคุณภาพของมังคุดจากประเทศไทย ทำให้ชีวิตชาวสวนมังคุดดีขึ้น"  สิทธิพงษ์ เล่า  

องค์ความรู้ที่โดดเด่นของเขา  คือ "การนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม" ประกอบด้วย การปลูกพืชที่ใช้ระบบสมัยใหม่ โดยการปลูกเป็นแถวเป็นแนว มีการปลูกพืชผสมผสาน เพื่อบริหารความเสี่ยงด้านผลผลิตจากสภาพดินฟ้าอากาศแปรปรวน มีการใส่ปุ๋ยตามแผนการผลิตพืชตามค่าวิเคราะห์ดิน ใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อปรับสภาพดินและช่วยบำรุงดิน

มีการทดลองเรื่องการให้น้ำเพื่อทดสอบการเกิดเนื้อแก้วยางไหล เป็นงานวิจัยที่ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน โดยเก็บข้อมูลภายในแปลง ประกอบกับการใช้เครื่องมือต่างๆ ติดตั้งที่แปลงเพื่อเก็บค่าไปวิเคราะห์และคำนวณข้อมูล

ผลการวิจัยเรื่องเนื้อแก้วยางไหลค้นพบว่า เนื้อแก้วยางไหลเกิดจากเส้นใยอาหารของมังคุดขาดกัน ทำให้ยางมังคุดวิ่งย้อนกลับเข้าเนื้อ จึงต้องแก้ไขโดยการให้ธาตุอาหารเสริม คือ แคลเซียมโบรอน เพื่อเชื่อมต่อเส้นใยอาหารไม่ให้ขาดจากกัน

นอกจากนี้ ยังมีการปลูกต้นมังคุดเสียบยอด เพื่อแก้ไขปัญหาระยะเวลาในการให้ผลผลิต และความสะดวกในการบริหารจัดการ โดยมังคุดจะเริ่มให้ผลผลิตเมื่ออายุ 2 ปี ขณะที่มังคุดซึ่งมาจากการเพาะเมล็ด จะใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 5-6 ปี ในการให้ผลผลิต

มังคุดเสียบยอดยอด จึงเป็นทางเลือกใหม่ในการผลิตมังคุดที่มีลักษณะ ผลใหญ่ เปลือกผลบาง เมล็ดลีบ เนื้อเยอะ และมีสีขาว

เขายังเป็นผู้ "ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการผลิตและการจัดการการผลิตมังคุดคุณภาพ" โดยใช้วิธีผลิตมังคุดอย่างเป็นระบบ เริ่มด้วยการทำมังคุดผิวมันเพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาดต่างประเทศ ที่ผู้บริโภคซึ่งมีกำลังซื้อและลูกค้าต่างประเทศจะต้องการมังคุดคุณภาพ จะดูจากลักษณะภายนอกที่ดูดีเป็นอันดับแรก

การทำมังคุดผิวมัน จึงเป็นกลยุทธ์ให้ได้มูลค่าเพิ่ม โดยต้องทำความสะอาดผล/คัดเกรด แยกผลผลิตมังคุดตามคุณภาพ

องค์ความรู้ดังกล่าวยังเผยแพร่เป็นรูปธรรม และกลายเป็นการพัฒนานวัตกรรมสังคม ในรูปแบบของการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนต้นแบบ การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร  การจัดทำเกษตรแบบแปลงใหญ่ การสร้างฐานเรียนรู้ประจำศูนย์ 6 ฐาน การทำบ่อแก๊สชีวภาพจากมูลสุกร การให้สมาชิกในกลุ่มเข้าร่วมโครงการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี GAP การจัดทำเตาเผาถ่านทำน้ำส้มควันไม้จากการเผาถ่านไม้มังคุด โดยการแต่งกิ่งมังคุดแล้วนำมาเผาถ่าน  

ผลงานของสิทธิพงษ์ทำให้พื้นที่ที่นี่กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของอำเภอหลังสวน ในการเผยแพร่ความรู้เรื่องการผลิตมังคุดสู่พื้นที่ตำบลอื่นๆ และจังหวัดอื่นๆ ที่ต้องการความรู้เรื่องการผลิตมังคุด

ปัจจุบัน เขายังได้เชื่อมโยงเครือข่ายจำนวน 23 กลุ่ม และกลุ่มมังคุดต่างๆ ภายในประเทศ ส่งผลให้มีการจัดการผลผลิตมังคุดอย่างยั่งยืน และมีการรวมกลุ่มจัดตั้งศูนย์เครือข่ายภายในอำเภอทั้งหมด 10 แห่ง ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญทั้งในด้านปศุสัตว์ ด้านการแปรรูป และด้านอื่นๆ มีการกระจายศูนย์เครือข่ายในทุกๆ ตำบลตามความรู้ความสามารถในการ ถ่ายทอดของแต่ละศูนย์ ซึ่งเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ สามารถเข้ามานำความรู้ไปต่อยอด ปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้

เขายังบอกด้วยว่า นวัตกรรมสังคมเหล่านี้ มีการทดลองร่วมกับองค์กรภายนอก เช่น สถาบันหรือวิทยาลัย และนำผลงานออกเผยแพร่อย่างถูกต้อง เกษตรกรสามารถทำตามแบบและขั้นตอนอย่างมีเหตุผล ไม่เกิดความผิดพลาดในการนำไปใช้งาน

สิทธิพงษ์ ยังระบุถึงความคาดหวังในการพัฒนาการจำหน่ายมังคุดว่า ต้องการจะรวมกลุ่มเกษตรกร จัดตั้งเป็นสหกรณ์ หรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนส่งออกมังคุดโดยตรงกับผู้ซื้อในต่างประเทศ ไม่ผ่าน "พ่อค้าคนกลาง" ที่ประมูลไปจำหน่ายต่อ เชื่อว่า หากทำเช่นนั้นได้จะทำให้ชาวสวนมังคุดได้ราคาดีขึ้นไปอีก

ทั้งยังสอดคล้องกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัล การค้าออนไลน์

"ตอนนี้เรา (ชาวสวน) กำลังศึกษาตลาด สอบถามผู้ประกอบการชาวจีน และเกาหลี ซึ่งมาดูงานกับเรา โลกมันแคบด้วยการค้าออนไลน์แล้ว จึงเห็นว่าน่าจะมีโอกาสส่งออกได้เอง ก็ได้รับการสนับสนุนที่ดีจากหน่วยงานภาครัฐเกือบทุกกรม-กองที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเรื่องการจำหน่ายสินค้าผ่านออนไลน์ เข้ามาดูแลเรื่องคุณภาพดิน เรื่องการลดต้นทุนการผลิต" สิทธิพงษ์ เผย

ที่ผ่านมาปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพในปี 2566 ผู้นี้ ยังได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณในระดับประเทศมากมาย ได้แก่ รางวัลปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรผู้นำชุมชนและเครือข่าย ปี 2564 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 3 ระดับประเทศ การประกวดเกษตรกรดีเด่น สาขาอาชีพทำสวน ของกรมส่งเสริมการเกษตร, รางวัลเกษตรกรดีเด่น สาขาการใช้วิชาการเกษตรดีที่เหมาะสม (GAPดีเด่น) ปี 2559 ของกรมวิชาการเกษตร, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ในการประกวดแปลงใหญ่ดีเด่น ระดับประเทศ ปี 2561 ของกรมส่งเสริมการเกษตร และรางวัลชมเชย การประกวดวิสาหกิจชุมชนดีเด่น ระดับประเทศ ประจำปี 2561

ทั้งหมดนี้ คือความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะพัฒนาคุณภาพและระบบการจำหน่ายมังคุดในฐานะลูกหลานชาวสวนมังคุด สู่การค้นคว้าหาองค์ความรู้มาพัฒนามังคุดไทย เพื่อทำให้มังคุดไทยโดดเด่นด้วยคุณภาพ ให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก

สมเป็น "ราชินีผลไม้ไทย" !!!

และสร้างความอยู่ดีมีสุข ตามแนวทางสัมมาชีพให้ชาวสวนมังคุดอย่างแท้จริง