ปิดตำนานหลังคาแดง "หมดยุค รพ.บ้า คนเสียจริต" ปฏิวัติวงการจิตเวช คืนความเป็นมนุษย์ให้ผู้ป่วย

23 Jul 2018
สมัยก่อน หากมีพี่น้อง ลูกหลาน เพื่อนฝูงป่วยเป็นโรคจิตเวช บางบ้านถึงกับรังเกียจ ส่งตัวไปรักษาตามโรงพยาบาลบ้า หรือ มีคำที่ใช้พูดติดปากกันว่า "หลังคาแดง"
ปิดตำนานหลังคาแดง "หมดยุค รพ.บ้า คนเสียจริต" ปฏิวัติวงการจิตเวช คืนความเป็นมนุษย์ให้ผู้ป่วย

ทั้งนี้ คำว่า หลังคาแดงมาจากในยุคโบราณเชื่อกันว่า การเจ็บป่วยทางจิตเกิดจากการกระทำของอำนาจเหนือธรรมชาติ อาทิ ผีสางเทวดา จนบางภูมิภาคเรียกผู้ป่วยทางจิตว่า ผีบ้า เพราะเชื่อว่าผีเข้าสิงทำให้เกิดอาการเป็นบ้า ดังนั้น ทำให้ผู้ป่วยถูกนำตัวไปรักษาตามวัด หรือรับการเสกเป่าจากพ่อมดหมอผีต่างๆ แทนที่จะนำตัวไปรับการรักษาพยาบาล

โรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยทางจิตในประเทศไทย เริ่มมีขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 อันเป็นยุคเดียวกับการจัดตั้งโรงพยาบาลอื่นๆ สถานที่เดิมของโรงพยาบาลผู้ป่วยโรคจิตตั้งอยู่ปากคลองสานฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นเรือนเก่าพระยาภักดีภัทรากร มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า "โรงพยาบาลคนเสียจริต" เปิดดำเนินการ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2432

ในยุคแรกนั้นไม่มีความมุ่งหมายอื่น นอกจากจะนำคนเสียจริตมาฝากขัง การดูแลจึงมีแต่ขังไว้ ในบางครั้งก็มีการรักษาบ้าง เป็นประเภทยาต้ม ยาหม้อ ยาระบาย ทำให้ผู้ป่วยง่วงซึม ที่วุ่นวายนักก็เป่าด้วยยาสลบ ถ้าไม่ทุเลาลงก็ถึงขั้นทรมานทุบหนักๆ หรือไม่ก็ให้อดอาหาร บางทีก็ถึงขั้นกอกเลือด ซึ่งหมายถึง การดูดเลือดออกโดยใช้เขาควาย หรือไม่ก็ใช้ปลิงดูด มีเวทมนตร์คาถาบ้างตามความรู้ของแพทย์สมัยนั้น

จนกระทั่งปี 2445 รัฐบาลต้องการพัฒนาการแพทย์ด้านการรักษาผู้ป่วยโรคจิต จึงอนุญาตให้สร้างโรงพยาบาลคนเสียจริตขึ้นใหม่ ซึ่งก็คือ โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ในทุกวันนี้

โรงพยาบาลแห่งใหม่นี้มีลักษณะ เป็นโรงพยาบาลแบบตะวันตก เปลี่ยนแปลงวิธีการดูแลจากการคุมขัง และการรักษาแผนโบราณมาเป็นการรักษาแบบแพทย์แผนปัจจุบันมีการเลี้ยงดูอาหาร การหลับนอนต่างๆ ให้บริบูรณ์ขึ้น เลิกการล่ามโซ่อย่างแต่ก่อน และพยายามให้เป็นรูปแบบโรงพยาบาลจริงๆ

สำหรับ โรงพยาบาลคนเสียจริตแห่งใหม่นี้ อยู่ในความดูแลของนายแพทย์ชาวอังกฤษ งานชิ้นสำคัญนอกจากการวางผังป่าอันสวยงามร่มรื่น โดยถือหลักว่า ป่าเป็นเครื่องหมายของการระบายทุกข์ และความสงบแห่งจิตแล้ว

ท่านยังเป็นผู้ที่ทำให้เกิดศัพท์แสลงว่า "หลังคาแดง" อันลือลั่นจากการไปเหมาซื้อสีแดงค้างสต็อกราคาถูกคุณภาพดีมาผสมน้ำมัน แล้วทาหลังคาอาคารสังกะสีทุกหลังเพื่อป้องกันสนิมทำให้หลังคาโรงพยาบาลจึงเป็นสีแดงเพลิงสะดุดตาคนทั่วไป เป็นที่มาของสมญา "หลังคาแดง" ที่เรียกกันติดปากมาจนปัจจุบันนั้นเอง

อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้สังคมไทยเข้าใจผู้ป่วยจิตเวชมากขึ้น ประเทศไทยของเรามีโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยทางจิตอยู่หลายแห่ง.. ซึ่งก็มีวิวัฒนาการ และการเปลี่ยนแปลงของชื่อเรียกขาน เช่น โรงพยาบาลโรคจิตธนบุรี เปลี่ยนเป็น โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา โรงพยาบาลโรคจิตภาคกลาง [ นนทบุรี ] เปลี่ยนเป็น โรงพยาบาลศรีธัญญา

โรงพยาบาลโรคจิตภาคใต้ เปลี่ยนเป็น โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ โรงพยาบาลโรคจิตภาคเหนือ เปลี่ยนเป็น โรงพยาบาลสวนปรุง โรงพยาบาลโรคจิตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปลี่ยนเป็น โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์

ผู้สื่อข่าว www.medhubnews.com เว็บไซต์สุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยว วาไรตี้ ของคนรุ่นใหม่ และ เพจ sasook รายงานว่า นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต นับเป็น อธิบดีกรมสุขภาพจิตคนแรก เข้ามาทำงานด้านจิตเวชอย่างทุ่มเท จนเกิดการเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ

ทั้งนี้ ประวัติศาสตร์ต้องจารึกว่า ในปี 2559 - 2561 เกิดการ "ปฏิวัติวงการจิตเวชเมืองไทย" คืนความเป็นมนุษย์ให้กับผู้ป่วยจิตเวช เป็นครั้งสำคัญต่อจาก ปี 2445 ที่รัฐบาลให้สร้าง "โรงพยาบาลคนเสียจริต" ขึ้นใหม่ของเมืองไทย และเรียกว่า "โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา"

และเป็นอีกครั้งสำหรับการพลิกโฉมใหม่ของ รพ.ศรีธัญญา ถ.ติวานนท์ จ.นนทบุรี ซึ่ง รพ.ศรีธัญญา นั้นต้องบอกว่าเป็นโรงพยาบาลจิตเวชที่สำคัญที่สุดของเมืองไทย

รวมทั้งภาพพจน์เดิมๆ ชื่อเดิมๆ คำว่า "ศรีธัญญา" ยังถูกมองแบบมีอคติ และงานที่สำคัญเนื่องในงานระลึกถึงศาสตราจารย์นายแพทย์หลวงวิเชียรแพทยาคม ครบ 120 ปี และครบรอบ 77 ปี ของการเปิดบริการของรพ.ศรีธัญญา ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2484 เป็นต้นมา

ปีนี้กรมสุขภาพจิต มีนโยบายปรับโฉมงานบริการผู้ป่วยจิตเวชและผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งมีประมาณ 7 ล้านคนทั่วประเทศ ให้ได้รับบริการดูแลรักษาอย่างสมเกียรติและครบวงจร คือการรักษาด้วยยา หรือรักษาด้วยไฟฟ้าและมีสหวิชาชีพฟื้นฟูคืนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้ป่วยทั้งร่างกาย จิตใจ สังคมและวิญญาณอย่างมืออาชีพ

จนกว่าอาการจะหายขาดหรือทุเลาขึ้น ผู้ป่วยกลับคืนสู่ครอบครัวอย่างคนปกติ และใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนอย่างมีความสุข สมศักดิ์ศรี โดยให้รพ.จิตเวชทั่วประเทศ 20 แห่ง จัดสิ่งแวดล้อมบริการอย่างเป็นมิตร

บรรยากาศอบอุ่นคล้ายอยู่บ้าน ไม่น่ากลัว เพื่อให้ผู้ใช้บริการรู้สึกผ่อนคลาย เอื้อต่อการหายป่วย และใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในยุค 4.0 มาเพิ่มคุณภาพบริการรวดเร็วขึ้น

ประชาชนที่มีปัญหาทุกคนสามารถเดินเข้าไปใช้บริการได้อย่างสง่าผ่าเผย ซึ่งการพัฒนาที่รพ.ศรีธัญญา ซึ่งเป็นรพ.จิตเวชที่ใหญ่ที่สุด นับว่าก้าวหน้ามาก ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการบริการของรพ.จิตเวชยุคใหม่ เป็นต้นแบบระดับประเทศ ทั้งสถานที่บริการ ระบบบริการ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆที่ทันสมัย

จากการสอบถามผู้ใช้บริการในวันนี้พบว่าประทับใจมาก รู้สึกสบายใจ และอบอุ่น ซึ่งกรมฯ ตั้งเป้าให้ประชาชนได้รับบริการมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ

ส่วน นายแพทย์ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ ผู้อำนวยการรพ.ศรีธัญญา ระบุว่า การปรับโฉมบริการในปี 2561 เน้นเพื่อส่งเสริมการหายป่วยทางใจ ดึงดูดใจให้ประชาชนอยากมาใช้บริการแม้จะไม่ได้ป่วยก็ได้เช่นกัน ดำเนินการ 4 จุดใหญ่ คือ แผนกผู้ป่วยนอก ห้องจ่ายยา หอผู้ป่วยในทั้งสามัญและวีไอพี และ การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วย

โดยที่แผนกผู้ป่วยนอกซึ่งเป็นบริการด่านหน้าที่จะสร้างความประทับใจ ความไว้วางใจ มีผู้ป่วยใช้บริการวันละ 700 คน ได้ลดขั้นตอนบริการ ผู้ป่วยรายใหม่พบแพทย์ตรวจรักษาใน 20 นาที

หากเป็นรายเก่าเพียง 5 นาที เปลี่ยนวิธีการคัดกรองประวัติอาการป่วยโดยให้ผู้ป่วยบอกอาการตัวเองว่าเป็นอย่างไร เพื่อให้ผู้ป่วยกล้าเปิดตัวเอง ลดความหวาดระแวง และใช้ระบบคิวออนไลน์เรียกแทนชื่อผู้ป่วย

ผู้ป่วยสามารถรับยากลับบ้านภายใน 100 นาที ตั้งเป้าจะให้เหลือเพียง 45 นาที จัดมุมผ่อนคลายระหว่างรอรับบริการ เช่นเอกสารความรู้สุขภาพจิตเพื่อเพิ่มพลังใจ มีน้ำดื่มสมุนไพรบริการฟรี ให้ข้อมูลบริการของ รพ.ทางระบบสัมผัสอัตโนมัติ 4 จุด มีระบบ wifi ฟรี

ส่วนหอผู้ป่วยในได้เปลี่ยนชุดผู้ป่วยให้เป็นสีเดียวกับเจ้าหน้าที่ เช่นสีเขียวอ่อน สีชมพู สีฟ้า เพื่อสร้างความรู้สึกให้กลมกลืนกัน ให้ผลดีต่อสุขภาพจิต

ขณะนี้ได้นำระบบจ่ายยาที่ใช้ในรพ.ทั้งหมด 705 รายการด้วยหุ่นยนต์ ป้องกันความผิดพลาดได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เริ่มใช้ที่หอผู้ป่วยในที่มีวันละ 750 คนทั้งหมด 23 ตึก ใช้เวลาจ่ายเพียง 3 ชั่วโมง ลดจากเดิมที่ใช้คนจัดยาถึง 23 คน ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการที่แผนกผู้ป่วยนอก คาดว่าจะเริ่มจ่ายได้ปลายเดือนหน้า ผู้ป่วยจะได้รับยากลับบ้านภายใน 5 นาที

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก และ นอกจากจะปรับโฉมการให้บริการเรื่องความสวยงามของอาคารแล้ว ทางบุคลากรก็ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองให้ทันต่อยุคสมัยด้วย โดยเฉพาะระบบ Onestop Service ที่จะทำให้ผู้ป่วยจิตเวชรู้สึกดีขึ้นอย่างเต็มร้อย หากไม่มีขั้นตอนมากมาย ทั้ง ยื่นบัตร - รอคัดกรองเคาเตอร์เบอร์ 1 , 2 - ผู้ป่วยวัดความดันเอง - รอตรวจหน้าห้องหมอ - ตรวจเสร็จรอใบสั่งยาจากพยาบาล - แพทย์ไม่ตรวจคนไข้ของผู้ป่วยท่านอื่น - รอใบสั่งยาไปจ่ายเงิน - ยื่นจ่ายเงินห้องการเงิน - รอรับยาห้องเภสัชกรรม

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ จะไม่เกิดขึ้นในยุค นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต อย่างเด็ดขาด!

ปิดตำนานหลังคาแดง "หมดยุค รพ.บ้า คนเสียจริต" ปฏิวัติวงการจิตเวช คืนความเป็นมนุษย์ให้ผู้ป่วย