ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนปรับขึ้นสู่เกณฑ์ทรงตัว นักลงทุนคาดหวังปัจจัยหนุนจากภาคท่องเที่ยวและการชะลอขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ขณะที่ปัจจัยฉุดคือความไม่แน่นอนของนโยบายเฟดและภาวะเงินเฟ้อ
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนตุลาคม 2565 พบว่า "ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index: ICI) ในอีก 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 108.86 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 60.5% จากเดือนก่อนหน้าขึ้นมาอยู่ในเกณฑ์ "ทรงตัว" นักลงทุนมองว่าการฟื้นต้วของภาคท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือความคาดหวังต่อการชะลอการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ ความไม่แน่นอนต่อนโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED รองลงมาคือ สถานการณ์เงินเฟ้อ และสถานการณ์โรคระบาด Covid-19
ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) สำรวจในเดือนตุลาคม 2565 ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้
"ผลสำรวจ ณ เดือนตุลาคม 2565 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่าความเชื่อมั่นนักลงทุนทุกกลุ่มปรับเพิ่มขึ้นโดย นักลงทุนบุคคลปรับเพิ่ม 46.7% อยู่ที่ระดับ 113.43 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับเพิ่มขึ้น 11.1% อยู่ที่ระดับ 111.11 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับเพิ่มขึ้น 14.7% อยู่ที่ระดับ 130.00 และกลุ่มนักลงทุนต่างชาติปรับเพิ่ม 150.0% อยู่ที่ระดับ 100.00
ในช่วงเดือนตุลาคม 2565 SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยมีปัจจัยหนุนจากอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัว ความคาดหวังว่าเฟดจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ย แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ปรับสูงขึ้นกว่าคาด รวมถึงการประกาศผลประกอบการไตรมาส 3 ของกลุ่มธนาคารซึ่งออกมาดีตามความคาดหมาย โดย SET Index ณ สิ้นเดือนตุลาคมปิดที่ 1,608.76 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.2% จากเดือนก่อนหน้า ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิในเดือนตุลาคม 2565 กว่า 7,467 ล้านบาท โดยตลอดทั้งปี 2565 นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิเป็นมูลค่า 153,932 ล้านบาท
ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตามได้แก่ ความชัดเจนของนโยบายการขึ้นดอกเบี้ยของ FED ความผันผวนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งส่งผลให้ธนาคารกลางในหลายประเทศต้องออกมาตรการแทรกแซงค่าเงิน โดยเฉพาะธนาคารกลางอังกฤษและญี่ปุ่น รวมถึงแนวโน้มการถดถอยของเศรษฐกิจโดยเฉพาะในกลุ่ม emerging market สถานการณ์เศรษฐกิจจีนที่ยังคงชะลอตัวจากนโยบาย Zero Covid และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย—ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ การชะลอตัวของภาคการส่งออก แนวโน้มการไหลเข้าของสินค้าจากประเทศจีนซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในไทย สถานการณ์เงินบาทอ่อนค่าและเงินสำรองต่างประเทศของไทยที่ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วซึ่งเป็นผลจากการที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น โดยมีปัจจัยหนุนที่น่าติดตามจากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศจากแรงหนุนของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งจะส่งผลดีต่อการจ้างงานและการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ"
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit