รอยยิ้ม กำลังใจ สานสายใย ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน

27 Oct 2014

วันที่ 29 ตุลาคม ของทุกๆ ปี จัดเป็นวันสะเก็ดเงินโลก สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยต้องการสื่อสารให้สังคมเข้าใจโรคสะเก็ดเงินในทางที่ถูกต้องและเป็นกำลังใจให้ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินให้ มีชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข

ความสำคัญ โรคสะเก็ดเงิน มีชื่อภาษาอังกฤษว่า “Psoriasis” หรือที่ชาวบ้านเข้าใจผิดเรียกว่าโรคเรื้อนกวาง นั้น เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่พบบ่อย อาการมีผื่นแดง สะเก็ดสีเงินหนา บริเวณผิวหนัง หนังศีรษะ เล็บ มีอาการคันร่วมด้วย บางรายมีไข้สูง ตุ่มหนองกระจายทั่วตัว มีข้ออักเสบและ ข้อผิดรูปร่วมด้วย ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากพันธุกรรมและความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค ไม่ใช่โรคติดต่อ ยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดได้ ส่งผลกระทบต่อร่างกาย จิตใจและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย สังคมคนรอบข้างรังเกียจ ไม่อยากเข้าใกล้ ผู้ป่วยเด็กต้องขาดเรียนเวลาทีผื่นเห่อ เพื่อนไม่กล้าเล่นด้วย ผู้ป่วยผู้ใหญ่มีความอับอาย ไม่กล้าเข้าสังคม แยกตัวจากสังคม เพราะเกรงว่าจะเป็นที่รังเกียจ ไม่มีใครรับเข้าทำงานเนื่องจากมีความเชื่อที่ผิดคิดว่าเป็นโรคติดต่อ

เชื่อหรือไม่ว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคนี้เทียบจากประชากรจำนวน 100คน จะมีป่วยโรคสะเก็ดเงินถึง 2 คน หากเทียบประชากรในปัจจุบัน 67 ล้านคน จะมีผู้ป่วยด้วยโรคสะเก็ดเงินและสะเก็ดเงินแฝงจำนวนประมาณถึง 1.34 ล้านคน

โรคสะเก็ดเงินเกิดได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง พบได้ในทุกช่วงอายุ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยพบบ่อยใน 2 ช่วงอายุ คือ ช่วงวัยรุ่นถึงวัยรุ่นตอนปลาย อายุประมาณ 20 ปี และวัยผู้ใหญ่ อายุประมาณ 55-60 ปี

สาเหตุของโรคสะเก็ดเงิน เชื่อว่าเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันเม็ดเลือดขาว T lymphocyte เฉพาะที่ผิวหนัง หลั่งสารมากระตุ้นให้เซลล์ผิวหนัแบ่งตัวเร็วกว่าปกติ ทำให้เกิดผื่นที่มีสะเก็ดหนา นอกจากนี้ยังเชื่อว่าเกิดจากพันธุกรรม มียีนที่เป็นสาเหตุหลายชนิด ครอบครัวที่มีพ่อหรือแม่เป็นโรคสะเก็ดเงิน ลูกจะมีโอกาสเป็นโรคสะเก็ดเงินสูงกว่าคนทั่วไป

อาการ ผื่นผิวหนังเป็นได้หลายรูปแบบ ที่พบบ่อย คือ ผื่นแดงขอบเขตชัดเจน มีขุ่ยหรือสะเก็ดสีเงินปกคลุมหนา (Silvery-white scale) เมื่อลอกขุยออกจะมีจุดเลือดออก (Auspitz sign) ขนาดผื่น มีตั้งแต่ ขนาดเล็กเท่าหยดน้ำ (Guttate Psoriasis) หรือผื่นขนาดเท่าเหรียญหรือปื้นขนาดใหญ่กว่าฝ่ามือ (Chronic Plague type Psoriasis) หรือเป็นตุ่มหนอง (Pustular Psoriasis) พบผื่นบริเวณหนังศีรษะ ลำตัว แขน ขา เป็นๆ หายๆ บางรายผื่นเป็นแดงทั่วตัวจนไม่เหลือผิวหนังปกติ (Psoriasis Erythroderma)

ความผิดปกติอื่นๆที่อาจพบได้ คือ เล็บมือ เล็บเท้าผิดปกติ เล็บเป็นหลุม เล็บร่อน เล็บโดนทำลาย มีข้ออักเสบ ปวดบวม แดงร้อน ข้อผิดรูปได้ พบได้ประมาณ 20- 40% โดยผู้ป่วยอาจมีอาการผิดปกติของเล็บหรือปวดข้อนำมาก่อน หรือเกิดขึ้นพร้อมๆกับอาการผื่นที่ผิวหนัง

ผู้ป่วยบางรายมีอาการผื่นเห่อเฉียบพลันแล้วผื่นก็หายไป บางรายมีผื่นผิวหนังอักเสบกำเริบเรื้อรังไปตลอดชีวิต ปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้ผื่นเห่อกำเริบ เช่น ความเครียด การแกะเกา การดื่มสุรา การอดนอน การติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินหายใจ หูอักเสบ การติดเชื้อ HIV การตั้งครรภ์ ยารับประทานบางอย่าง เช่น ยาลดความดัน ยารักษาโรคทางจิตเวช ยาแก้ปวดข้อปวดกระดูก เป็นต้น

นอกจากนี้ผู้ป่วยสะเก็ดเงินที่มีอาการรุนแรง มักมีโรคร่วมซ้ำซ่อนต่างๆได้ เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคอ้วนลงพุง เส้นเลือดหัวใจตีบ อัมพาต มะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นต้น อีกทั้งพบภาวะซึมเศร้า แยกตัวจากสังคม เครียด มีพฤติกรรมที่ผิดปกติ ติดเหล้า ติดบุหรี่ ฆ่าตัวตายได้

การรักษาโรคสะเก็ดเงิน มีหลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละคน ในกรณีที่ผื่นเป็นน้อยพิจารณารักษาด้วยยาทาเฉพาะที่ เช่น ยาทากลุ่มสเตียรอยด์ กลุ่มไวตามินดี ยาทาน้ำมันดิน กรณีที่ผื่นเป็นมาก กระจายทั่วร่างกาย ควรพิจารณารักษาด้วยการฉายแสงอัลตร้าไวโอเลต 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 3 เดือน ผลการรักษาค่อนข้างดี ผลข้างเคียงน้อย หรือถ้าผู้ป่วยไม่สะดวกมาฉายแสงอัลตร้าไวโอเลต ที่โรงพยาบาล อาจพิจารณารักษาด้วยยารับประทาน เช่น ยา Methotrexate Neotigason และ Cyclosporine เป็นต้น ยาเหล่านี้ ผลการรักษาค่อนข้างดีเช่นกัน แต่มีผลข้างเคียงต่อระบบเม็ดเลือด ตับ ไต ผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์เป็นระยะ มีการเจาะเลือดเพื่อเฝ้าระวังผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่ในรายที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยารับประทานหรือการฉายแสงอัลตร้า ไวโอเลตอาจพิจารณารักษาด้วยยาฉีด biologics ผลการรักษาค่อนข้างดีเช่นกันแต่มีราคาแพง

นอกจากนี้ผู้ป่วยต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่อาจทำให้ผื่นกำเริบได้ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่ดื่มสุรา ไม่หมกมุ่นอยู่กับปัญหาเดิมๆที่แก้ไขไม่ได้ ออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อกำจัดความเครียดแอบแฝง ผู้ป่วยต้องมีความเข้าใจในตัวโรคสะเก็ดเงิน มองโลกในแง่บวก และปรับตัวอยู่กับโรคสะเก็ดเงินได้อย่างมีความสุข คนในครอบครัวและสังคมรอบข้างต้องให้รอยยิ้ม ให้กำลังใจผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยมีอาชีพ มีงานทำ เพื่อให้ผู้ป่วยไม่เป็นภาระกับใคร

ในปัจจุบันคณะแพทย์ผิวหนังจากสถาบันและโรงพยาบาลต่างๆ หลายแห่งทั่วประเทศ อาทิ สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข , คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล , คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี , คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ , คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า , คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ,โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปทั่วภูมิภาค ฯลฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้จัดตั้งชมรมโรคสะเก็ดเงินแห่งประเทศไทย เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินแบบครบวงจร สะเก็ดเงินไม่ใช่โรคร้าย ผู้ป่วยอยู่ได้ด้วยความเข้าใจ

สื่อมวลชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

ธนศักย์ อุทิศชลานนท์ (โป้ง)

ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ บริษัท คอร์ แอนด์ พีค จำกัด

โทรศัพท์ 0-2439-4600 ต่อ 8202