กทม.เตรียมพร้อมระบบเฝ้าระวังควบคุมการแพร่ระบาดโรคระบบทางเดินหายใจ แนะกลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีนโควิด 19

12 Jan 2024

นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 สายพันธุ์ JN.1 ซึ่งคาดจะมีการแพร่ระบาดมากขึ้นหลังช่วงเทศกาลปีใหม่ว่า สนพ.ได้วางมาตรการเชิงรุกเตรียมพร้อมรองรับผู้ป่วยโควิด 19 โดยจัดเตรียมเตียงดูแลผู้ป่วยโควิด 19 ซึ่งจำนวนเตียงในปัจจุบันเป็นจำนวนที่ยังไม่ได้ขยายจำนวนเตียง หากมีผู้ป่วยมากขึ้นสามารถขยายจำนวนเตียงได้ เพื่อให้เพียงพอต่อการรองรับผู้ป่วยที่จะเข้ามารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลสังกัด กทม.

กทม.เตรียมพร้อมระบบเฝ้าระวังควบคุมการแพร่ระบาดโรคระบบทางเดินหายใจ แนะกลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีนโควิด 19

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สถานการณ์ยังไม่น่าเป็นห่วง อีกทั้ง กทม.ได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี รวมทั้งเตรียมพร้อมระบบเฝ้าระวัง ติดตาม ประเมินสถานการณ์ และควบคุมการแพร่ระบาดโรคระบบทางเดินหายใจ อาทิ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคติดเชื้อไวรัส RSV โรคโควิด 19 โรคปอดบวม หรือปอดอักเสบ รวมถึงวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้องตามแนวทางการรักษาของโรค จัดการสำรองยาให้เพียงพอต่อการรักษาผู้ป่วย จัดเตรียมวัคซีนป้องกันควบคุมโรคตามฤดูกาล ได้แก่ โรคหัด โรคไข้หวัดใหญ่ โรคโควิด 19 และโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันจากเชื้อไวรัสให้ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง พร้อมจัดเตรียมเวชภัณฑ์สำหรับป้องกันและรักษาโรค ตั้งจุดคัดกรองด้านหน้าทางเข้าโรงพยาบาล ตรวจวัดอุณหภูมิ จัดจุดบริการเจลล้างมือให้ประชาชนที่มารับบริการที่โรงพยาบาล ขณะเดียวกันได้มอบหมายกลุ่มงานอนามัยชุมชนของโรงพยาบาลในสังกัดให้บริการเชิงรุกในการให้ความรู้แก่ประชาชนที่มารับบริการและประชาชนในพื้นที่โดยรอบโรงพยาบาล โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียงให้ตระหนักถึงการดูแลและป้องกันโรคโควิด 19 และรณรงค์เชิญชวนให้รับวัคซีนโควิด 19 โดยฉีดปีละ 1 เข็ม

นอกจากนั้น ได้เน้นย้ำสื่อสารให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรค รวมทั้งขอให้ทุกคนไปรับวัคซีนโควิด 19 ประจำปี (Annual Vaccination) ซึ่งเริ่มฉีดในปี 2566 เป็นปีแรก ฉีดปีละ 1 เข็ม โดยเฉพาะผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ประชาชนกลุ่ม 608 กลุ่มคนที่ทำงานกับผู้ป่วย หรือกลุ่มเสี่ยง และเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ควรฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้นระยะห่างจากเข็มสุดท้าย หรือประวัติการติดเชื้อครั้งสุดท้ายอย่างน้อย 3 เดือน ส่วนบุคคลทั่วไปสามารถรับวัคซีนประจำปีได้เช่นเดียวกันตามความสมัครใจ สามารถรับบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 เบิกจ่ายตามสิทธิการรักษา ณ สถานพยาบาลที่คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครกำหนด โดยติดต่อสอบถามได้ที่คลินิกวัคซีนผู้ใหญ่ ในโรงพยาบาลสังกัด กทม. ทั้งนี้ สามารถพบแพทย์ผ่าน Telemedicine แอปพลิเคชัน "หมอ กทม." เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการได้อย่างรวดเร็ว หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนสุขภาพ สนพ.กทม.โทร.1646 ตลอด 24 ชั่วโมง

 

กทม.เตรียมพร้อมระบบเฝ้าระวังควบคุมการแพร่ระบาดโรคระบบทางเดินหายใจ แนะกลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีนโควิด 19