ม.มหิดล วิจัยพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เพิ่มมูลค่า และรักษาคุณภาพสินค้าเกษตร

24 Feb 2023

ลำไยเป็นผลไม้เศรษฐกิจที่สำคัญ ในแต่ละปีประเทศไทยส่งออกลำไยสดไปทั่วโลกคิดเป็นมูลค่าหลายพันล้านบาท เป็นที่ต้องการมากจนต้องมองหา "ลำไยนอกฤดู" แต่อุปสรรคสำคัญกลับไม่ได้มาจากคุณภาพของลำไยเป็นปัจจัยหลัก แต่มักเกิดจากการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ และวิธีการขนส่งที่ไม่เหมาะสม

ม.มหิดล วิจัยพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เพิ่มมูลค่า และรักษาคุณภาพสินค้าเกษตร

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิริยุภา เนตรมัย และ อาจารย์ ดร.ฐิติศิลป์ กิจเชวงกุล คณาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาชีวนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพอัจฉริยะ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับทุนจาก สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ (สวก.) เพื่อออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ลำไยสด และศึกษาระบบการขนส่งทางไปรษณีย์ จนสามารถหาทางออกให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนลำไยชาวไทยให้สามารถสู้วิกฤติเศรษฐกิจส่งสินค้าด้วยตัวเองโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง

เพียงออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้มีขนาดพอดี เพื่อไม่ให้ผลลำไยหลุดออกจากพวง เพราะจะทำให้สูญเสียมูลค่า และวางแผนการขนส่งโดยคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสินค้าระหว่างการขนส่ง เช่น อุณหภูมิ และแรงกระแทก

ทีมวิจัยพบว่าแรงกระแทกเป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้ลำไยสดได้รับความเสียหายระหว่างการขนส่ง โดยแรงกระแทกที่จะทำให้ผลลำไยหลุดออกจากขั้ว จะไม่เท่ากับแรงกระแทกที่ทำให้ผลลำไยเสียหาย ดังนั้นจึงจะต้องนำทั้งสองปัจจัยมาใช้ในการคำนวณเพื่อออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้มีความหนาและแข็งแรงมากพอร่วมด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิริยุภา เนตรมัย สนใจทำงานวิจัยออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เนื่องจากต้องการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประกอบการชาวไทยให้สามารถขายผลผลิตได้ราคาดี ลดปัญหาทางเศรษฐกิจและการสูญเสียอาหารลง

ซึ่งนอกจากผลงานการออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ลำไยสดแล้ว ยังได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่ได้รับจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เพื่อต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผักเคล หรือ "คะน้าฝรั่ง" ซึ่งเป็นที่กล่าวขานกันว่าเป็นหนึ่งใน"ซุปเปอร์ฟู้ด" ของคนรุ่นใหม่ เป็นที่ยอมรับถึงคุณค่าทางโภชนาการที่เป็นเลิศ

โดยนำมาทำเป็น "ผักเคลอบกรอบสัญชาติไทย" ที่ใช้เอกลักษณ์ของอาหารไทย ปรุงรสต้มยำ และเมี่ยงคำที่ถูกปากคนไทย นอกจากนี้ กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนานำผักเคลมาใช้ห่ออาหารเพื่อรับประทาน (Edible wrap) อีกด้วย

ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างส่วนหนึ่งที่เป็นผลผลิตทางวิชาการอันทรงคุณค่าจากมหาวิทยาลัยมหิดล โดยกลุ่มสาขาวิชาชีวนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพอัจฉริยะ คณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะทำให้ประเทศชาติบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ข้อ 9 (Industry, Innovation and Infrastructure) และข้อ 12 (Responsible Consumption and Production) สู่การเป็นประเทศนวัตกรรมตามยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจของชาติที่ยั่งยืนได้ต่อไปในที่สุด

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

HTML::image(