ประเด็นเกี่ยวกับการศึกษาประเด็นหนึ่งที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ถกเถียงกันในสังคมไทยคือการจัดสอบเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่หนึ่ง ซึ่งในปัจจุบันมีโรงเรียนหลายแห่งที่ยังคงใช้วิธีการจัดสอบแข่งขันเพื่อคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนในชั้นประถมศึกษาปีที่หนึ่ง ทั้งนี้ วัตถุประสงค์หลักในการจัดสอบคัดเลือกคือการคัดกรองนักเรียนที่มีความพร้อมมากที่สุดเข้ามาเรียน อีกทั้งยังเป็นการคัดเลือกนักเรียนที่มีทักษะการเรียนรู้และมีความรู้ความสามารถใกล้เคียงกันเข้ามาเรียนด้วยกัน ซึ่งผู้คนในสังคมส่วนหนึ่งก็เห็นด้วยกับการจัดสอบคัดเลือก
อย่างไรก็ตาม ผู้คนในสังคมอีกส่วนหนึ่งไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองตลอดจนนักวิชาการด้านการศึกษาและนักวิชาการเกี่ยวกับเด็กได้ออกมาเรียกร้องให้มีการยกเลิกการจัดสอบคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่หนึ่ง เพราะนอกจากจะเป็นการทำให้เด็กเกิดความเครียดจากการเตรียมตัวสอบทั้งการอ่านหนังสือและการเรียนพิเศษเพิ่มมากขึ้นจนอาจทำให้เด็กไม่มีเวลาทำกิจกรรมอื่นๆ ที่เหมาะสมกับวัย ซึ่งจะส่งผลเสียกับพัฒนาการด้านต่างๆรวมถึงผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ
การจัดสอบคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่หนึ่งยังเป็นช่องทางให้โรงเรียนสามารถเรียกรับเงินแปะเจี๊ยะจากผู้ปกครองได้ และทำให้โรงเรียนอาจรับเด็กที่ไม่มีความพร้อมหรือไม่มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้ามาเรียนแทนที่จะได้นักเรียนที่มีคุณสมบัติและความพร้อมมากกว่า ซึ่งจะส่งผลกระทบกับคุณภาพมาตรฐานการศึกษาของประเทศในอนาคตได้ จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของพ่อแม่ผู้ปกครองต่อแนวคิดการยกเลิกการสอบเข้าเรียนต่อในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่หนึ่ง ซึ่งได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 23 ถึง 27 กันยายน พ.ศ. 2561
จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดซึ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 51.92 และเพศชายร้อยละ 48.08 สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านความคิดเห็นต่อการจัดให้มีการสอบคัดเลือกเข้าเรียนต่อในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่หนึ่ง กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 67.92 มีความคิดเห็นว่าการจัดให้มีการสอบคัดเลือกเข้าเรียนต่อในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่หนึ่งจะมีส่วนทำให้เด็กต้องใช้เวลาเรียนพิเศษมากเกินจำเป็น ขณะที่กลุ่มตัวอย่างประมาณสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 66.54 มีความคิดเห็นว่าการจัดให้มีการสอบคัดเลือกเข้าเรียนต่อในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่หนึ่งจะส่งผลให้เด็กเกิดความเครียดมากเกินไป ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 70.48 มีความคิดเห็นว่าการจัดให้มีการสอบคัดเลือกเข้าเรียนต่อในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่หนึ่งจะส่งผลให้พ่อแม่ผู้ปกครองเกิดความกังวล/ความเครียดเกี่ยวกับสถานที่เรียนของบุตรหลานได้มากกว่าการไม่จัดให้มีการสอบเข้าในด้านความคิดเห็นต่อการยกเลิกการจัดสอบเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่หนึ่ง กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 61.52 มีความคิดเห็นว่าหากมีการยกเลิกการจัดสอบเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่หนึ่งจะมีส่วนช่วยให้เด็กมีการพัฒนาทักษะทางความคิดได้ดีขึ้นกว่าการจัดให้มีการสอบเข้า
ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 59.87 มีความคิดเห็นว่าหากมีการยกเลิกการจัดสอบเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่หนึ่งจะมีส่วนช่วยให้เด็กมีเวลาอยู่กับพ่อแม่ผู้ปกครองได้มากขึ้น ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 56.49 มีความคิดเห็นว่าหากมีการยกเลิกการจัดสอบเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่หนึ่งจะมีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมกัน นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 61.7 ระบุว่าตนเองไม่รู้สึกกังวลหากมีการยกเลิกการจัดสอบเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่หนึ่งจะส่งผลทำให้คุณภาพมาตรฐานทางการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาลดลงไป
อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 52.1 มีความคิดเห็นว่าหากมีการยกเลิกการจัดสอบเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่หนึ่งจะส่งผลให้โรงเรียนสามารถรับเด็กนักเรียนที่มีคุณสมบัติและมีความพร้อมเพียงพอได้อย่างมีประสิทธิภาพน้อยกว่าการจัดให้มีการสอบเข้า ขณะที่กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 53.47 ยอมรับว่าตนเองรู้สึกกังวลหากมีการยกเลิกการจัดสอบเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่หนึ่งจะทำให้โรงเรียนต้องรับนักเรียนที่มีทักษะความรู้ความเข้าใจ/ความพร้อมทางด้านร่างกายและจิตใจที่แตกต่างกันเข้ามาเรียนร่วมกัน และกลุ่มตัวอย่างเกือบสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 74.86 มีความคิดเห็นว่าหากมีการยกเลิกการจัดสอบเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่หนึ่งจะไม่มีส่วนช่วยทำให้ปัญหาการเรียกรับเงินแป๊ะเจี๊ยะในโรงเรียนต่างๆ ลดลงไปได้
สำหรับความคิดเห็นต่อวิธีการคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่หนึ่งนั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 36.56 มีความคิดเห็นว่าโรงเรียนควรใช้วิธีการสอบสัมภาษณ์เพียงอย่างเดียวเพื่อคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนต่อชั้นประถมศึกษาปีที่หนึ่ง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 19.01 มีความคิดเห็นว่าควรใช้วิธีการสอบข้อเขียนเพียงอย่างเดียวเพื่อคัดเลือก ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 10.15 ระบุว่าควรใช้ทั้งการสอบข้อเขียนและสอบสัมภาษณ์ โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 20.93 ระบุว่าควรใช้วิธีการอื่นๆ (พิจารณาพื้นที่อาศัย พิจารณาความพร้อมของเด็กจากชั้นอนุบาล สัมภาษณ์ผู้ปกครอง) และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 13.35 ระบุว่าควรรับเข้าเรียนโดยไม่มีการสอบใดใดเลย (อ่านข่าวต่อ https://bit.ly/2N6uZH5)
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit