นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน สำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า “ ทางสนพ. ได้จัดเตรียมแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติ 2561-2580 revision 1 เสร็จเรียบร้อยและอยู่ระหว่างนำเสนอในคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ เพื่อนำไปปฏิบัติทันที่ ซึ่งในแผนพัฒนาฯนี้ จะมีโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน 700 เมกะวัตต์ เป็นโครงการแรก ซึ่งรวมถึงในรูปแบบ Quick Win 100 เมกะวัตต์ และแบบปกติ 600 เมกะวัตต์ นอกจากนั้น แผนพัฒนาพลังงานทดแทน ได้ระบุถึงแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม จำนวน 75 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเป็นการรวมโครงการเดิมที่ค้างท่ออยูประมาณ 44 เมกะวัตต์กับโครงการใหม่ประมาณ 21 เมกะวัตต์ โดยตามแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติ กำหนดให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 2565 จึงคาดว่าจะต้องคัดเลือกผู้พัฒนาโครงการภายในปีนี้จึงจะสามารถสร้างโรงไฟฟ้าให้เสร็จสมบูรณ์ และสามารถจ่ายไฟฟ้าได้ภายในปี 2565
“ การคัดเลือกโครงการโรงไฟฟ้ากากอุตสาหกรรมนั้น มีเกณฑ์การคัดเลือกที่แตกต่างกัน คือ จะพิจารณาจากศักยภาพของผู้เสนอโครงการ ว่ามีปริมาณเชื้อเพลิงกากอุตสาหกรรมเพียงพอหรือไม่ แหล่งที่มาของเชื้อเพลิงจากที่ใด มีความมั่นคงทางเชื้อเพลิงหรือไม่ ตลอดจนประสบการณ์ในการพัฒนาโรงไฟฟ้า ตลอดจนการดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชน เนื่องจากโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมด้านขยะ ซึ่งเป็นปัญหาหลักด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ ไปพร้อมกับการผลิตไฟฟ้า ตามนโยบาย Waste-to-Energy หรือการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน จึงทำให้โครงการนี้มีอัตราการรับซื้อไฟฟ้าสูงถึงประมาณ 6.83 บาทต่อหน่วยเพื่อจูงใจให้เอกชนที่มีความพร้อมมาร่วมกันกับภาครัฐในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัจจุบัน มีบริษัทฯที่มีความพร้อมครบทุกด้านเพียงไม่กี่ราย ทำให้มีโครงการค้างท่อจากการเปิดรับซื้อไฟฟ้าเมื่อ 2 ปีที่แล้วอยู่ถึง 44 เมกะวัตต์ ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน วัตถุประสงคหลักคือเพื่อช่วยเศรษฐกิจฐานราก ช่วยให้เกษตรกร และ ชุมชนทั่วประเทศมีรายได้ และมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าโดยการเข้าถือหุ้นในโรงไฟฟ้า ในขณะที่ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนในการพัฒนาเป็นหลัก โดยเชื่อมั่นว่าปีนี้จะประมูลโครงการ Quick Win ได้ตามเป้าหมาย” นายวัฒนพงษ์กล่าว
ด้านนายจักรรัฐ เลิศโอภาส รองผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ทางกระทรวงอุตสาหกรรมและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้เสนอแนวทาง การเปลี่ยนขยะอุตสาหกรรมเป็นพลังงาน (Waste-to-Energy) เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน โดยได้ทำหนังสือถึงกระทรวงพลังงาน และ สำนักงานนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สนพ.) เพื่อขอรับการสนับสนุนให้สร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมากด้วยเชื้อเพลิงจากกากอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นอันตรายในรูปแบบของเชื้อเพลิงอัดก้อน Refuse Derived Fuel (RDF) ในเฟสแรกจำนวน 500 เมกะวัตต์ ซึ่งจะใช้ปริมาณกากอุตสาหกรรม ประมาณ 5 ล้านตันต่อปี ถือเป็นนโยบายเร่งด่วน สมควรจะบรรจุลงในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (PDP) เพิ่มเติ ซึ่งแนวทางนี้จะช่วยแก้ปัญหาขยะอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน แทนการนำไปฝังกลบในบ่อฝังกลบซึ่งนอกจากจะไม่เกิดประโยชน์แล้ว ยังเป็นการสร้างปัญหาให้สิ่งแวดล้อม เนื่องจากประเทศไทยมีปริมาณหลุมฝังกลบไม่เพียงพอ และการขยายหรือสร้างหลุมฝังกลบใหม่ เป็นเรื่องที่ทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากอาจได้รับการต่อต้านจากประชาชนในจังหวัดนั้นๆ ทำให้สุดท้ายอาจเกิดปัญหาในการกำจัดกากอุตสาหกรรมที่เพิ่มมากขึ้นทุกวันๆ จากการขยายตัวของอุตสาหกรรมตามนโยบายของรัฐบาล และการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ และคาดว่าจะมีปริมาณกากอุตสาหกรรมมากถึง 25-28 ล้านตันต่อปีในปี 2565 เพิ่มจาก 22 ล้านตันต่อปีในปัจจุบัน ซึ่งเป็นปริมาณที่เพียงพอสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงสร้างโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมได้ถึง 2,000 เมกะวัตต์ สำหรับการสร้างโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมนั้น จะต้องสร้างในนิคมอุตสาหกรรมเพื่อการควบคุมดูแลการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าไม่ให้ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งในปัจจุบันปริมาณขยะในประเทศไทยโดยรวมเฉลี่ยปริมาณขยะทั้งหมด 49.8 ล้านตันต่อปี แบ่งเป็นขยะชุมชน 27.8 ล้านตันต่อปี และขยะอุตสาหกรรม 22 ล้านตันต่อปี เป็นขยะอุตสาหกรรมไม่อันตราย 20.8 ล้านตันต่อปี และขยะอุตสาหกรรมอันตราย 1.2 ล้านตันต่อปี
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit