การแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่เป็นอัตลักษณ์พื้นถิ่นให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ด้วยรูปลักษณ์ รสชาติที่เปลี่ยนไปจากของเดิม ถือเป็นความท้าทายทางการตลาดในการเดาทางผู้บริโภค โดยเฉพาะการแข่งขันทางการตลาดปัจจุบันค่อนข้างสูงและมีสินค้าทางเลือกมากมาย ขณะเดียวกันในฐานะเจ้าของธุรกิจในพื้นที่ก็เกิดประเด็นคำถามว่า จะทำอย่างไรให้สูตรใหม่ที่ปรับขึ้นเกิดกระแสวัฒนธรรมการบริโภคสินค้าในแบบที่ยั่งยืน
ดร.สรรเพชร เพียรจัด นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ทำงานวิจัยโครงการ "รูปแบบการยกระดับเศษฐกิจชุมชนด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์พื้นถิ่น ข้าวเม่าแบบบูรณาการ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์" ซึ่งสนับสนุนโดย สถาบันวิจัยและพัฒนา ร่วมกับฝ่ายบูรณาการวิจัยและความร่วมมือเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวถึงเป้าหมายการทำงานวิจัยว่า งานวิจัยดังกล่าวเป็นการทำงานร่วมกับชุมชนในเรื่องการแปรรูปผลิตภัณฑ์ข้าวเม่าของเกษตรตำบลหนองโสน อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม หลังจากพบว่าราคาขายข้าวเม่าโปรหรือข่าวเม่าที่ยังไม่ได้แปรรูปไม่มีการปรับขึ้นราคามากว่า10 ปี
"โจทย์คือจะทำอย่างไรให้ข้าวเม่าโปรซึ่งเป็นข้าวเม่าพื้นฐานมีราคาเพิ่มขึ้น ปัจจุบันข้าวเม่าโปรขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 50 บาท ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาไม่มีการปรับขึ้นราคาเลย และหากจะปรับขึ้นราคาข้าวเม่าตอนนี้น่าจะเป็นเรื่องยากเพราะมีหลายๆปัจจัยเข้ามา ทีมวิจัยจึงมุ่งเน้นประเด็นช่องทางการตลาดใหม่ กลุ่มลูกค้าใหม่ รวมถึงการหาช่องว่างการตลาดที่สามารถกระจายรายได้อย่างเป็นธรรมให้กับชุมชน โดยนำความรู้จากภูมิปัญญาเดิมของชาวบ้านกับความรู้เชิงวิชาการนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวเม่าแบบบูรณาการ"
จากการเก็บข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ตำบลหนองโสน อำเภอนางรองกว่า 100 ครัวเรือน ที่ประกอบอาชีพเกี่ยวข้องกับทำข้าวเม่า ซึ่งส่วนใหญ่นิยมใช้ข้าวเหนียว โดยพันธุ์ข้าวเหนียวที่นิยมนำมาใช้ทำข้าวเม่ามี 3 สายพันธุ์ คือ หอมเสงี่ยม ยุ้งแตก และ กข.6 ชุมชนมีความต้องการใช้ข้าวเปลือกประมาณ 300 ตันต่อปี แต่ชุมชนสามารถเพาะปลูกเองได้เพียง 100 ตันต่อปีเท่านั้น จึงจำเป็นต้องนำเข้าข้าวเหนียวจาก จังหวัดอุบลราชธานี และอีกหลายจังหวัดในภาคอีสาน เข้ามาแปรรูปเกิดการกระจายรายได้ในกลุ่มเกษตรผู้ปลูกข้าว
ขณะเดียวกันพบว่า ตลาดข้าวเม่าในประเทศยังมีมูลค่าน้อยและจำกัดอยู่ในเฉพาะกลุ่ม จึงถือเป็นความท้าทายของนักวิจัยและผู้ประกอบการที่จะกระตุ้นตลาดการบริโภคข้าวเม่าให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง
จากโจทย์ดังกล่าวนำไปสู่การแปรรูปข้าวเม่าให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยได้ทดลองตลาดและปรับปรุงรสชาติให้ถูกใจผู้บริโภคมากขึ้น เช่น ข้าวเม่าคลุก ข้าวเม่าหมี่ ข้าวเม่ากระยาสารท ข้าวเม่าลูกชิ้น ข้าวเม่าซีเรียลหรือธัญพืชอบกรอบแนวอาหารฟิวชั่น ถือเป็นการเจาะกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยอยู่ในจังหวัดบุรีรัมย์นั่นเอง
"การทำงานวิจัยตอนนี้มี 2 step นั่นคือการแปรรูปผลิตภัณฑ์ใหม่โดยที่ทุกคนในชุมชนสามารถคิดกระบวนการหรือขั้นตอนการผลิตได้ โดยมีนักวิจัยและนักศึกษาสาขา Food Science เข้ามาช่วยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ จากนั้นจะนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดใหม่ เช่น สถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัด เทศกาลกีฬาโมโตจีพีหรือการแข่งขันฟุตบอลลีกส์ หรือในโรงแรม เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชิมและสะท้อนกลับถึงรสชาติหรือการพัฒนาแปรรูปทำให้เกิดการรับรู้ถึงผลิตภัณฑ์ใหม่ๆขึ้นมาในบุรีรัมย์"
ดร.สรรเพชร ยังกล่าวอีกว่า การทำงานวิจัยในปีนี้ซึ่งเป็นปีที่ 2 ทีมวิจัยเน้นในเรื่องการยกระดับผลิตภัณฑ์ โดยมีการวางแผนการทำงานไว้ 5 ขั้นตอนต่อปี ภายใต้คำสำคัญ 3 คำที่ยึดถือมาตั้งแต่ปีแรกคือ Green Clean และ Quality นั่นหมายรวมไปถึงมิติของความยั่งยืนข้าวเม่านางรองที่สอดคล้องกับบุรีรัมย์โมเดลที่เน้นกีฬาและการท่องเที่ยว
"ขั้นตอนของการทำงานวิจัยข้าวเม่าเราวางแผนไว้ 5 ปี โดยปีแรกเรามีคีย์เวิร์ดอยู่ 3 คำ Green Clean Quality คือต้องทำอย่างไรให้เกิด 3 คำนั้นทั้งในเรื่องมาตรฐานการผลิต ในเรื่องของสิ่งแวดล้อมตอนนี้เราใช้เตาที่มีประสิทธิภาพ สามารถลดฟืนได้ถึง 60 % พอปีที่ 2 มองเรื่องของการยกระดับและบริหารใหม่ที่ได้มาตรฐาน ปีที่ 3 เรามองเรื่องของสหกรณ์ หรือการค้าขายที่เป็นธรรม ปีที่ 4 เจาะไปเรื่องของการบูรณาการภาคีพัฒนา และปีที่ 5 ทำอย่างไรให้ชุมชนนี้เป็นชุมชนท่องเที่ยวเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์จังหวัดที่มี event ตลอดทั้งปี ซึ่งจะมีวัฒนธรรมต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะเรามองว่าข้าวเม่าถือเป็นวัฒนธรรมการกินอย่างหนึ่งที่สามารถพัฒนาต่อยอดเป็นธุรกิจชุมชนให้เป็นตลาดที่กว้างขึ้น หากมีการหนุนเสริมที่ยั่งยืนผมเชื่อว่าสามารถเป็นต้นแบบให้กับหลายๆ ชุมชนใช้โมเดลนี้ไปพัฒนาต่อยอดได้"
อย่างไรก็ตาม นอกจาการแปรรูปข้าวเม่าในแบบต่างๆ ที่เป็นการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าให้ข้าวเม่าในอำเภอนางรองแล้ว การส่งเสริมการตลาดให้มีการกระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างเป็นธรรม ถือเป็นการปลดล๊อคราคาข้าวเม่าโปรได้อย่างลงตัว รวมถึงเป็นการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มโอกาสการตลาดของผลิตภัณฑ์ข้าวเม่าสู่การยกระดับเศรษฐกิจชุมชนในอนาคต.
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit