ต้องทำอย่างไรให้เด็กหนึ่งคนเติบโตมี "สุขภาพจิตดี" ไม่ว่าจะเจอเรื่องดีร้ายรับมือได้ ลดเสี่ยงซึมเศร้า

23 Sep 2022

การเลี้ยงดูปลูกฝังจากพ่อแม่เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เด็กคนหนึ่งสามารถมีสุขภาพจิตที่ดีได้ เด็กเติบโตไปพร้อมๆ กับความสามารถในการรับมือสถานการณ์ของชีวิตที่เปลี่ยนแปลง พร้อมจิตใจที่เข้มแข็งด้วยมีภูมิต้านทาน หรือแม้แต่ไม่เสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า

ต้องทำอย่างไรให้เด็กหนึ่งคนเติบโตมี "สุขภาพจิตดี" ไม่ว่าจะเจอเรื่องดีร้ายรับมือได้ ลดเสี่ยงซึมเศร้า

วันที่ 10 ตุลาคม ของทุกปีเป็นวันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day) เพื่อให้ผู้คนและสังคมได้เห็นความสำคัญของสุขภาพจิต ทั้งเพื่อการป้องกันและบำบัดรักษาผู้ที่เจ็บป่วยทางจิตใจ รวมไปถึงการส่งเสริมให้มีสุขภาพจิตที่ดี และด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน โรคซึมเศร้าปรากฏให้เห็นชัดเจนขึ้น เรื่องจำนวนผู้ป่วยทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก หรือวัยรุ่น ต้อกย้ำว่าเป็นเรื่องที่สังคมต้องให้ความสำคัญ ข้อมูลจากสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ หน่วยงานภายใต้กรมสุขภาพจิต ระบุว่า เด็กและวัยรุ่นอายุ 10-19 ปี กว่า 10,000 คน มีการโทรเพื่อขอรับคำปรึกษา จากสายด่วนสุขภาพจิต 1323 โดยปัญหาสุขภาพจิตสำหรับวัยรุ่นที่พบมากที่สุดคือ ความเครียดและความวิตกกังวล ปัญหาความรัก และภาวะซึมเศร้าสอดคล้องกับข้อมูลของ โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่พบว่าปัญหาสุขภาพจิต 90% มาด้วยภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล เครียด ไม่มีความสุข ที่สำคัญที่สังเกตเห็นได้คือ พ่อแม่ที่พาเด็กมาก็มีภาวะซึมเศร้าด้วย

มูลนิธิเด็กโสสะฯ ตระหนักและให้ความสำคัญของภาวะสุขภาพจิตที่ดี ของทั้งเด็กและเยาวชน รวมถึงแม่ น้าผู้ที่คอยปลูกฝังเลี้ยงดูเด็กๆ ด้วยเล็งเห็นว่าทุกคนในสภาพแวดล้อมเดียวกันย่อมส่งผลต่อกันทางด้านจิตใจ อารมณ์ ความรู้สึกซึ่งกันและกัน เด็กๆ และเยาวชนในมูลนิธิเด็กโสสะฯ ได้อยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย เติบโตด้วยความรัก ความผูกพันความห่วงใยช่วยเหลือฉันท์พี่น้อง เหล่านี้เอื้อต่อการมีสุขภาพจิตที่ดี และภาวะอารมณ์ที่เข้มแข็ง

#พ่อแม่ควรดูแลสุขภาพจิตของตัวเองให้ดีก่อน

มูลนิธิฯ เน้นสนับสนุนกิจกรรมเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดี เช่นกิจกรรม "จิตวิทยาผ่อนคลายความเครียดให้กับแม่น้า" โดยมีการเชิญนักจิตวิทยาคลินิก จากโรงพยาบาลหาดใหญ่ มาเป็นวิทยากร พูดคุยให้คำแนะนำแนะวิธีการจัดการอารมณ์เมื่อต้องเจอกับความเครียด ทั้งนี้เพื่อให้แม่น้าที่ทำหน้าที่ดูแลเด็กๆ สามารถรับมือกับความเครียดได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างสิ่งแวดล้อมเชิงบวกในครอบครัวเพราะความเครียดเป็นสภาวะอารมณ์ของคนเมื่อเจอกับปัญหาหรือสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งโดยธรรมชาติคนเรามักจะแสดงปฏิกิริยาตอบสนองต่อสถานการณ์ หรือความเครียดไม่เหมือนกัน บางคนหงุดหงิดง่าย บางคนป่วยง่าย บางคนนอนไม่หลับ ดังนั้นเมื่อรู้เท่าทันรู้วิธีจัดการ ก็จะสามารถบรรเทาความเครียดได้บ้าง เพื่อเติมเต็มบรรยากาศที่ดีในครอบครัวให้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้กิจกรรมดังกล่าวได้เปิดโอกาสให้แม่น้าได้สอบถามและขอคำปรึกษาจากวิทยาผู้เชี่ยวชาญถึงเรื่องการแก้ไขปัญหาพฤติกรรมเด็ก การเลี้ยงดูเด็กในแต่ละช่วงวัยอีกด้วย

#ทำอย่างไร ให้เด็กๆ มีสุขภาพจิตที่ดี 

สิ่งสำคัญสารตั้งต้นหลักคือ พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องดูแลสุขภาพจิตตนเองให้ดีก่อน ห้ามละเลยข้อนี้เป็นสำคัญ แล้วจึงให้ความรัก ให้เวลา สร้างความสัมพันธ์ที่ดีด้วยการพูดคุย การทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่ว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกๆ มีเรื่องอยากเล่าให้ฟัง และไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตามควรรับฟังลูก เมื่อพ่อแม่รับฟังก็จะทำให้ลูกมีพฤติกรรมการยอมรับ และจะรับฟังพ่อแม่มากขึ้นเช่นกัน เด็กและวัยรุ่นกลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพจิตส่วนหนึ่งมาจากการพฤติกรรมติดจอ ดังนั้นเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ขวบ จึงไม่ควรดูหน้าจอทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นมือถือ ทีวี คอมพิวเตอร์ ส่วนเด็กโตขึ้นมาหน่อยต้องจำกัดเวลาการใช้งานเครื่องมืออุปกรณ์สื่อสาร อย่าปล่อยลูกไว้กับหน้าจอ สอนให้ลูกมีระเบียบวินัย รู้จักอดทนรอคอยอย่างเข้าใจ สอนให้รู้จักช่วยเหลือตัวเองตามช่วงวัย ควรมีหน้าที่งานบ้านต้องรับผิดชอบ ปฏิบัติกับลูกบนพื้นฐานของความรักและเข้าใจ มีเมตตาและเอาใจใส่ จะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยทางจิตใจ ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือต้องเข้าใจพัฒนาการของเด็ก รู้ว่าเด็กวัยนี้ทำอะไรได้ ยังไม่ควรทำอะไร ไม่เร่งรัดจนเป็นความกดดัน และทำให้เกิดความเครียดได้โดยที่ไม่ตั้งใจ ไม่เปรียบเทียบลูกเราลูกเขา ยอมรับเข้าอกเข้าใจในตัวตนของลูก เพราะทุกคนมีความแตกต่าง มีข้อดีข้อเสียต่างกันไป เหล่านี้จะทำให้ลูกมองเห็นคุณค่าในตัวเอง ในทางเดียวกันถ้าลูกทำไม่ถูก ต้องให้ลูกเรียนรู้การรับผิดชอบ ให้รู้ว่าทำผิดก็ต้องปรับปรุงแก้ไข ทุกคนสามารถทำผิดได้ และมีโอกาสที่จะทำให้ดีขึ้นได้เช่นกัน สอนให้ลูกมีทักษะในการจัดการอารมณ์ ให้รู้จักผ่อนคลายความเครียด เวลาโกรธ เสียใจ ให้รู้เท่าทันอารมณ์ตัวเอง โกรธได้ เสียใจได้ แต่ไม่ทำอะไรไปตามอารมณ์ จนเกิดผลเสียต่อตัวเองและคนรอบข้าง ซึ่งตรงนี้สมควรอย่างยิ่งที่พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกได้เห็นด้วย

เมื่อพยายามดูแลใส่ใจเห็นความสำคัญของสุขภาพจิตแล้ว ก็ต้องไม่ลืมดูแลสุขภาพกายด้วยการรับประทานอาหารที่มีคุณค่า มีประโยชน์ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ขยับร่างกายออกกำลัง ก็จะช่วยบรรเทาความเครียดที่เกิดขึ้น และช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดี สดชื่นแจ่มใส่ในทุกๆ วัน

ร่วมสนับสนุน ในการมอบโอกาสที่สองให้เด็กได้เติบโตในครอบครัวทดแทนอีกครั้ง

https://www.sosthailand.org/donate-now

ต้องทำอย่างไรให้เด็กหนึ่งคนเติบโตมี "สุขภาพจิตดี" ไม่ว่าจะเจอเรื่องดีร้ายรับมือได้ ลดเสี่ยงซึมเศร้า
ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit