และเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี พร้อมคณะที่ปรึกษา และเจ้าหน้าที่จากส่วนงานที่เกี่ยวข้องได้เดินทางเข้าเยี่ยมการดำเนินงานของฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ พบว่าการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายทุกประการ ภายในฟาร์มมีการเลี้ยงไก่พื้นเมือง เลี้ยงเป็ดชวา เลี้ยงปลาในกระชังปลูกพืชผัก ผลไม้ ปลูกอ้อยคั่นน้ำ และเพาะเห็ด ไปจนถึงการทำนาเพื่อผลิตเป็นข้าวกล้องเพื่อบริโภคและจำหน่ายภายในชุมชนใกล้เคียง นอกจากนี้ภายในฟาร์ม ฯ ยังมีการจัดตั้งโรงสีข้าวขึ้นมาเพื่อให้บริการสีข้าวแก่ราษฎรในพื้นที่เพื่อบริโภค และในการดำเนินกิจการของฟาร์มฯ เพื่อให้สมาชิกได้มีรายได้จากการจ้างงาน ประกอบกับเป็นการเสริมความรู้ในการทำเกษตรที่ถูกต้องให้กับสมาชิก ปัจจุบันภายในฟาร์มฯ มีสมาชิก 46 ราย ทุกคน
มีรายได้ตามอัตราจ้างคนละ 4,500 บาทต่อเดือน ซึ่งสามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ในระดับหนึ่ง โอกาสนี้ องคมนตรีและคณะ ได้เยี่ยมชมกิจการภายในแปลงของฟาร์ม อาทิ การปลูกแก้วมังกรในวงบ่อ การปลูกมะนาวในวงบ่อ การปลูกพืชผักในโรงเรือน การปลูกผักชนิดต่าง ๆ และเยี่ยมชมกิจกรรมด้านปศุสัตว์ เช่น การเลี้ยงไก่ไข่แบบปิด การนี้ องคมนตรีได้ให้คำแนะนำเรื่องการจัดทำโรงเรือนเพื่อปลูกพืชผักให้ได้ผลผลิตที่ดีและมีปริมาณมากขึ้น พร้อมทั้งให้นำไก่พันธุ์เบตงมาเลี้ยงภายในฟาร์ม ซึ่งเพิ่มเติมจากการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่และพันธุ์พื้นเมือง รวมทั้งการจัดทำโรงเรือนผลิตปุ๋ยจากมูลไก่ เพื่อนำมาใช้บำรุงต้นพืชภายในฟาร์มตัวอย่างฯ อีกด้วย
ทางด้านนางสาวทัศนี แก้มคู ราษฎรตำบลไทรทอง อำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานี หนึ่งในสมาชิกฟาร์มตัวอย่างฯ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่มีการจัดตั้งฟาร์มตัวอย่างฯ ขึ้น ทำให้ราษฎรในพื้นที่ทั้งตำบลมีอาหารสำหรับบริโภคภายในครัวเรือนอย่างไม่ขัดสน ไม่ต้องเดินทางออกไปตลาดเพื่อหาซื้อ โดยเฉพาะในช่วงที่สถานการณ์ความไม่สงบค่อนข้างรุนแรง เพื่อความปลอดภัยทุกคนจะไม่กล้าเดินทาง ก็มีอาหารจากฟาร์มแห่งนี้บริโภคทุกครัวเรือนอย่างไม่ขัดสน มีทั้งเนื้อ ไก่ ไข่ไก่ ไปจนถึงผักทุกชนิดที่คนภาคใต้นิยมบริโภค รวมถึงผลไม้ เช่น แก้วมังกร ส่วนข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักก็มีเพียงพอบริโภคตลอดทั้งปี
"ผลผลิตของฟาร์มฯ ในตอนนี้มีปริมาณมาก สามารถนำส่วนหนึ่งไปจำหน่ายให้กับชุมชนอื่น ๆ ได้ อย่างเช่นที่โรงพยาบาลในตัวอำเภอไม้แก่น ก็เข้ามารับผลผลิตจากฟาร์มฯ ไปใช้ประกอบอาหารให้กับผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยได้รับอาหารที่ดีและปลอดภัย เพราะภายในฟาร์มฯ จะผลิตพืชผักและเลี้ยงสัตว์ตลอดถึงปลาในกระชังในระบบปลอดสารพิษ ทำให้สมาชิกฟาร์มฯ มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย ราษฎรในพื้นที่ทุกคนต่างปลื้มปีติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่พระองค์ท่านทรงพระกรุณาพระราชทานความช่วยเหลือให้มีการจัดตั้งฟาร์มตัวอย่างฯ แห่งนี้ขึ้นมา ทุกคนมีกิน มีใช้ มีความสุข ไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัยในชีวิตกับการเดินทางออกไปหาซื้ออาหารในตัวอำเภอเหมือนเมื่อก่อน เพราะวันนี้ภายในหมู่บ้านมีกิน มีใช้ อย่างเพียงพอ" นางสาวทัศนี แก้มคู กล่าว
วัดสารวัน เดิมชื่อ วันลูตง สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีพระราชประสงค์สร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2445 (ร.ศ.121) ปัจจุบันใช้ประกอบศาสนกิจในวันสำคัญต่าง ๆ ของชาวบ้านในพื้นที่
ในการเดินทางเข้าเยี่ยมชมและให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานตลอดถึงขวัญกำลังใจแก่ประชาชนในตำบลไทรทอง อำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานี ขององคมนตรีในครั้งนี้ ยังได้มอบเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทานจากพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญแก่ตัวแทนเกษตรกร เพื่อนำไปปลูกขยายพันธุ์และแจกจ่ายเพื่อเพาะปลูกต่อไป พร้อมพบปะประชาชนและซักถามชีวิตความเป็นอยู่ และกล่าวถึงเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมายังจังหวัดปัตตานี จนเกิดตำนานด้านการพัฒนา เช่น เหตุการณ์ปลาร้องไห้ จนก่อเกิดการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำเค็มและน้ำกร่อยรุกล้ำพื้นที่เลี้ยงปลาในกระชังของราษฎร ที่ปัจจุบันเหตุการณ์เหล่านั้นไม่เกิดขึ้นอีกเลย ยังผลให้ราษฎรที่เลี้ยงปลาในกระชังได้รับผลผลิตที่ดีอย่างเต็มที่ พร้อมกันนี้ องคมนตรีได้เชิญพระราชกระแสความห่วงใยจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีต่อราษฎร ซึ่งได้สร้างความปลาบปลื้มให้กับทุกคนเป็นอย่างยิ่ง
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit