ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีสถิติอุบัติเหตุทางถนนสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยจากสถิติของกรมทางหลวงระบุว่าในช่วง 6 เดือนแรกของปี พ.ศ. 2561 (มกราคม – มิถุนายน) มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบนทางหลวงทั่วประเทศทั้งหมด 8,839 ครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1,449 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งสิ้น 8,141 คน
เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี พ.ศ. 2560 พบว่า จำนวนอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 ทั้งนี้ สถิติดังกล่าวยังไม่รวมอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนถนนสายรองและบนถนนที่นอกเหนือเขตความรับผิดชอบของกรมทางหลวง
ขณะเดียวกันรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามกำหนดมาตรการต่างๆออกมาบังคับใช้เพื่อช่วยลดจำนวนอุบัติเหตุและลดความสูญเสียทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุทางถนน โดยมาตรการล่าสุด คือ การเสนอให้เพิ่มบทลงโทษเกี่ยวกับใบอนุญาตขับขี่ยานพาหนะทั้งการไม่มีใบอนุญาตขับขี่และการไม่พกใบอนุญาตขณะขับขี่ ซึ่งกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคมกันอย่างกว้างขวาง โดยผู้คนในสังคมมีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมาก คือ การกำหนดอัตราค่าปรับซึ่งผู้คนในหลายภาคส่วนมีความคิดเห็นว่าเป็นอัตราที่ค่อนข้างสูงมาก ขณะที่ผู้คนอีกจำนวนหนึ่งเสนอแนวคิดให้ควรมีการเพิ่มบทลงโทษเกี่ยวกับการทำผิดกฎจราจรขณะขับขี่และเพิ่มความเข้มงวดเกี่ยวกับการขอใบอนุญาตขับขี่แทน จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อการเพิ่มบทลงโทษเกี่ยวกับใบอนุญาตขับขี่กับการลดอุบัติเหตุบนท้องถนน
จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด อายุ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.35 และเพศชายร้อยละ 49.65 สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านความคิดเห็นต่อการเพิ่มบทลงโทษในกรณีที่ผู้ขับขี่ยานพาหนะไม่มีใบอนุญาตหรือไม่พกใบอนุญาตนั้น กลุ่มตัวอย่างเกือบสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 74.53 เห็นด้วยกับการเพิ่มบทลงโทษในกรณีที่ผู้ขับขี่ยานพาหนะไม่มีใบอนุญาต/ไม่พกใบอนุญาตขณะขับขี่ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 18.48 ไม่เห็นด้วย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 6.99 ไม่แน่ใจ
อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 59.24 มีความคิดเห็นว่าการกำหนดค่าปรับสำหรับผู้ขับขี่ยานพาหนะที่ไม่มีใบอนุญาตให้ถูกปรับไม่เกิน 50,000 บาท และถูกปรับไม่เกิน 10,000 บาทสำหรับผู้ที่ไม่พกใบอนุญาตขณะขับขี่ยานพาหนะนั้นสูงเกินไป ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 31.52 มีความคิดเห็นว่าไม่สูงเกินไป ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 9.24 ไม่แน่ใจ
สำหรับความกังวลต่อหากมีการเพิ่มบทลงโทษในกรณีที่ผู้ขับขี่ยานพาหนะไม่มีใบอนุญาตหรือไม่พกใบอนุญาต กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 73.06 กังวลว่าหากมีการเพิ่มบทลงโทษในกรณีที่ผู้ขับขี่ยานพาหนะไม่มีใบอนุญาต/ไม่พกใบอนุญาตขณะขับขี่จะกลายเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรีดไถ/เรียกรับเงินจากผู้ขับขี่ยานพาหนะโดยไม่มีการออกใบสั่ง/จับกุมตามกฎหมายได้มากขึ้น
ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 72.45 เชื่อว่าหากมีการเพิ่มบทลงโทษในกรณีที่ผู้ขับขี่ยานพาหนะไม่มีใบอนุญาต/ไม่พกใบอนุญาตขณะขับขี่จะทำให้มีผู้ขับขี่ยานพาหนะติดสินบน/ชำระค่าปรับโดยไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจออกใบสั่ง/จับกุมตามกฎหมายมากขึ้น นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 51.12 มีความคิดเห็นว่าหากมีการเพิ่มบทลงโทษในกรณีที่ผู้ขับขี่ยานพาหนะไม่มีใบอนุญาต/ไม่พกใบอนุญาตขณะขับขี่จะไม่มีส่วนช่วยลดจำนวนผู้ขับขี่ยานพาหนะบนท้องถนนที่ไม่มีใบอนุญาตลงได้จริง
ในด้านความคิดเห็นต่อการเพิ่มบทลงโทษเกี่ยวกับใบอนุญาตขับขี่ยานพาหนะกับการลดจำนวนอุบัติเหตุบนท้องถนน กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 54.06 เชื่อการเพิ่มบทลงโทษในกรณีที่ผู้ขับขี่ยานพาหนะไม่มีใบอนุญาต/ไม่พกใบอนุญาตขณะขับขี่ให้สูงขึ้นจะช่วยลดจำนวนอุบัติเหตุบนท้องถนนได้บางส่วน โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 8.03 เชื่อว่าช่วยลดจำนวนได้มาก ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 37.91 ไม่เชื่อว่าลดจำนวนอุบัติเหตุได้เลย
เมื่อเปรียบเทียบวิธีการช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนระหว่างการเพิ่มบทลงโทษเกี่ยวกับใบอนุญาตขับขี่ยานพาหนะกับการเพิ่มความเข้มงวดรัดกุมในการขอใบอนุญาตขับขี่ยานพาหนะ กลุ่มตัวอย่างประมาณครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 50.86 ระบุว่าการเพิ่มความเข้มงวดรัดกุมในการขอใบอนุญาตขับขี่ยานพาหนะเป็นวิธีการที่มีส่วนช่วยได้มากกว่า ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 38.17 ระบุว่าต้องใช้ทั้งสองวิธีควบคู่กัน โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 10.97 ระบุว่าการเพิ่มบทลงโทษเกี่ยวกับใบอนุญาตขับขี่ยานพาหนะเป็นวิธีที่มีส่วนช่วยได้มากกว่า
และเมื่อเปรียบเทียบวิธีการช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนระหว่างการเพิ่มบทลงโทษเกี่ยวกับการขับยานพาหนะผิดกฎจราจร เช่น ขับย้อนศร ขับบนบาทวิถี แซงในที่คับขัน ใช้ความเร็วเกินกำหนด เป็นต้น กับการเพิ่มบทลงโทษเกี่ยวกับใบอนุญาตขับขี่ยานพาหนะ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 60.1 ระบุว่าการเพิ่มบทลงโทษเกี่ยวกับการขับยานพาหนะผิดกฎจราจร เช่น ขับย้อนศร ขับบนบาทวิถี แซงในที่คับขัน ใช้ความเร็วเกินกำหนด เป็นต้น เป็นวิธีการที่มีส่วนช่วยได้มากกว่า ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 30.22 ระบุว่าใช้ทั้งสองวิธีควบคู่กัน โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 9.67 ระบุว่าการเพิ่มบทลงโทษเกี่ยวกับใบอนุญาตขับขี่ยานพาหนะเป็นวิธีการที่มีส่วนช่วยได้มากกว่า ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าว (อ่านข่าวเพิ่มเติม : https://bit.ly/2C7YgBc)
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit