กว่าที่สินค้าหรือผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นจะออกจำหน่ายสู่ท้องตลาดได้ ต้องมีการศึกษาปัจจัยต่าง ๆ อย่างละเอียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่มีวัตถุดิบจากสมุนไพรธรรมชาติ ต้องมีงานวิจัยมารองรับ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพ มีความปลอดภัย และได้มาตรฐานสากล
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการกำหนดทิศทางและจัดสรรงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ เพื่อให้เกิดการสร้างองค์ความรู้และเกิดการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรมในการพัฒนาประเทศ โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน หนึ่งในนั้นคือ อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ซึ่งถือเป็นศูนย์รวมของการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ครบวงจร รวมถึงมีส่วนสนับสนุนให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการนำเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์
น.ส.ทิพวัลย์ เวชชการัณย์ ผู้อำนวยการกลุ่มอุทยานวิทยาศาสตร์ กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า แรกเริ่มของการก่อตั้งจนถึงปัจจุบันอุทยานวิทยาศาสตร์กระจายตัวไปตามภูมิภาคต่าง ๆ แต่หลายภาคส่วนยังเห็นว่า อุทยานวิทยาศาสตร์เป็นเพียงสถานที่สำหรับพาเด็ก ๆ ไปเที่ยวชมนิทรรศการวิทยาศาสตร์ แต่อันที่จริงแล้วอุทยานวิทยาศาสตร์เป็นสถานที่ที่มีความสำคัญในการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม สามารถยกระดับงานวิจัยให้ใช้ประโยชน์ได้จริง และเชื่อมโยงองค์ความรู้กับทุกภาคส่วน ซึ่งผู้ประกอบการสามารถนำผลงานวิจัยไปใช้ในเชิงธุรกิจหรือลงทุนวิจัยเองได้ และอุทยานวิทยาศาสตร์ทำงานตอบโจทย์สังคม ส่งเสริมให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
"อุทยานวิทยาศาสตร์เป็นสะพานเชื่อมระหว่างสถาบันวิจัยหรือมหาวิทยาลัยกับผู้ประกอบการ เพื่อนำเอาองค์ความรู้ งานวิจัยและทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่ไปใช้ประโยชน์ในภาคธุรกิจหรือภาคสังคมและชุมชนได้จริง นอกจากนี้ยังช่วยตอบโจทย์ผู้ประกอบการที่มาใช้บริการ ด้วยการให้การช่วยเหลือทั้งด้านการทำธุรกิจและการพัฒนานวัตกรรม ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือช่วยเหลือผู้ประกอบการ อุทยานวิทยาศาสตร์ต้องผลักดันผู้ประกอบการให้ประสบความสำเร็จให้ได้" น.ส.ทิพวัลย์ กล่าว
ด้านนายวิสิษฐ กอวรกุล ประธานกรรมการ บริษัท เจดับบลิว เฮอร์เบิล จำกัด กล่าวว่า บริษัทวางแผนผลิตสินค้าจากสมุนไพรธรรมชาติหลายชนิดที่ช่วยแก้โรคเส้นโลหิตตีบตัน แต่ปัญหาคือสินค้าอาจมีสารพิษปนเปื้อนและยังไม่มีงานวิจัยรองรับ ต่อมาบริษัทก็ได้รับการสนับสนุนจากอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ จ.เชียงราย และคณะทีมวิจัย หลังจากใช้เวลา 3 ปี ในการพัฒนาสินค้าด้วยงานวิจัย ผลลัพธ์ที่ได้คือโรงงานของบริษัทได้มาตรฐานสากล สามารถผลิตสินค้าออกมาจำหน่ายได้ และเป็นที่ยอมรับจากหลากหลายองค์กร นอกจากนี้ผู้บริโภคยังสะท้อนกลับมาว่าสินค้ามีคุณภาพและช่วยแก้ไขปัญหาได้จริง สิ่งที่ท้าทายมากที่สุดในขั้นตอนการดำเนินงาน คือ งานวิจัย ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะนำพาสู่ความสำเร็จในธุรกิจ
ขณะที่ รศ. ดร.ชญาดา อาจารย์ประจำคณะสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย และนักพัฒนาธุรกิจผลิตภัณฑ์ บริษัท บัวบก สมุนไพรไทย จำกัด ได้กล่าวเสริมว่า เป้าหมายของการพัฒนางานวิจัยในครั้งนี้คือ ยกระดับสมุนไพรบัวบกจากชุมชนในตลาดเวชสำอาง โดยได้ทำงานร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น ในการขับเคลื่อนธุรกิจตามหลัก BCG Model และเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งวิธีการทำงานจะเน้นบทบาทการเป็นพี่เลี้ยงมากกว่าการอบรมเท่านั้น นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นเปลี่ยนความคิดของเกษตรกรผ่านแนวความคิด "พาดู พาทำ พาขาย" สร้างความยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ จนกระทั่งจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนขึ้นมา เพื่อเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ร่วมกัน สิ่งที่ยากที่สุด คือ ต้องกล้าออกมาจากความคิดเดิมให้ได้ก่อน กล้าที่จะยอมรับว่าเรายังมีจุดอ่อน ให้เกียรติคนอื่น ๆ และยอมรับศักยภาพของทุกคนในทีม
เวทีสัมมนาทางวิชาการ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2565 (TSRI Annual Symposium 2022) "ขับเคลื่อนภูมิภาคทั่วไทย ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม" จึงเป็นเวทีที่ตอกย้ำว่า วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจและวิสาหกิจภูมิภาค สร้างอาชีพและรายได้ที่สามารถยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่นให้ดียิ่งขึ้น
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit