38 ปีที่ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียนมหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการก่อตั้งเพื่อส่งเสริมและพัฒนางานสาธารณสุขมูลฐานของประเทศไทย และภูมิภาคอาเซียน โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ซึ่งญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ครองแชมป์คนที่มีอายุยืนมากที่สุดในโลกนั้น ได้มีการศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงปัจจัยสู่การมีชีวิตที่ยืนยาวและยั่งยืน เพื่อนำมาปรับใช้กับสังคมไทยตลอดเวลาที่ผ่านมา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วิชช์เกษมทรัพย์ รองผู้อำนวยการฝ่ายขับเคลื่อนนโยบาย สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะหัวหน้า "โครงการวิจัยสานพลัง ติดตามและสนับสนุนกระบวนการ นโยบายสุขภาพเพื่อรองรับสังคมสูงวัยที่มีคุณภาพ" ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 15 เมษายน - 30 มิถุนายน 2564 กล่าวว่า จากที่สถาบันฯได้เป็นผู้วางรากฐานด้านการส่งเสริมและพัฒนางานสาธารณสุขมูลฐานของประเทศซึ่งที่ผ่านมาระบบสาธารณสุขมูลฐานของไทยได้แสดงศักยภาพในการพัฒนาการสาธารณสุขไทยหลายเรื่อง ผ่านการทำงานบริการสาธารณสุขในพื้นที่พร้อมด้วยอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทั่วประเทศกว่าล้านคน ที่เห็นชัดใกล้ๆ นี้ก็คือ การควบคุมป้องกันโรคระบาด COVID-19 ในปี พ.ศ.2563 ได้สำเร็จเป็นอย่างดี
ปัจจุบันเมื่อสังคมไทยก้าวสู่สังคมผู้อายุมากกว่า 60 ปี เกือบร้อยละ 20 หรือมากกว่า 12 ล้านคน บทบาทของ อสม. และระบบสาธารณสุขมูลฐานก็ปรับเปลี่ยนไป มีบทบาทเพิ่มเติมเพื่อไปควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรังแก่ผู้สูงวัย รวมถึงคอยสอดส่องดูแล และส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุโดยใช้ชุมชนเป็นพื้นฐาน (Community-based Care) เพื่อการดูแลในระยะยาวที่ยั่งยืนต่อไปอีกด้วย
จากกรณีศึกษาประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีประชากรอายุยืนมากที่สุดในโลก พบว่าสังคมญี่ปุ่นต้องพัฒนาระบบการดูแลระยะยาว (Long-Term Care) และการประกันการดูแลระยะยาว (Long-Term Care Insurance) เพื่อรองรับผู้สูงวัยที่มีเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นระบบประกันที่ทำให้คนญี่ปุ่นได้รับการดูแลในวัยเกษียณจากภาษีรัฐบาล ที่ถึงแม้ไม่สามารถนำมาใช้กับประเทศไทยได้ 100% เนื่องจากไทยและญี่ปุ่นมีโครงสร้างทางประชากร เศรษฐกิจ และสังคมที่แตกต่างกัน แต่เมื่อเมืองไทยกำลังดำเนินรอยตามญี่ปุ่นในการเข้าสู่สังคมสูงวัย เราก็สามารถนำระบบเหล่านี้มาปรับให้กับบริบทประเทศไทยที่ไม่ได้รายได้เฉลี่ยของประชากรสูงเท่าญี่ปุ่น โดยเรามุ่งใช้ชุมชนเป็นพื้นฐาน (Community-based Care) เพื่อให้สมาชิกชุมชนได้ดูแลซึ่งกัน เพื่อก่อให้เกิดสังคมที่ไม่ทอดทิ้งกันผ่านโครงข่ายการสาธารณสุขมูลฐานที่เข้มแข็งในชุมชนซึ่งเป็นจุดเด่นของประเทศไทยที่ญี่ปุ่นไม่มี
อย่างไรก็ตาม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วิชช์ เกษมทรัพย์ อธิบายว่า ผู้สูงวัยซึ่งมีอายุระหว่าง 60 - 80 ปีนั้น จำนวนมากไม่ได้ต้องการให้มีคนมาดูแล เพราะยังมีกำลังในการทำกิจวัตรประจำวันได้เป็นอย่างดี และสามารถเป็น "ผู้สูงวัยที่มีพลัง" (Active Aging) ได้ โดยพบว่าผู้สูงวัย เป็นวัยที่น่าจะมี "สุขภาวะทางปัญญา" ดีกว่าประชากรในวัยอื่น เนื่องจากมีประสบการณ์ชีวิตที่สูงกว่า และเข้าใจความเป็นจริงในโลกมากกว่า เปรียบเหมือน "ขุมทรัพย์" (asset) ที่จะยังประโยชน์ให้กับสังคมที่ท่านเหล่านั้นอาศัยอยู่ตั้งแต่ในระดับครอบครัวชุมชน ไปจนถึงระดับประเทศได้ ไม่ใช่ต้องเป็นแต่ภาระของสังคม โดยเฉพาะในยุคดิจิทัลเช่นปัจจุบัน และคาดว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าจะมีประชากรกลุ่มใหญ่ที่เกิดระหว่างปีพ.ศ.2506 - 2526 ซึ่งเป็นช่วงที่มีจำนวนคนเกิดในประเทศไทยมากกว่าล้านคนต่อปีติดต่อกันกว่า 20 ปี (ปัจจุบันเกิดประมาณ 6 แสนคนต่อปี) กำลังจะเปลี่ยนผ่านช่วงชีวิตไปสู่วัยสูงอายุ ซึ่งต่างมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอยู่ในเกณฑ์ที่ใช้ได้ไปจนถึงดีมาก ถ้ารัฐบาลมีการผลักดันให้มีนโยบายเพื่อสร้างระบบมาช่วยให้ผู้สูงวัยกลุ่มนี้ได้แสดงศักยภาพที่มีอยู่อย่างเต็มที่ เชื่อว่าท่านเหล่านี้จะนำพาสังคมไทยไปสู่สังคมสุขภาวะ และมีความเจริญก้าวหน้าไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้อย่างแน่นอน
ดังนั้นการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้มีงานทำที่เหมาะสม และทำกิจกรรมผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น การมีนโยบายสนับสนุนให้มีการใช้อินเทอร์เน็ตฟรีได้ทุกที่ทุกเวลา นอกจากจะช่วยทำให้ผู้สูงอายุที่มีสมรรถภาพทางกายที่อาจจะไม่เหมาะสมกับการทำงานแบกหามอย่างหนักได้แสดงศักยภาพทางปัญญาได้อย่างเต็มที่แล้ว ยังจะสามารถช่วยป้องกันความเสื่อมต่างๆ ทางร่างกายและจิตใจ เช่น สมองเสื่อม หรือภาวะเหงา ซึมเศร้าได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
อย่างไรก็ดีพบว่า เมื่อถึงภาวะหนึ่งผู้สูงวัยจำนวนหนึ่งก็จะมีสภาพร่างกายที่ทรุดโทรมลงมาจนอาจจะเป็นผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งเราคงยังจำเป็นต้องพัฒนาระบบการดูแลระยะยาวและสร้างระบบการประกันการดูแลระยะยาวให้แก่ผู้สูงวัยไทยให้ได้อยู่ในช่วงสุดท้ายของชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี หรือจะดีที่สุดก็คือให้มีช่วงที่ต้องพึ่งพิงผู้อื่นช้าและน้อยที่สุด จึงเป็นโจทย์ที่ "โครงการวิจัยสานพลังติดตาม และสนับสนุนกระบวนการนโยบายสุขภาพเพื่อรองรับสังคมสูงวัยที่มีคุณภาพ" สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล นำมาขับเคลื่อนให้เครือข่ายที่เกี่ยวข้องมาร่วมระดมสมอง โดยหวังให้ผู้สูงอายุไทยได้อยู่อย่างมีสุขภาพกายและจิตที่ดี มีศักดิ์ศรี และมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไปอย่างยั่งยืน
โดยโครงการฯ ได้กำหนดให้มีการระดมสมองใน 4 ประเด็น คือ "สูงวัยอย่างมีพลัง ยังประโยชน์ในยุคดิจิทัล" "ขยับอย่างไรให้สุขภาพดีในผู้สูงวัย" "Long-Term Care Insurance นโยบายเพื่อสังคมสูงวัย" และ"จากอย่างสง่า" ซึ่งจะมีการขยายผลเพื่อผลักดันสู่นโยบายในระดับประเทศต่อไป
"คนไทยจะสามารถบรรลุเป้าหมาย Community-based Care ได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการเตรียมพร้อมกาย-ใจในระดับบุคคล รวมทั้งการพัฒนานโยบายในระดับชาติ และท้องถิ่นที่จะสร้างวินัยและระบบในการออมให้กับวัยรุ่นหนุ่มสาว และในระยะสั้นควรมีการเตรียมระบบที่จะช่วยพัฒนาให้ผู้มีอายุย่างเข้าเลข 4 เลข 5 ทุกคนได้พร้อมที่จะทำงานร่วมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ จะทำให้เมื่อดำเนินชีวิตไปเป็นผู้สูงวัยในอีก 10 - 20 ปีข้างหน้าแล้วจะเป็น "ผู้สูงวัยที่มีพลัง พร้อมที่จะยังประโยชน์ให้กับสังคมไทยต่อไปได้อย่างยั่งยืน" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วิชช์ เกษมทรัพย์ กล่าวทิ้งท้าย
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit