จับตาเมืองสระบุรีหลังมีรถไฟฟ้าความเร็วสูง วางแผนกระตุ้นเศรษฐกิจร่วมกันระหว่างรัฐ เอกชน พร้อมดึงงานวิจัยพัฒนาเป็นเมืองไมซ์อัจฉริยะ เผย 21 มกราคมนี้ จะเกิดปรากฏการณ์พลิก "ถนนสุดบรรทัด" ครั้งใหญ่ให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจฐานรากแห่งใหม่
นายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย และหัวหน้าโครงการวิจัยการพัฒนากลไกการพัฒนาเมืองอย่างชาญฉลาดเพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคม หรือ SG-ABC ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า หลังจากกรมทางหลวงเปิดให้บริการมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมาและการรถไฟเปิดให้บริการสถานีรถไฟความเร็วสูงแล้ว สระบุรีจะมีประชากรชั่วคราวจากกลุ่มผู้เดินทางเข้าพำนักมากกว่าวันละ 3 พันคน และประชากรชั่วคราวที่เป็นนักท่องเที่ยวและผู้เข้าประชุมอีกไม่น้อยกว่าวันละ 7 พันคน หรือรวมกันไม่น้อยกว่า 1 หมื่นคนต่อวัน ซึ่งประชากรดังกล่าวนี้จะช่วยเพิ่มมูลค่าการใช้จ่ายเฉลี่ยที่ 500 ล้านบาทต่อเดือน เมื่อรวมกับการเติบโตของธุรกิจบริการที่รองรับการเดินทาง ท่องเที่ยว ประชุม การค้าปลีก การนันทนาการ และการบริการที่เกี่ยวเนื่อง จะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์จังหวัด (GPP) สูงขึ้นไม่น้อยกว่า 1 เท่าตัวในปี 2570
เพื่อให้การขับเคลื่อนการพัฒนาเป็นไปตามเป้า สมาคมฯ ในฐานะฝ่ายเลขานุการโครงการ SG -ABC จะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาในการออกแบบปรับปรุงฟื้นฟูเศรษฐกิจตามแนวทาง "สระบุรีเมืองไมซ์อัจฉริยะ" โดยกำหนดขั้นตอนการดำเนินงานร่วมกับจังหวัดสระบุรี เทศบาลเมืองสระบุรี หอการค้าจังหวัดสระบุรี และภาคส่วนต่างๆ ดังนี้
1. จัดงานทดสอบสถานการณ์จำลองเพื่อการปรับปรุงฟื้นฟูศูนย์เศรษฐกิจไมซ์ถนนสุดบรรทัด (มอมอ Saraburi more/Saraburi Tactical Urbanism#1) ในวันที่ 21 มกราคม 2562 บริเวณหน้าสถานีขนส่งสระบุรี โดยเทศบาลเมืองสระบุรีรับผิดชอบการปรับปรุงกายภาพถนนและทางเดินด้านหน้าสถานีขนส่งให้เป็นจุดหมายตาและจุดรวมกิจกรรมสร้างสรรค์เศรษฐกิจในฐานะศูนย์กลางของพื้นที่ร่วมกับสมาคมการผังเมืองไทยและบริษัท สระบุรีพัฒนาเมือง จำกัด โดยงานดังกล่าวนี้ จะมีเวทีเสวนาริมถนนหรือ Saraburi Street Talk#1 เพื่อนำเสนอแนวทางในการกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและการฟื้นฟูศูนย์เศรษฐกิจไมซ์ถนนสุดบรรทัด โดยมีท่านประธานกรรมาธิการบริหารราชการแผ่นดิน สภานิติบัญญัติแห่งชาติเข้าร่วมด้วย
2.จัดการประชุมร่วมเครือข่ายสระบุรีไมช์เมืองอัจฉริยะในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เพื่อสรุปแผนแม่บทการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สระบุรีไมซ์เมืองอัจฉริยะ โดยกำหนดเป้าหมายการลงทุนในธุรกิจหลักประเภทศูนย์การประชุมและนิทรรศการ โรงแรม ธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับรองรับผู้ประชุม นักท่องเที่ยว และผู้เยี่ยมเยือนประเภทต่างๆ ได้แก่ กลุ่มท่องเที่ยวเกษตรนิเวศพื้นที่อำเภอเสาไห้ กลุ่มท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมพื้นที่อำเภอแก่งคอย การท่องเที่ยวชุมชนและวิถีชีวิตอำเภอเมือง และการท่องเที่ยวทางธรรมชาติอำเภอมวกเหล็ก พร้อมทั้งจัดทำแผนรณรงค์เร่งรัดการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ -นครราชสีมา และการนำเสนอให้ศึกษาออกแบบท่าอากาศยานนานาชาติสระบุรีในปี 2575 รองรับการเดินทางทางอากาศที่ล้นมาจากท่าอากาศยานดอนเมือง
3. การออกแบบปรับปรุงฟื้นฟูศูนย์เศรษฐกิจไมช์ถนนสุดบรรทัดให้เป็นศูนย์การพัฒนาพิเศษไมซ์ หรือ MICE Special Districts-MSD โดยโครงการ SG-ABC จะออกแบบปรับปรุงพื้นที่ด้านหน้าและชั้นสองของสถานีขนส่งสระบุรีเป็นโคเวร์คกิ้งสเปซ พื้นที่ 500 ตารางเมตร ทั้งนี้ บริษัท สระบุรีพัฒนาเมือง จำกัดจะใช้งบประมาณ 10 ล้านบาทในการลงทุนปรับปรุงและบริหารสถานที่ โดยจะใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นศูนย์ข้อมูลอัจริยะของจังหวัดเพื่อสนับสนุนการลงทุนทางเศรษฐกิจ นอกจากนั้น เทศบาลเมืองสระบุรีจะใช้งบประมาณ 20 ล้านบาทในการปรับปรุงกายภาพถนนสุดยรรทัด โดยเฉพาะทางเท้าและทางแยกตามแนวทางถนนสมบูรณ์หรือ Complete Streets เพื่อให้เป็นพื้นที่อัจฉริยะรองรับการลงทุนและการเป็นศูนย์กลางไมซ์
4. บริษัท สระบุรีพัฒนาเมือง จำกัดจะร่วมกับเครือข่ายขนส่งมวลชนและสำนักงานขนส่งจังหวัดเปิดทดลองให้บริการ Smart Bus สายแรกในเดือนเมษายน 2562 และพฤศจิกายน 2562 เปิดบริการสายที่สอง ซึ่งจะเป็นโครงข่ายขนส่งมวลชนรองเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างศูนย์เศรษฐกิจใหม่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูงสระบุรีกับศูนย์เศรษฐกิจไมช์ถนนสุดบรรทัดหรือ MSD ตามแผนปฏิบัติดังกล่าว จะทำให้ปี 2670 สระบุรีจะเป็นเมืองไมซ์อัจฉริยะที่มีความสมบูรณ์
ด้านนายนพดล ธรรมวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท สระบุรีพัฒนาเมือง เปิดเผยถึง ผลการประชุมร่วมระหว่างเทศบาลเมืองสระบุรี นำโดยนายกเทศมนตรีเมืองสระบุรี บริษัท สระบุรีพัฒนาเมือง จำกัด ซึ่งมีหอการค้าจังหวัดสระบุรี โดยเลขาธิการหอการค้า ขนส่งจังหวัดสระบุรี และสมาคมการผังเมืองไทยเข้าร่วมประชุม ล่าสุดประชุมเห็นตรงกันในการใช้แนวคิด "สระบุรีเมืองไมซ์อัจฉริยะ" หรือ Saraburi MICE & Smart City โดยใช้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการประชุมและนิทรรศการได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยงทางธรรมชาติ การท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม การท่องเที่ยววิถีชุมชนและการเกษตร การท่องเที่ยวเชิงเกษตรอาหาร พร้อมด้วยธุรกิจโรงแรมที่พัก การค้าปลีก และการนันทนาการกลางคืนเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อน ซึ่งเร็วๆ นี้จะมีการสร้างศูนย์การประชุมบริเวณใกล้ศาลากลางแห่งใหม่และอำเภอมวกเหล็ก สามารถรองรับผู้ประชุมได้ไม่น้อยกว่า 3 หมื่นคน เมื่อรวมกับการเติบโตของภาคการค้าปลีกและการบริโภคที่รองรับการเปิดบริการของรถไฟความเร็วสูงสระบุรีและการเชื่อมโยงโครงข่ายมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา พร้อมด้วยการเปิดบริการระบบขนส่งมวลชนรองเมืองสระบุรีหรือ Saraburi City Bus จำนวน 2 เส้นทาง จะทำให้ผลิตภัณฑ์จังหวัดสระบุรีเติบโตในปี 2670 ไม้น้อยกว่า 1 เท่าตัวอย่างแน่นอน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit