sacit เชิญตัวแทนผู้สร้างสรรค์งานหัตถกรรมไทยร่วมเดินทางจัดแสดงผลงานพร้อมศึกษาแนวคิดการสร้างสรรค์งานหัตถกรรมในมุมมองใหม่ ๆ ยังประเทศญี่ปุ่น เพื่ออัปสกิล พัฒนาศักยภาพในการสร้างสรรค์งานหัตถกรรม ขยายโอกาสทางการตลาดในระดับนานาชาติ พร้อมทั้งต่อยอดแนวความคิดนำมาปรับใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ตลาดต่างชาติ
สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit มุ่งส่งเสริมการสร้างผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย ให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม ขยายตลาดผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยทั้งในและต่างประเทศ สร้าง Soft Power งานหัตถศิลป์ไทย เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ให้ผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย โดย sacit ได้เชิญ 5 ตัวแทนผู้สร้างสรรค์งานหัตถกรรมไทยไปร่วมแสดงผลงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทักษะฝีมือเชิงช่าง ในงาน LIFESTYLE Week TOKYO 2023 ณ ประเทศญี่ปุ่น และเพื่อไม่ให้เป็นการเสียโอกาส sacit จึงพาผู้สร้างสรรค์งานหัตถกรรมไทยไปเปิดประสบการณ์ศึกษาแนวคิดการสร้างสรรค์งานหัตถกรรมของญี่ปุ่น เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นด้านงานฝีมือมาอย่างมากกระจายอยู่ทั่วประเทศ และมีความเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของผู้คนอย่างแน่นแฟ้นมาจนถึงปัจจุบัน ถือเป็นการเปิดมุมมองใหม่ ด้วยการพาไปเยี่ยมชมและหารือที่ศูนย์งานหัตถกรรมพื้นถิ่นของประเทศญี่ปุ่นต่าง ๆ เพื่อศึกษาแนวคิดการสร้างสรรค์งานหัตถกรรม และศึกษาแนวโน้มตลาดหัตถกรรมของญี่ปุ่น
การศึกษาแนวคิดการจัดการที่พิพิธภัณฑ์หัตถกรรมดั้งเดิมเอโดะไทโต เป็นที่รวบรวมงานศิลปหัตถกรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่นมากที่สุดในโตเกียว และเป็นแหล่งผลิตหัตถกรรมที่ใกล้สูญหาย โดยที่แห่งนี้เป็นแหล่งศิลปหัตถกรรมสมัยเอโดะทุกรูปแบบ มีผลงานศิลปหัตถกรรมที่น่าสนใจมากกว่า 40 ประเภท ซึ่งปัจจุบันมีการบริหารจัดการโดยชุมชนในเขตไทโต เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมที่เกือบสูญหายให้คงอยู่คู่ญี่ปุ่น
ศึกษางานหัตถกรรมที่ใช้กระบวนการ upcycle อย่าง Tokyo Kimono Shoes ซึ่งเป็นร้านขายรองเท้าทำมือที่นำเศษผ้ากิโมโนที่เหลือจากการตัดเย็บนำกลับมาสร้างสรรค์เป็นรองเท้าในสไตล์ใหม่ เพื่อช่วยลดปัญหาขยะจากอุตสาหกรรมแฟชั่น ทำให้ผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทยมีมุมมองที่ขยายวงกว้างมากขึ้นในการพัฒนางานศิลปหัตถกรรมไทยให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามกระแสการรักษ์โลก (Go Green) ซึ่งสอดคล้องกับปัจจุบันที่หลายคนเริ่มตระหนักถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมที่สร้างความยั่งยืน (sustainable)
ทั้งนี้ ผู้สร้างสรรค์งานหัตถกรรมไทยยังได้พูดคุยหารือกับ Japanese Traditional Culture Promotion & Development Organization (JTCO) เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่มีเป้าหมายในการอนุรักษ์และส่งเสริมวัฒนธรรมญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมและวัฒนธรรมย่อยในท้องถิ่นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ภายใต้คำขวัญ "การค้นหาความร่ำรวยที่แท้จริงในความสม่ำเสมอ" ทำให้พบว่าปัจจุบันสถานการณ์ของผู้ประกอบการงานศิลปหัตถกรรม ในขอบเขตการรับผิดชอบของ JTCO ทั้งตลาดในประเทศญี่ปุ่นและต่างประเทศ สินค้าที่ขายได้และได้รับความนิยม ต้องออกแบบให้มีความร่วมสมัย โดดเด่นในด้านดีไซน์ มีฟังก์ชั่นการใช้งานที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ และการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัย เน้นวัตถุดิบที่เป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่นมาสร้างสรรค์ สารมารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับศิลปหัตถกรรมได้
sacit เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพผู้สร้างสรรค์งานหัตถกรรมไทยในการสร้างผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมมุมมองใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม ซึ่งตัวแทนผู้สร้างสรรค์งานหัตถกรรมไทยที่ร่วมเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นด้วยในครั้งนี้ จะได้รับประสบการณ์ มุมมอง แนวคิดใหม่ๆ เกี่ยวกับงานหัตถกรรม สามารถพัฒนาต่อยอดงานหัตถกรรมของตนในเชิงพาณิชย์ได้ รวมไปถึงสามารถต่อยอดเพิ่มโอกาสทางการตลาดระหว่างผู้สร้างสรรค์งานหัตถกรรมไทยกับผู้บริโภคงานศิลปหัตถกรรมระดับโลก ช่วยส่งเสริมการพัฒนาแนวคิดการพัฒนาหัตถศิลป์ของไทยให้สามารถรักษามรดกทางวัฒนธรรม และดัดแปลงให้มีความร่วมสมัย เป็นที่ดึงดูดใจ และได้รับการยอมรับจากสากลมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลงานหัตถกรรมที่มีกระบวนการผลิต การสร้างสรรค์ ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม นำมาซึ่งความสุข ความภาคภูมิใจทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค รวมถึงสามารถสร้างรายได้เพิ่ม และยังช่วยสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจฐานรากสู่เศรษฐกิจระดับประเทศต่อไปอย่างยั่งยืน
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit