ในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป ซึ่งถือเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบเกือบ 8 ปี โดยในการเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นการเลือกตั้งที่มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อมากที่สุดถึงกว่า 13,000 คน จากพรรคการเมืองมากกว่า 80 พรรค และมีผู้ได้รับการเสนอชื่อเพื่อให้รัฐสภาคัดเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี 68 คน ทั้งนี้ผู้คนในสังคมต่างตื่นตัวกับการเลือกตั้งในครั้งที่จะถึงนี้และได้ตั้งความหวังที่จะให้รัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นหลังการเลือกตั้งแก้ไขปัญหาของประเทศด้านต่างๆ จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคาดหวังของประชาชนทั่วไปต่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 24 มีนาคม พ.ศ. 2562
จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง แบ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.33 และเพศชายร้อยละ 49.67 สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านความคิดเห็นต่อจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งนั้น กลุ่มตัวอย่างเกือบครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 48.43 มีความคิดเห็นว่าในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 นี้จะมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งคิดเป็นร้อยละเท่าๆ กับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 29.16 มีความคิดเห็นว่าจะมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งสูงกว่า โดยที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 22.41 มีความคิดเห็นว่าจะมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ต่ำกว่า
ในด้านความคิดเห็นต่อผู้ถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีและผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากจำนวนผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีทั้งหมด กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 78.09 ระบุว่ามีผู้ที่ตนเองอยากให้เป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 มากที่สุดอยู่ในใจแล้ว ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 21.91 ยอมรับว่ายังไม่มี ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 53.46 มีความคิดเห็นว่าจะเลือกผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคการเมืองเดียวกับที่เสนอชื่อ/สนับสนุนผู้ที่ตนเองอยากให้เป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 35.83 มีความคิดเห็นว่าจะไม่เลือก ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 10.71 ยังไม่แน่ใจ อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่แต่ไม่ถึงครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 48.6 มีความคิดเห็นว่ามีผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตของตนเองที่เหมาะสมจะเข้าไปเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 39.95 ระบุว่าไม่มี ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 11.45 ไม่แน่ใจ
ในด้านความกังวลต่อการจัดตั้งรัฐบาลและความวุ่นวายทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 54.86 ระบุว่าตนเองไม่กังวลว่าหากผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 ไม่ใช่ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ/การสนับสนุนจากพรรคการเมืองที่ได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุดจะทำให้รัฐบาลประสบปัญหาการบริหารงาน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 62.36 ระบุว่าตนเองไม่กังวลว่าหากผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 ไม่ใช่ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ/การสนับสนุนจากพรรคการเมืองที่ได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุดจะนำไปสู่ความขัดแย้งวุ่นวายทางการเมือง
ในด้านความคิดเห็นต่อการดำเนินการตามนโยบายที่หาเสียงไว้ของพรรคการเมืองนั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 70.43 ไม่เชื่อว่าพรรคการเมืองที่ได้จัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 จะดำเนินการตามนโยบายที่หาเสียงไว้ทั้งหมด
สำหรับปัญหาที่กลุ่มตัวอย่างอยากให้รัฐบาลที่จัดตั้งหลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 ให้ความสำคัญมากที่สุด 5 อันดับได้แก่ ปัญหาค่าครองชีพ/สินค้าอุปโภค-บริโภคราคาแพงคิดเป็นร้อยละ 87.07 ปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินคิดเป็นร้อยละ 84.93 ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น/เรียกรับสินบนคิดเป็นร้อยละ 83.86 ปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำคิดเป็นร้อยละ 82.13 และปัญหายาเสพย์ติด/อบายมุข/การพนันคิดเป็นร้อยละ 80.23
ส่วนความคิดเห็นต่อระยะเวลาการบริหารงานของรัฐบาลที่จัดตั้งหลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 นั้น กลุ่มตัวอย่างประมาณหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 33.69 มีความคิดเห็นว่ารัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นหลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 จะอยู่บริหารประเทศได้ประมาณ 2 ปี รองลงมามีความคิดเห็นว่าจะอยู่บริหารประเทศได้ประมาณ1 ปี และ น้อยกว่า 1 ปี ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 26.11 และร้อยละ 23.15 ตามลำดับ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 9.31 มีความคิดเห็นว่าจะอยู่บริหารประเทศได้ประมาณ 3 ปี โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 7.74 เชื่อว่าจะอยู่บริหารงานได้ครบวาระ 4 ปี
สำหรับพรรคการเมืองที่ตั้งใจจะเลือกและผู้ที่อยากให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 นั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 32.54 ตั้งใจจะเลือกผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเพื่อไทย รองลงมาตั้งใจจะเลือกผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐคิดเป็นร้อยละ 26.61 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 15.73 ตั้งใจจะเลือกผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 8.57 และร้อยละ 6.01 ตั้งใจจะเลือกผู้สมัครจากพรรคภูมิใจไทยและพรรคอนาคตใหม่ตามลำดับ โดยที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 10.54 ตั้งใจจะเลือกผู้สมัครจากพรรคอื่นๆ อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 25.62 อยากให้พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 รองลงมาอยากให้นายชัชชาติ สิทธิ์พันธุ์คิดเป็นร้อยละ 23.06 ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 15.57 และร้อยละ 15.16 อยากให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 7.66 อยากให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจเป็น โดยที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 12.93 อยากให้บุคคลอื่นๆ เป็น
หมายเหตุ : 1.หากต้องการใช้ตัวย่อสำหรับ "วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม" ขอความกรุณาท่านสื่อมวลชนใช้คำว่า วทส. หรือ STC (สอนระดับปริญญาตรี-โท-เอก) ถ้าย่อคำว่า Siamtech (สยามเทค) (สอนระดับปวช.ปวส.) เป็นคนละสถาบันการศึกษา และ 2.วิทยาลัยเทคโนโลยีสยามเป็นคนละสถาบันกันกับมหาวิทยาลัยสยาม
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit