หลากหลายวิธีรักษาผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน

05 Oct 2020

พญ.ชญาดา ชัยบุตร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย

หลากหลายวิธีรักษาผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน

โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคที่มีการอักเสบเรื้อรังของผิวหนังที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอย่างมาก ความชุกของการเกิดโรคนี้มีรายงานตั้งแต่ 0.1-11.8% ขึ้นกับเชื้อชาติของประชากร พบได้ทั้งในเพศชายและหญิง ผู้ใหญ่และเด็ก

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ทราบเพียงแต่ว่าเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น ปัจจัยทางพันธุกรรม และปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมมากระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติและกระตุ้นผิวหนังชั้นกำพร้าของผู้ป่วยให้มีการแบ่งตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วผิดปกติ จึงเกิดเป็นผื่นสีแดงที่มีสะเก็ดสีขาวคล้ายเงินปกคลุมอยู่ มีชื่อเรียกว่า “สะเก็ดเงิน”

อาการทางผื่นผิวหนังของสะเก็ดเงินมีได้หลายรูปแบบ แต่แบบที่พบได้บ่อยที่สุดคือ ชนิดผื่นหนา (Plaque type psoriasis หรือ psoriasis vulgaris) รูปที่ 1 และ 2 เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด ลักษณะรอยโรคเป็นผื่นแดงหนา ขอบเขตชัด ขุยหนา พบบ่อยบริเวณหนังศีรษะ ลำตัว ก้นและแขนขา บริเวณข้อศอก ข้อเข่า ทั้งสองข้าง นอกจากนี้อาจพบมีรอยโรคในตำแหน่งอื่นๆได้ทั่วร่างกาย เช่น หน้า มือ เท้า รูปที่ 3

สะเก็ดเงินส่วนใหญ่จะสามารถวินิจฉัยได้จากผื่นผิวหนังโดยที่ไม่ต้องอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการใดเพิ่มเติม ยกเว้นในบางกรณีที่ผื่นผิวหนังไม่ชัดเจนอาจจำเป็นต้องอาศัยการตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยาเพื่อช่วยยืนยันในการวินิจฉัย ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าอาหารเกี่ยวข้องกับสาเหตุของโรคสะเก็ดเงิน ดังนั้นการตรวจภูมิแพ้อาหารจึงไม่มีความจำเป็นต้องทำในผู้ป่วยสะเก็ดเงิน

นอกจากนั้นโรคสะเก็ดเงินไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะทางผิวหนัง แต่อาจพบมีสัมพันธ์กับโรคอื่น ๆได้แก่ โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงินและกลุ่มอาการ metabolic syndrome ได้แก่ โรคอ้วน ภาวะไขมันในเลือดสูง และเบาหวาน เป็นต้น ดังนั้นผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินจึงควรได้รับการคัดกรองโรคร่วมอื่น ๆกับโรคสะเก็ดเงินเป็นระยะอีกด้วย

สำหรับแนวทางการรักษาโรคสะเก็ดเงิน ขึ้นกับความรุนแรงของโรค ดังนี้

  • สะเก็ดเงินความรุนแรงน้อย หมายถึง ผื่นน้อยกว่า10% ของพื้นที่ผิวทั่วร่างกาย (ผื่นขนาดประมาณ 1 ฝ่ามือเท่ากับพื้นที่ประมาณ1%) ให้การรักษาโดยใช้ยาทาเป็นอันดับแรก
  • สะเก็ดเงินความรุนแรงมาก หมายถึง ผื่นมากกว่า10% ของพื้นที่ผิวทั่วร่างกาย พิจารณาให้การรักษาโดยใช้ยารับประทาน การฉายแสงอาทิตย์เทียม ยาฉีดชีวภาพ หรืออาจใช้ร่วมกันหลายวิธีก็ได้

ยาทาภายนอก รูปที่ 4 สำหรับรักษาโรคสะเก็ดเงิน มีหลายชนิด ที่ใช้บ่อย ได้แก่

  1. ยาทาคอติโคสเตียรอยด์ (topical corticosteroids) ส่วนใหญ่นิยมใช้ในการรักษาโรคสะเก็ดเงิน เนื่องจากผื่นสะเก็ดเงินจะตอบสนองต่อยาทากลุ่มนี้ได้ดี และราคาไม่แพง แต่หากใช้ยาที่แรงเกินไปร่วมกับทาเป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดผิวหนังบางและเกิดรอยแตกของผิวหนังได้ รวมถึงอาจเกิดการดื้อยาและอาจกดการทำงานของต่อมหมวกไตได้
  2. น้ำมันดิน (tar)มีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลผิวหนังที่ผิดปกติ ประสิทธิภาพดี แต่น้ำมันดินมีสีน้ำตาล กลิ่นเหม็น เวลาทาอาจทำให้เปรอะเปื้อนเสื้อผ้า อาจพบผลข้างเคียงคือเกิดรูขุมขนอักเสบ หรือระคายเคืองผิวหนังบริเวณที่ทายาได้
  3. อนุพันธ์วิตามินดี (calcipotriol) มีฤทธิ์ทำให้การแบ่งตัวของเซลผิวหนังกลับสู่ปกติ มีประสิทธิภาพดี ข้อเสียของยานี้คือ อาจมีการระคายเคืองได้หากทาบริเวณผิวหนังที่บาง และยามีราคาค่อนข้างแพง
  4. ยาทากลุ่ม calcineurin inhibitor เป็นยาลดการอักเสบของผิวหนังที่สามาถนำมาใช้ในการรักษาผื่นโรคสะเก็ดเงินบริเวณที่ผื่นบาง เช่น ที่ใบหน้าหรือตามซอกพับเพื่อต้องการหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงจากยาทาคอติโคสเตียรอยด์ เช่น ผิวหนังบาง แต่ยังไม่ได้ใช้แพร่หลายเนื่องจากยามีราคาแพง

ยารับประทานรักษาโรคสะเก็ดเงิน พิจารณาให้ในกรณีที่สะเก็ดเงินทีความรุนแรงปานกลางถึงมาก ที่ใช้บ่อยในประเทศไทยมี 3 ชนิด

  1. เมทโทเทรกเสท (methotrexate) เป็นยาที่มีประสิทธิภาพดี ออกฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลผิวหนังที่ผิดปกติ รวมถึงมีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันของร่างกาย ผลข้างเคียงที่อาจพบ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน หากรับประทานยาติดต่อกันนานหลายปีจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดตับแข็งได้ แพทย์จึงต้องทำการตรวจเลือดผู้ป่วยเพื่อดูการทำงานของเม็ดเลือด และค่าตับเป็นระยะ
  2. อาซิเทรติน (acitretin) เป็นยารับประทานในกลุ่ม vitamin A ได้ผลดีมากสำหรับสะเก็ดเงินชนิดตุ่มหนอง ผลข้างเคียงที่อาจพบ ได้แก่ ปากแห้งลอก ผิวแห้ง มือเท้าตึงลอก ระดับไขมันในเลือดสูง และอาจทำให้เกิดตับอักเสบได้ ข้อควรระวังสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับยานี้คือ ห้ามตั้งครรภ์เนื่องจากทารกในครรภ์อาจพิการได้ โดยต้องคุมกำเนิดขณะรับประทานและต้องคุมกำเนิดต่อไปอีกอย่างน้อย 2 ปีหลังหยุดยา
  3. ไซโคลสปอริน (cyclosporin) มีฤทธิ์ลดการอักเสบและยับยั้งภูมิคุ้มกันของร่างกาย ประสิทธิภาพในการรักษาดี ใช้กรณีสะเก็ดเงินรุนแรงปานกลางถึงมาก ผลข้างเคียงที่ต้องระวัง ได้แก่ ผลข้างเคียงต่อไต และความดันโลหิตสูง ดังนั้นระหว่างรับประทานยานี้ แพทย์จึงต้องเจาะเลือดติดตามการทำงานของไตและวัดความดันโลหิตเป็นระยะ

การฉายแสงอาทิตย์เทียม (Phototherapy) รูปที่ 5
เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ได้ผลดีในการรักษาสะเก็ดเงินและปลอดภัย ซึ่งปัจจุบันแสงที่ใช้ในการรักษาโรคสะเก็ดเงินมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ แสงอัลตราไวโอเลต A และแสงอัลตราไวโอเลต B ผู้ป่วยต้องมารับการรักษาที่ รพ. 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 เดือนติดต่อกัน โดยจะให้ผลดีประมาณ 70 - 80% ขึ้นไป พบผลข้างเคียงน้อย ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคันและแดงบริเวณผิวหนังที่ฉายแสงหลังทำการรักษา

ยาฉีดกลุ่มชีวภาพ (Biological agents)
เป็นยาใหม่ที่มีผลเปลี่ยนแปลงต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย อยู่ในรูปยาฉีดเข้าเส้นหรือเข้าใต้ชั้นไขมัน ถือเป็นการรักษาที่ได้ประสิทธิภาพดีมาก แต่ต้องมีการฉีดยาต่อเนื่องตลอด ข้อเสียคือ ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง และเนื่องจากยาในกลุ่มนี้เป็นยาใหม่ จึงยังต้องติดตามผลข้างเคียงระยะยาวต่อไป

นอกจากการรักษาข้างต้นที่กล่าวมาแล้วนั้น การให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและญาติเรื่องการดูแลและปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องก็มีความสำคัญเช่นกัน การเข้าใจว่าสะเก็ดเงินเป็นโรคไม่ติดต่อ ผู้ป่วยจะไม่ถูกรังเกียจจากคนรอบข้าง ญาติและคนใกล้ชิดควรเข้าใจและให้กำลังใจผู้ป่วย และเนื่องจากโรคสะเก็ดเงินเป็นโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยควรดูแลตนเองและหลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจกระตุ้นให้โรคแย่ลง ได้แก่ ความเครียด การพักผ่อนน้อยและการดื่มสุรา